“อาหารพื้นเมือง” อยากกิน ต้องได้กิน แต่จะ “หิ้วขึ้นเครื่องบิน” ต้องระวัง!



แหนมเนือง น้ำพริกหนุ่ม แกงไตปลา น้ำพริกอ่อง แต่ละเมนูคือถ้าจะให้เด็ดต้องไปชิมให้ถึงถิ่น ซึ่งใครที่เคยยืนหนึ่งเป็นสายหิ้วและเดินฟิ้วววว ผ่านเครื่องสแกนแบบไม่แคร์สื่อเพื่อเอาอาหารพื้นเมืองแบบออริจิฯ กลับไปฝากคนที่บ้าน งานนี้คงต้องเบรคกันไว้ก่อน เพราะล่าสุดทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เขาได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล สเปรย์ที่จะนำขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยานหรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ. 2562 มาใหม่

 


ไม่ใช่แค่ Cosmetic แต่ “อาหารบางประเภท” ก็จัดเป็น “ของเหลว” 
เมื่อก่อนถ้าพูดถึงการถือของเหลวหรือเจล สเปรย์ ขึ้นเครื่อง เราก็จะนึกถึงแต่พวกน้ำหอม สกินแคร์บำรุงผิว สารพัดครีม โลชั่น น้ำมัน น้ำหอม ยาสีฟันหรือเครื่องสำอางเติมสวยที่มีส่วนผสมของทั้งของแข็งและของเหลวอย่าง ลิปสติก หรือลิปบาล์ม เท่านั้นใช่มั๊ยล่ะ แต่ ณ วินาทีนี้เป็นต้นไป ต้องจูนกันใหม่ เพราะคำว่า “ของเหลว” เขารวบตึงไปถึง น้ำ เครื่องดื่ม ซุป น้ำเชื่อม แยม สตูว์ ซอส น้ำพริก หรืออาหารอย่างอื่นที่อยู่ในซอส หรือมีส่วนประกอบเป็นของเหลวในปริมาณมากๆ ด้วยเหมือนกัน

ไม่ถึงกับ “ต้องห้าม” ถ้าปริมาณยังอยู่ใน “กฏ”
ปกติแล้วตามกฏที่เรารู้ๆ กันอยู่ก็คือ ของเหลวนั้นต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีปริมาตรความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตร หรือในหน่วยวัดปริมาตรที่ใกล้เคียงกัน เช่น 3.3 ออนซ์ หรือ 100 กรัม ซึ่งในที่นี้เขาอนุญาตให้เอาขึ้นได้ต่อหนึ่งคนคือทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตร พูดง่ายๆ ก็คือสมมุติเราอยากหิ้วน้ำพริกหนุ่มขึ้นเครื่อง น้ำพริกหนุ่มนั้นจะต้องบรรจุอยู่ในแพคเกจที่ปิดสนิท มีฉลากเขียนปริมาตรของแพคเกจไว้ชัดเจนว่าไม่เกิน 100 มิลลิลิตร นั่นแปลว่าเราสามารถเอาน้ำพริกหนุ่มหิ้วขึ้นเครื่องได้ทั้งหมด 10 แพค เพราะรวมกันแล้วก็ยังไม่เกิน 1,000 มิลลิลิตรนั่นเอง ถ้าใครบอกว่าอยากเอาไปฝากทั้งออฟฟิศซักสามสิบแพคงานนี้ต้องใช้โหลดใต้ท้องเครื่องแทน แต่ประเด็นสำคัญคือต้องแพคให้ดี ไม่งั้นเปิดมาอีกทีเสื้อผ้าในกระเป๋ากลายเป็นกลิ่นน้ำพริกหนุ่มแล้วจะยุ่ง  

แล้วถ้าสถานะ “ของเหลว” ไม่ได้...DIY เป็น “สถานะแข็ง” ชั่วคราวได้มั๊ย
อันนี้สำหรับใครที่เป็นสายครีเอท ที่คิดว่าในเมื่อไม่ให้เอาของเหลวขึ้น งั้นเอาน้ำซุปที่มีปริมาตรเกินกว่ากำหนด (100 มิลลิลิตร) ไปแช่ฟรีซให้กลายเป็นน้ำแข็งก็เอาขึ้นได้แล้วสิ เอ่อ....เราขอให้หยุดความคิดนั้นก่อน เพราะเขาบอกว่าในเคสนี้ “ไม่สามารถนำขึ้นห้องโดยสารอากาศยานได้ แต่ให้นำไปจัดเก็บและพาไปกับอากาศยานแบบสัมภาระลงทะเบียน (Hold Baggage) เนื่องจากของแช่แข็งเกิดจากกระบวนการการเปลี่ยนแปลงสถานะของของเหลวเป็นของแข็ง และของแช่แข็งดังกล่าวสามารถเป็นของเหลวได้ในอุณหภูมิห้อง” ก็คือเมื่อเจออุณหภูมิห้องในช่อง Cabin ซุปที่แข็งก็กลายเป็นของเหลวอยู่ดี ที่สำคัญคือเกิน 100 มิลลิตรด้วยไง 

แต่ถ้าเป็นเรื่อง “จำเป็น” จริงๆ เขาก็พอจะมี “ข้อยกเว้น”
สำหรับคนที่จำเป็นจริงๆ เขาก็มีข้อยกเว้นให้กับของบางอย่าง เช่น ของเหลว เจล สเปรย์ที่เป็นยา มีใบรับรองแพทย์ มีฉลาก หรือเอกสารกำกับยาที่ระบุชื่อของผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องใช้ยานั้นๆ หรือคุณแม่ที่มากับลูกน้อย เขาก็อนุญาตให้นำอาหารหรือนมสำหรับเด็กทารกขึ้นเครื่องได้ แต่ต้องเป็นอาหารที่เป็นไปตามข้อกำหนดของแพทย์และเพื่อวัตถุประสงค์ทางโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสมกับระยะเวลาที่เดินทางในแต่ละเที่ยวบิน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเอาขึ้นเครื่องได้ แต่ก็จะต้องผ่านจุดตรวจค้นตามปกติเพื่อความปลอดภัยด้วยเหมือนกัน 

D-DAY 23 มิถุนาฯ นี้นะ อย่าลืม!
สุดท้ายสำหรับใครที่อาจจะเห็นวันที่แปะแว๊บๆ ที่สนามบิน อาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมต้องเริ่มวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ด้วย นั่นก็เพราะว่าตามข้อบังคับแล้วให้ประกาศนี้มีผลบังคับใช้หลังพ้น 60 วันนับจากวันที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยประกาศ ซึ่งวันที่ประกาศคือวันที่ 23 เมษายน 2562 เลยทำให้กำหนดวันดีเดย์ ที่ต้องหยุดการหิ้วของเหลวนี้ขึ้นเครื่องเป็นวันที่ 23 มิถุนายน 2562 นั่นเอง  แต่ถ้าใครจะทำก่อนหน้านี้ ก็คงไม่มีใครว่าเหมือนกัน

เอาเป็นว่าที่ผ่านมาอาจจะมีการอะลุ่มอล่วยบ้างในการหิ้วอาหารขึ้นเครื่อง แต่หลังจากนี้เขาก็คงจะเข้มงวดมากขึ้น ใครที่อยากหิ้วกลับมาจริงๆ ก็คงต้องใช้การโหลดใต้ท้องเครื่องแทนเราว่าเซฟสุด ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยของเราทุกคนเองนั่นแหละเนอะ


Source: ประกาศกพท. เรื่องหลักเกณฑ์การตรวจค้นของเหลว เจล สเปรย์ (LAGs) ที่จะนำขึ้นบนห้องโดยสารอากาศยาน หรือนำเข้าไปในเขตหวงห้ามของสนามบินสาธารณะ พ.ศ.2562 (www.caat.or.th)



 
-->