เมื่อการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยฉุดให้อาการซึมเศร้าของเธอดีขึ้น



หลังจากที่ได้ฟังประสบการณ์ของผู้หญิงคนนี้ที่ต่อสู้กับภาวะซึมเศร้ามานานกว่า 4 ปี แถมเธอยังเป็นนักสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นงานที่ต้องรับฟังเรื่องราวที่เครียดและหดหู่อยู่เสมอ ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้เลยจริงๆ ว่าจิตใจของเธอต้องแกร่งขนาดไหน เพราะนอกจากจะดีลกับปัญหาส่วนตัวแล้ว เธอยังต้องดีลกับปัญหาของเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ อีก แต่อะไรที่ทำให้ เฟริส์ท ธนัฐพร ศิริชัยสินธพ มีแพชชั่นและยังคงรักในสายงานนี้อยู่ เรามาฟังจากปากเธอกันเลยดีกว่า



ความสนุกของงาน “อาสาสมัคร” 
หลังจบปริญญาตรีจากรั้วจุฬาฯ เธอก็ได้ไปทำงานในภาคธุรกิจอยู่ปีหนึ่ง แต่ก็พบว่ายังไม่ใช่ทาง “ช่วงนั้นเรากำลังจะเปลี่ยนงาน สมัครงานใหม่ไปหลายที่แต่ก็ยังไม่รู้สึกอินกับตัวงานเลย แต่บังเอิญมีเพื่อนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเขามาแนะนำ พอฟังสโคปงานแล้วก็รู้สึกว่าชอบ เลยตัดสินใจลองทำดู” หลังจากทำมาสักพักเธอก็เริ่มสนุกกับงานที่ไม่ได้นั่งอยู่แค่ในออฟฟิศ “เราต้องออกไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยตามบ้าน ไปรับฟังปัญหาของเขา ซึ่งช่วยบำบัดจิตใจเขาได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการถามทั่วไปอย่างเช่น ช่วงนี้สุขภาพเป็นยังไง ลูกได้เรียนหนังสือมั้ย แล้วก็เอาข้อมูลกลับมาที่ทำงาน เพื่อดูว่าเราจะช่วยเหลือเขายังไงได้บ้าง มันสนุกตรงที่ได้ออกไปเจอที่ใหม่ๆ ในกรุงเทพฯ ที่เราไม่เคยไป และก็ท้าทายในเวลาเดียวกัน”

หน้าที่...ที่มาพร้อมกับการตัดสินใจ 
“คือมันเป็นงานที่เกี่ยวกับความต้องการของคน ไม่ว่าจะเรื่องเงิน เรื่องการศึกษา เราต้องคิดตลอดเวลาว่าจะช่วยเขายังไงให้เขารู้สึกดีขึ้น ความต้องการของเขามีอะไรบ้าง ดูแลเป็น case by case ไป แต่ด้วยข้อจำกัด มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถช่วยได้ทุกเคส ซึ่งเราต้องตัดสินใจว่าจะช่วยหรือไม่ช่วยใคร” และนี่เป็นจุดที่ทำให้เธอยอมรับกับเราตรงๆ เลยว่าลำบากใจมาก “ตอนทำแรกๆ เป็นอาการ anxiety เลย คือเราไม่กล้าตัดสินใจ ไม่อยากตัดสินชีวิตใคร แต่หัวหน้าก็สอนว่าเราไม่สามารถช่วยทุกคนได้ เราทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว พอเปลี่ยนมายด์เซตก็ทำให้การทำงานง่ายขึ้น”

ความท้าทายที่มากกว่าการเก็บข้อมูล
เธอเล่าให้ฟังว่าความท้าทายอีกอย่างที่ต้องเจอก็คือ การอยู่ท่ามกลางสนามอารมณ์ที่ทุกคนต่างพร้อมใจกันพรั่งพรูออกมา “เคสที่ยากที่สุดคือเคสที่มีความชอกช้ำทางจิตมาก เราจะไม่สามารถถามบางคำถามกับเขาได้ เพราะมันอาจกระตุ้นบางอย่างในใจเขา หรือบางเคสที่ถามแล้วร้องไห้ขึ้นมา มันก็จะต้องใช้เวลาในการปลอบให้เขาเย็นลงด้วย ก็ต้องคิดแล้วว่าคำถามนี้ถามไม่ได้ แต่จะถามยังไงเพื่อดึงข้อมูลออกมาให้ได้มากที่สุด เคสแบบนี้จะใช้เวลานานขึ้น เพราะนอกจากเราจะเป็นคนเก็บข้อมูลแล้ว เรายังต้องดูแลในด้านจิตใจของเขาด้วย บางวันเราต้องไปเจอ 2-3 เคส แล้วทุกคนร้องไห้ใส่เราหมดเลย บางทีก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจเราเหมือนกัน”

สภาพจิตใจที่ถดถอย กับอาการซึมเศร้าที่เป็นมาก่อน
“แรกๆ พังมากเพราะฟังแล้วมันอิน คือเราจะเศร้าตามเขาไปด้วยแล้วก็เก็บความเศร้านั้นกลับบ้านไปเลย เหมือนเป็นการเพิ่มเอเนอร์จี้ลบในตัวเรา จากที่มีพลังลบในตัวอยู่แล้ว พอรับเข้ามาอีกมันก็หนักไปหมด เหมือนดึงตัวเองออกมาไม่ได้ทั้งที่งานจบไปแล้ว” แต่ที่เซอร์ไพรซ์หนักกว่าคืออาการซึมเศร้าที่เธอต่อสู้มานานตั้งแต่ก่อนที่จะตัดสินใจมาทำงานที่นี่ “จริงๆ ก่อนที่จะมาทำงานช่วยเหลือผู้อพยพ เราเป็นโรค PMDD อยู่ก่อนด้วย มันเป็นภาวะซึมเศร้าชนิดหนึ่งซึ่งเราจะรู้สึกเครียดและทำร้ายตัวเอง ต้องปรึกษาแพทย์และกินยาเป็นประจำ”

ก้าวข้ามความกลัว เพื่อพบความหมายที่แท้จริงของชีวิต
ยิ่งทำให้เราสงสัยหนักมาก ว่าทำไมเธอถึงเลือกงานที่มีโอกาสทำให้ภาวะซึมเศร้าของเธอหนักกว่าเดิม “ตอนแรกก็กลัวนะ เพราะมีคนเตือนหลายคนว่าไหวเหรอ อาการจะไม่หนักกว่าเดิมเหรอ ตอนนั้นรู้สึกว่าเราอยากลอง ช่วงที่เป็นซึมเศร้าเราไม่เห็นคุณค่าในตัวเองเลย ไม่เห็นความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม แต่พอได้มาทำงานนี้ เราได้เข้าไปคุย ได้ช่วยเหลือ ได้เห็นว่าชีวิตเขาดีขึ้น มันทำให้เราซึมซับว่าอย่างน้อยเรายังทำประโยชน์ให้ใครได้บ้าง มันจะมีประโยคที่เรารู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ฟัง คือการที่เขาบอกว่าขอบคุณที่มาหาเขา ขอบคุณที่มาช่วย ขอบคุณที่ได้เจอเรา ทุกครั้งที่เจอประโยคพวกนี้เราจะรู้สึกดีจริงๆ นะ กลับกลายเป็นว่าอาชีพนี้ไม่ได้ดึงให้เราแย่ลง แต่กลับดึงเราขึ้นจากอาการที่เป็นอยู่ มันช่วยให้เราเลิกดูถูกตัวเอง เลิกมองว่าตัวเองไม่มีค่า เหมือนเป็นการบำบัดไปในตัว ซึ่งก็ไม่เคยคิดมาก่อนเลย”

วิธีระบายความเครียดที่โถมเข้ามาในแต่ละวัน
หลังจากรับฟังเรื่องเครียดๆ มาทั้งวัน เธอก็ต้องมีวิธีรับมือกับความเครียดเหมือนกัน “มันต้องหาวิธีดึงความสนใจของตัวเองแล้วทิ้งงานไว้ตรงนั้น หาวิธีระบายออก เช่น หาเพื่อนคุย ดูหนัง เขียนลงในสมุดว่าวันนี้ไปเจออะไรมา คือมันต้องปล่อยออกทางนั้น ถ้าเราเก็บเอาไว้ แล้วไม่ระบายออก มันเครียดแน่ๆ”

สิ่งสำคัญที่ได้รับจากการ “ให้”
“เหมือนเราได้ไปเห็นคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่แย่จริงๆ ในวันที่เขาไม่เหลืออะไรแล้ว แต่เขายังอยู่ได้ บางทีไปเจอบ้านที่เขามีอาการซึมเศร้าขนาดที่ผ่านการฆ่าตัวตายมาแล้ว การที่เขามาเล่าประสบการณ์ มุมมองชีวิตว่าเขาเอาชีวิตรอดมาได้ยังไง มันทำให้เรารู้ว่ายังมีคนที่เป็นแบบเรา แล้วเขาผ่านมันมาได้ เมื่อก่อนเรามองแค่ตัวเองว่าเรามีปัญหา แต่พอได้เจอคนที่เขาแย่กว่าเรา มันทำให้เราเรียนรู้ว่าทุกคนก็มีปัญหา แต่มันสำคัญที่ว่าเราจะมองปัญหานั้นและจัดการกับมันยังไง บางทียังไม่ต้องแก้ไขมันหรอก แค่ปล่อยไปตามสิ่งที่มันควรจะเป็น แต่สิ่งที่เราต้องทำคือรับมือกับสภาพจิตใจของตัวเองให้ได้”

สุดท้ายเธอได้ฝากข้อคิดดีๆ ให้กับคนที่อยากทำงานด้านอาสาสมัครว่า “งานแบบนี้มันต้องใช้ passion ล้วนๆ เลย ถึงมี skill เก่งแค่ไหนแต่ไม่มีใจในการที่จะช่วยเหลือใครสักคนหนึ่ง ยังไงก็ทำไม่ได้ เรื่องภาษาก็จำเป็นเหมือนกันเพราะเราต้องสื่อสารกับผู้ลี้ภัยในการช่วยเหลือ ในอนาคตก็ยังอยากจะทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่ใช่แค่ทำงานเสร็จแล้วกลับบ้าน แต่เรารู้สึกดีที่ทำให้ชีวิตใครคนหนึ่งเขาดีขึ้น และไม่มีคำถามอีกเลยว่าเรากำลังทำเพื่ออะไร และเพื่อใคร”


 
-->