Sunk Cost Fallacy โรคเสียดายที่ทำลายปัจจุบัน


 
เชื่อไหมว่า... ชีวิตที่ไปต่อยากและไม่สำเร็จอย่างที่หวัง
ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมา เรามัวแต่ “เสียดาย” สิ่งที่ไม่ควรเสียดาย

 
เราจะอธิบายมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากคำว่า... เสียดาย ได้อย่างไร ยกตัวอย่างง่ายๆ กับคำว่า Sunk Cost ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่หมายถึง “ต้นทุนจม” หรือมูลค่าที่เสียไปและไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ เรียกได้ว่าหมดหนทางที่จะกอบกู้มูลค่านั้นกลับมา แต่เรากลับไม่ยอมปล่อยมันไป และยังใช้ “เวลา” ซึ่งมีค่าทุกนาทีไปกับมัน การไม่ทิ้งจึงเหมือนการเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้นในขณะที่มูลค่าหรือ “คุณค่า” ของสิ่งนั้นกลับลดลงเรื่อยๆ
 
พฤติกรรมไหนที่ตรงกับคำว่าเสียดายของคุณ?
• มีกองหนังสือที่ซื้อมาแล้วไม่ได้อ่าน หรือยังอ่านไม่จบ แต่พอถึงงานสัปดาห์หนังสือทีไรก็ไปซื้อเล่มใหม่มาอีก
• มีนิตยสารที่อ่านหมดแล้วแต่ยังวางกองไว้ ต้องหาที่เก็บ หรือไม่ก็ซื้อชั้นวางหนังสือมาเพิ่ม
• มีเสื้อผ้าใหม่เอี่ยมที่หลายปีแล้วไม่เคยหยิบมาใส่ เพราะมันคับแน่นเกินไป ไม่สวย แต่ก็ยังซุกไว้ในตู้ ไม่คิดที่จะทิ้งหรือให้ใครที่ใส่ได้
• มีลิปสติกหรือเครื่องสำอางหมดอายุ เสื่อมสภาพ หรือน้ำหอมที่ซื้อมา 5 ปีแล้วยังใช้ไม่หมด ยังวางอยู่บนโต๊ะเครื่องแป้ง
• มีอาหารที่กินเหลือหรือซื้อมาแช่ตู้เย็นไว้ กะว่าจะเอาไว้กิน แต่สุดท้ายก็มักไม่ได้กิน และต้องเอาไปทิ้ง
 
ยิ่งเสียดาย ยิ่งสูญเสีย ยังไงเหรอ?...
• หนังสือที่ซื้อมาแล้วไม่ได้อ่าน หรืออ่านแล้วไม่สนุกและไม่คิดว่าจะเอามาอ่านต่อ หรือทนอ่านต่อไปเพราะเสียดายเงินที่ซื้อมา คุณต้องเพิ่มทุนของเวลาที่ต้องใช้ ความเบื่อหน่ายที่ต้องทนอ่าน หรือตู้เก็บหนังสือที่ต้องซื้อเพิ่ม ซึ่งมันก็ไม่ได้สร้างความสุขให้คุณเลย
• นิตยสารที่อ่านหมดแล้วแต่ไม่ทิ้ง คุณต้องเพิ่มทุนในการทำความสะอาดเช็ดฝุ่น หาที่เก็บ และเชื่อเถอะว่า สุดท้ายคุณก็ไม่ได้หยิบมันมาเปิดดูสักครั้ง
• เสื้อผ้าที่ใส่ไม่ได้หรือไม่ชอบใส่ คุณต้องแบ่งพื้นที่ตู้เสื้อผ้าให้มัน แทนที่จะเอาไว้เก็บเสื้อผ้าที่จำเป็นใส่ได้อย่างสบายๆ และทุกครั้งที่คุณเห็นเสื้อผ้าที่ซื้อมาแล้วใส่ไม่ได้ก็ทำให้รู้สึกว่าตัวเองทำผิดพลาด
• ลิปสติก น้ำหอม หรือเครื่องสำอางหมดอายุทำให้ตู้หรือโต๊ะเครื่องแป้งคุณรก เลอะเทอะ จะหยิบจับอะไรมาใช้ก็วุ่นวายเสียเวลามองหา
• อาหารที่เหลือในตู้เย็นค้างเติ่ง คุณกำลังเพิ่มการเพาะเชื้อโรค เสียพื้นที่ในการจัดเก็บ และสุดท้ายมันก็แห้งกรังเกาะติดจานชาม พอจะเอามาล้างก็ล้างยาก ต้องใช้ทั้งน้ำและน้ำยาล้างจานมากกว่าปกติ
 
แม้บางคนจะมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่รู้ไหมว่ามันทำให้ชีวิตของคุณยากขึ้นและต้องเสีย “มูลค่า” อะไรบางอย่างไปโดยไม่รู้ตัว การบ่มเพาะนิสัยแบบนี้อาจลุกลามไปถึงการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ ที่กระทบจิตใจโดยตรงอย่าง... มีแฟนที่เคยดี อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว นิสัย “เสียดาย” อาจทำให้คุณคิดว่า “เสียดายเวลาที่คบกันมา” จึงไม่ยอมหลุดออกจากความทุกข์ในปัจจุบัน อย่าให้บอกเลยว่ามันเป็น Sunk Cost Fallacy ที่รุนแรงแค่ไหน... เรารู้ว่ามันไม่ง่าย เพราะมนุษย์มักชอบทำอะไรๆ ที่เคยชิน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบเก็บไว้ก่อน เผื่อเหลือเผื่อขาด   เราจึงอยากให้คุณฝึกละ “ความเสียดาย” เพราะชีวิตไม่ได้มีเวลามากพอที่จะใช้กับสิ่งที่ไม่คู่ควร   แม้ว่าสิ่งนั้นมันจะเคยมีคุณค่ามากมาก่อนก็ตาม
-->