โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อายุน้อยก็เป็นได้

ยกให้เป็นเรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่นบ้างานที่แท้ทรู เพราะได้มีงานวิจัยในฝรั่งเศสซึ่งตีพิมพ์ในสโตรก (Stroke) วารสารการแพทย์ของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ชี้ว่าผู้ที่ทำงานนานถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลามากกว่า 50 วันต่อปี เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรกเพิ่มขึ้นถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้สะสมติดต่อกันนานถึง 10 ปี ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปถึง 45 เปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่าทำให้ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยเป็น STROKE นั้นมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเกิดกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปีด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นคำว่า “โรคคนแก่” น่าจะใช้กับโรคหลอดเลือดสมองนี้ไม่ได้แล้วล่ะ



หลอดเลือดสมอง...ภัยร้ายที่มาทักทายแบบไม่ตั้งตัว
Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่ทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ในกลุ่มผู้อายุน้อย อาจไม่ได้เป็นผลจากอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือพันธุกรรม เพราะโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดชนิดไม่ทราบสาเหตุ จะพบได้เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย ส่วนสาเหตุรองลงมาคือ มีหลอดเลือดสมองตีบ และอันดับสามคือ ภาวะลิ่มเลือดหัวใจไหลไปอุดตันหลอดเลือดสมอง 

หลอดเลือดตีบ…ต้องรีบรักษา
โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (ischemic stroke) เกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติของการทำงานร่างกายส่วนที่สมองส่วนนั้นๆ ควบคุม ซึ่งถ้าอาการอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงจะเรียกว่าเป็น การขาดเลือดแบบชั่วคราว (Transient ischemic attack หรือ TIA หรือ mini-Stroke) ซึ่งโดยมากอาการมักไม่นานเกินครึ่งชั่วโมง แต่หากเกิดการขาดเลือดแบบชั่วคราว (TIA) ขึ้นแล้วก็จะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันถาวร ตามมาได้ถึง 1 ใน 10 คน ในสัปดาห์แรก และประมาณ 2 ใน 10 คนในเดือนแรก หลังจากนั้นโอกาสจะน้อยลงเป็นประมาณ 4 - 5 ใน 100 คน ต่อปี เพราะฉะนั้นถ้าสงสัยว่ามีอาการเหล่านี้ จึงควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
  • อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก มองไม่เห็นครึ่งซีก
  • ตาบอดชั่วขณะ
  • พูดไม่เป็นภาษา หรือไม่เข้าใจภาษา
  • เวียนศีรษะตลอดเวลาโดยไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนท่าทาง
  • เดินเซ ภาพซ้อน ตาเหล่ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง
เพราะโอกาสที่จะเกิดโรคในแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป โดยผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงซึ่งต้องคอยระวังสังเกตอาการตัวเอง คือ ผู้สูงอายุ เป็นเพศชาย หรือผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัว ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่จะควบคุมดูแลได้ก็คือ ความดัน เบาหวาน การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ระดับไขมันสะสมในเลือด โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนได้ด้วยการรักษาต่อเนื่อง และการใส่ใจดูแลตนเองของผู้ป่วย 

สรุปว่าถึงจะยังไม่แก่ แต่ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี เพราะไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อยก็มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งนั้น 

สนใจแพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->