'ฝันกลางวัน' พฤติกรรมนี้ มีอะไรดีๆ กว่าแค่การฟุ้ง



เมื่อพูดถึงการฝันกลางวัน แทบปฏิเสธไม่ได้เลยใช่มั้ยว่า...ตัวเราเองก็เคยหลงอยู่ในห้วงเวลาของการฝันกลางวันนี้เหมือนกัน ซึ่งความน่าอัศจรรย์ของภาวะนี้นี่แหละ ที่ทำให้ทั้งนักจิตวิทยาและนักประสาทวิทยาต่างให้ความสนใจที่จะค้นหาคำตอบเกี่ยวกับภาวะนี้ และแม้ว่าจะมีนักวิจัยบางรายวิเคราะห์ว่าเป็นเพียงความฟุ้งซ่าน ไร้สาระ ก็ยังมีนักวิจัยบางกลุ่มที่พบว่า การฝันกลางวันนั้น...ก็มีประโยชน์ต่อมนุษย์ช่างฝันด้วยเหมือนกันนะ

ยิ่งคิดซับซ้อน ยิ่งได้บริหารสมอง
Dr. Muireann Irish นักประสาทวิทยา ได้บอกไว้ว่า การฝันกลางวันเป็นการใช้สมองอย่างหนัก เพราะไม่เพียงคิดถึงเรื่องราวในอดีตหรือ ณ ปัจจุบัน แต่ยังจินตนาการไปถึงอนาคต การใช้พลังความคิดที่ซับซ้อนยิ่งกว่าระบบคอมพิวเตอร์มากขนาดนี้นี่แหละ ที่ช่วยให้เราได้บริหารสมอง...ลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย

ใช้(สมอง)หนัก...แต่ก็ได้พักไปพร้อมๆ กัน
ถ้าใครอ่านแล้วถึงกับทำคิ้วขมวดเป็นปมผูกโบว์ เราอยากจะอธิบายให้ฟังแบบคร่าวๆ ว่า สมองของเรานั้นมีอยู่ 2 ซีก โดยสมองซีกซ้ายจะทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องตรรกะ ภาษา การวิเคราะห์ หรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “สมองแห่งเหตุผล” ในขณะที่สมองซีกขวาจะทำงานเกี่ยวข้องกับดนตรี ภาพ สี และจินตนาการ เพราะฉะนั้น การฝันกลางวัน...ซึ่งเป็นการใช้สมองซีกขวาเป็นหลัก ก็จะช่วยให้สมองซีกซ้ายของเราได้พักบ้างนั่นเอง

ช่วยลดความดัน(โลหิต)ได้
นักวิจัยของศูนย์ต่อต้านความเครียดพบว่า...การฝันกลางวันเป็นการสะกดจิตตัวเองในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีส่วนช่วยลดระดับความเครียด ทำให้ความดันโลหิตลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้จิตแพทย์ของ Menninger Clinic ยังเชื่อว่าการฝันกลางวัน เป็นการช่วยให้เราเตรียมพร้อมสภาพจิตใจเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่นว่า ถ้าคุณกำลังมีแพลนขึ้นเครื่องบินครั้งแรก นี่ก็อาจเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความกังวลตอนคุณขึ้นเครื่องบินจริงๆ ได้

เพิ่มศักยภาพ...เพราะได้พัฒนา IQ
เพราะสมองของเรานั้นมีอยู่ 2 ซีก โดยสมองซีกซ้ายจะทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องตรรกะ ภาษา การวิเคราะห์ นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกว่า “สมองแห่งเหตุผล” ในขณะที่สมองซีกขวาจะทำงานเกี่ยวข้องกับดนตรี ภาพ สี และจินตนาการ ซึ่งการฝันกลางวันจะเป็นการใช้สมองทั้งสองซีกสลับกันไป ช่วยให้เราได้พัฒนา IQ ทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน

เชื่อว่านำไปสู่...ความเป็นอัจฉริยะ
Elizabeth Blackburn นักชีวโมเลกุลเจ้าของรางวัลโนเบล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า...การฝันกลางวัน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เค้าประสบความสำเร็จ เหมือนกับความเชื่อที่ว่ากันว่า ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์เกิดขึ้นในขณะที่เค้ากำลังฝันกลางวันว่าตัวเองกำลังวิ่งไปยังขอบจักรวาล

เรียนรู้การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ไม่น่าเชื่อเลยใช่มั้ยล่ะว่าการฝันกลางวันจะเพิ่มเลเวลความอ่อนโยนให้กับมนุษย์อย่างเราได้ แต่งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยา ระบุไว้ว่า...จากผลสำรวจนักเรียนโรงเรียนมัธยมของอิสราเอล พบว่านักเรียนที่ใช้เวลาไปกับการฝันกลางวันมากกว่า จะมีพฤติกรรมเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากกว่านักเรียนที่ไม่ค่อยได้ใช้เวลาไปกับการฝันกลางวัน

แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีขึ้น
งานวิจัยของมหาวิทยาลัย British Columbia ได้อธิบายถึงผลการศึกษา เมื่อมีการ fMRI หรือการสแกนสมองรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในการตรวจการทำงานของสมองโดยอาศัยความเปลี่ยนแปลงของอัตราการไหลของเลือด พบว่า ในระหว่างการฝันกลางวัน...พื้นที่ของสมองที่ถูกนำมาใช้ในการคิดแก้ปัญหาจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เชื่อได้ว่า...การจดจ่อกับปัญหาอาจไม่ช่วยให้ค้นพบทางออก ในขณะที่การปล่อยความคิดให้เร่ร่อนลื่นไหลไปเรื่อยๆ อาจช่วยให้พบแสงสว่างได้มากกว่า

แม้ว่าการฝันกลางวันจะให้อะไรดีๆ กับสมองของเรา แต่หากจมอยู่กับกลไกความคิดฟุ้งๆ บ่อยเกินไป จนกลายเป็นมนุษย์เสพติดการหลงอยู่ในโลกเพ้อฝัน ก็อาจนำไปสู่ “โรคฝันกลางวัน” หรือ Maladaptive Daydreaming ภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตไม่ต่างกับ “โรคซึมเศร้า” เลยทีเดียว

 
-->