เธอหายขาดจาก ‘ธาลัสซีเมีย’ คนแรกของไทย กับมุมมองต่อความเสี่ยงมะเร็งที่มากกว่า

เห็นความสดใสของผู้หญิงคนนี้แล้ว คงไม่มีใครเชื่อว่าเธอเคยป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือโรคเลือดจางซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่างหนึ่งมาก่อน 

แต่สิ่งที่ทำให้ “วิชาวีร์ เจตะสานนท์” หรือ “เพิท” สาวสดใสวัย 24 ปีคนนี้แตกต่างจากผู้ป่วยคนอื่น คือเธอสามารถ “หายขาดจากธาลัสซีเมียคนแรกของประเทศไทย” เรียกว่ากลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงเกือบ 20 ปีที่แล้วไปเลย ซึ่งนั่นก็ทำให้จุดประกายความหวังให้ผู้ป่วยรายอื่นมากมาย และนี่คือเรื่องราวในปัจจุบันของเธอ

เป็นมาตั้งแต่เกิด...แต่เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติตอน 5 ขวบ
เพิท เล่าให้เราฟังว่าเธอป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่เกิด ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นพาหะทั้งคู่ บวกกับด้วยการแพทย์ในสมัยเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วยังไม่ได้ก้าวหน้าเท่าในปัจจุบัน ทำให้อาจจะยังไม่ได้มีการตรวจคัดกรองโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมก่อนการตั้งครรภ์ ทำให้เธอเป็นเด็กเพียงคนเดียวในบ้านที่ป่วยเป็นโรคนี้ ในขณะที่พี่สาวและน้องสาวไม่ได้ป่วยและก็ไม่ได้เป็นพาหะแต่อย่างใด

"ช่วง 5 ขวบ คุณแม่เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ คือท้องแข็ง ตัวเหลือง เปลือกตาด้านในซีดเหลือง จึงพาเราไปพบแพทย์ จนรู้ว่าป่วยและเริ่มรักษาตั้งแต่ตอนนั้นด้วยการให้เลือด ซึ่งในระยะเวลาไม่ถึงปี เราให้เลือดไปเกือบ 10 ครั้ง"



เปลี่ยนถ่ายไขกระดูก...ความหวังของการรักษา
พอรักษาได้ไม่ถึง 1 ปี หมอก็บอกข่าวดีกับเธอว่ามีวิธีการรักษาอีกหนึ่งทางนั่นก็คือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด โดยผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก และโชคดีที่เซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดจากน้องสาวของเธอ ที่มีอายุเด็กกว่า 2 ปีนั้นสามารถเข้ากันกับเธอได้เป็นอย่างดี คุณพ่อคุณแม่ของเธอจึงตัดสินใจให้เธอเข้ารับการผ่าตัดทันที ซึ่งตอนนั้นเธอเองก็อยู่ในช่วงอนุบาล 3 เท่านั้นเอง "คุณหมอบอกว่าการรักษาวิธีนี้เหมาะกับคนที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน เพราะเมื่อผู้ป่วยได้รับเลือด ส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่ผ่าตัดก็ต้องตัดม้ามทิ้งจากอาการม้ามโต แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หายขาด แถมอายุก็ไม่ยืน ซึ่งการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนั้นหมอบอกว่าแม้จะมีเซลล์ที่ตรงกันก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ ถือว่าเป็นหนึ่งในแสนที่รอดแล้วยังสามารถหายขาดได้อีก"

หลังผ่าตัด...ต้องรักษาเหมือนเด็กแรกเกิด
เธอเล่าว่าในการผ่าตัดจะมีการเจาะท่อ 2 จุดคือที่หน้าอกและไหปลาร้าด้านซ้าย "หลังการผ่าตัดเพิทต้องรักษาตัวเหมือนเด็กแรกเกิด อยู่ในห้องปลอดเชื้อและให้ยาคีโม เวลาพ่อแม่มาเยี่ยมก็ต้องฆ่าเชื้อให้เรียบร้อยก่อน ตอนนั้นโดนเจาะเลือดทุกวัน หมอบอกว่าโดยทั่วไปหลังจากผ่าตัดแล้วต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1 ปี แต่เพิทอยู่แค่ครึ่งปีก็กลับบ้านได้ เพราะอาการดีขึ้นมาก โดยหมอนัดติดตามอาการ 2-3 ปีว่าร่างกายมีความผิดปกติหรือไม่"

ให้คีโมตั้งแต่เด็ก จึงเสี่ยงมะเร็งมากกว่าคนอื่นๆ
ไม่ใช่ว่ารักษาหายแล้ว ก็คือจบ แต่การดูแลตัวเองหลังจากนั้นยิ่งสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในครอบครัว เธอเล่าว่าครอบครัวของเธอจะไม่ทำอาหารที่เสี่ยงมะเร็ง อย่างของปิ้งย่างจะไม่ทำเลยและเลี่ยงของทอดให้มากที่สุด เน้นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหรือป้องกันมะเร็งเช่น แครอท และกินตับเพื่อบำรุงเลือด นอกจากนั้นยังออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ 
“เพิทใช้ชีวิตปกติเหมือนคนอื่นๆ แต่ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน เพราะเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้มากที่สุด มองว่าอาหารและการออกกำลังกายสำคัญที่สุด และพยายามไม่เครียดเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้เหมือนกัน”

“คิดว่าเราโชคดีมากแล้ว ที่หายจากตรงนั้น ตอนนี้จึงยึดคติทำอะไรเต็มที่ ใช้ชีวิตเต็มที่ มีความสุขกับวันนี้ ไม่ห่วงว่าจะเป็นหรือไม่เป็น เพราะเราก็ป้องกันในสิ่งที่เราทำได้ไปแล้ว”



เห็นมั๊ยว่าในเรื่องร้ายๆ ยังมีเรื่องดีอยู่เสมอ และการดูแลตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย 

 
-->