ไม่ได้ตั้งใจเลียนแบบ แต่ทำไม “เหมือนกัน” มากขึ้นทุกที

 
เคยสังเกตกันมั้ยว่าทำไมคุณและเพื่อนจึงเหมือนกันมากขึ้นทุกวันๆ จะเริ่มพูดสำเนียงคล้ายกัน คำที่คล้ายกัน เช่น ถ้าคุณติดละครที่นางเอกเป็นสาวเหนือ คุณอาจจะอู้กำเมืองได้คล่องปากทั้งๆ ที่บ้านเกิดอยู่กรุงเทพฯ หรือถ้าชอบล้อสำเนียงทองแดงของเพื่อนสาวคนสนิทที่มาจากปักษ์ใต้ แล้ววันหนึ่งคุณก็พูดติดทองแดงเหมือนกับเธอ ก็อย่าเพิ่งแปลกใจ... นั่นเพราะพฤติกรรมของเราค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และส่วนหนึ่งก็มาจากการเลียนแบบคนที่อยู่ใกล้ตัวเรานั่นเอง

ขอบอกให้รู้ว่ามันไม่ใช่การตั้งใจเลียนแบบกันหรอกนะ... มาดูกันว่าเพราะอะไร

Photo by Priscilla Du Preez on Unsplash
• การเลียนแบบ เป็นการชื่นชมวิธีหนึ่ง
ดร.แจเร็ด โอ’การ์-มัวร์ แพทย์จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อธิบายว่า เมื่อเราให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ใกล้ตัว เราก็จะเป็นห่วงพวกเขามากขึ้น รู้สึกถึงการพึ่งพาและมีความต้องการอยากเป็นที่รักมากขึ้น เหล่านี้ทำให้คนเริ่มเลียนแบบกันและกัน “งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการเลียนแบบ เช่น การใช้คำหรือลักษณะการพูด เป็นวิธีหนึ่งของการเพิ่มความเชื่อมโยงและความร่วมมือ หรืออาจกล่าวได้ว่า การเลียนแบบที่เกิดขึ้น จะสะท้อนความต้องการที่อยากใกล้ชิดและการเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน"

การเลียนแบบที่เกิดขึ้น มักเป็นไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เราอาจเลียนแบบคนที่เราชื่นชอบไม่ว่าจะเป็นไอดอล นักร้อง นักแสดง เจ้านาย เพื่อน เพื่อนร่วมงาน บุคคลสาธารณะที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือผู้มีอำนาจในสังคม... วิธีสังเกตง่ายๆ คือเวลาคนที่เราชื่นชมเข้ามาใกล้ ก็มีแนวโน้มว่าเราจะเหยียดหลังตรงโดยไม่รู้ตัว

• กลไกธรรมชาติของมนุษย์
หากพูดในแง่ชีววิทยา ดร.โอ’การ์-มัวร์ อ้างถึงงานวิจัยบางชิ้นซึ่งเสนอว่า ในสมองของคนเรามีเซลล์สมองกระจกเงา ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของการเรียนรู้ที่เกิดจากการเลียนแบบ

ขณะที่ ดร.ดีปัน ซิงห์ จิตแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก บอกว่าเซลล์สมองกระจกเงา จะปรากฏเมื่อเราเริ่มสังเกตพฤติกรรมคนอื่น ลองนึกภาพว่าส่วนเล็กๆ ในสมองจะสว่างวาบขึ้นและเริ่มฝึกฝนพฤติกรรมที่จดจำมาจากคนอื่น โดยที่ร่างกายยังไม่ได้ลงมือทำ เช่น เด็กตัวเล็กๆ จะเลียนแบบท่าทางผูกเชือกรองเท้าของผู้ใหญ่ทั้งที่ความจริงยังผูกไม่เป็น

หากนึกภาพไม่ออก ก็ลองนึกถึงบรรยากาศในห้องเรียนภาษา ห้องซ้อมดนตรี หรือแม้แต่การฝึกฝนทักษะอื่นๆ ผ่านการเลียนแบบการเคลื่อนไหวร่างกายของคนที่อยู่ใกล้ตัวดูสิ หรือเมื่อครูที่กำลังสอนหน้าห้องเริ่มหาว นักเรียนทั้งหมดในห้องก็จะหาวตาม หรือถ้าเรานั่งคุยกับใครนานๆ จังหวะการพูด สำเนียง และความดังจะเริ่มเหมือนกันมากขึ้น... ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ความเอาใส่ใจต่อสังคม (social empathy) ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้เราเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น 

แต่หากคุณกลัวว่าจะเสียตัวตนสุดยูนีคไปก็อย่าเพิ่งเป็นกังวล เพราะกระบวนการเลียนแบบตามธรรมชาตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด และไม่ได้ลบล้างเสียลักษณะบางอย่างจนคุณเสียตัวตนไป...  เพราะเป็นกระบวนการธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม



 
-->