'ปวดเอว' อย่าชะล่าใจ อาจเสี่ยง 'ถุงน้ำในไต' ไม่ทันตั้งตัว

ใครที่รับบทคนขี้ปวดเป็นประจำ ต้องฟังทางนี้ ยิ่งถ้าเป็นแถวๆ ช่วงเอวด้วยล่ะก็…อาจไม่ใช่แค่อาการปวดเมื่อยธรรมดา ยิ่งถ้ามีอาการท้องโต อึดอัดทั้งที่ยังไม่ได้กินอะไร ก็อย่าเพิ่งคิด (ไปเอง) ว่าอ้วนขึ้น หรือถ้าลองลดน้ำหนัก แล้วท้องที่โตกลับไม่ลดขนาดลงเลยสักนิด แบบนี้น่าจะเป็นไปได้ว่ามี “ถุงน้ำในไต” 



ถุงน้ำในไต คืออะไรกันแน่
โรคถุงน้ำในไต คือการเกิดภาวะที่ภายในไตมีซีสต์หรือก้อนรูปร่างวงรีหรือวงกลมขนาดน้อยกว่า 1 เซนติเมตร ไปจนถึงมากกว่า 10 เซนติเมตร อยู่เป็นจำนวนมาก จนทำให้ไตมีขนาดโต โดยมักไม่มีอาการหรือสิ่งบ่งชี้ใดๆ คืออาการของโรคถุงน้ำในไตนี้จะไม่สามารถเห็นได้ชัดเจน ถ้าหากว่าถุงน้ำนั้นไม่ได้ไปอุดกั้น และไม่ส่งผลต่อการทำงานของไต แต่ถึงอย่างนั้นในผู้ป่วยอายุน้อย ถุงน้ำในไตสามารถลดการทำงานของไตให้ต่ำกว่าปกติได้ หรือถ้าหากว่าถุงน้ำที่อยู่ในไตนั้นมีขนาดโตขึ้น ก็จะไปเบียดเนื้อไตปกติ ทำให้เนื้อไตจากเดิมที่เป็นปกติก็ค่อยๆ เสียไป จนนำมาซึ่งอาการไตวายได้ในที่สุด 

พันธุกรรมเป็นเหตุ...สังเกต (ไม่) ได้
ถุงน้ำในไต แม้จะเป็นโรคที่ไม่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเป็น ด้วยว่าโรคถุงน้ำในไตนี้ เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่ก็มีการพบว่ามีความผิดปกติของตัวเนื้อไตโดยมีการสร้างถุงน้ำมากขึ้น และส่วนใหญ่มักจะมีประวัติครอบครัวว่ามีคนเป็นโรคดังกล่าวนี้หลายคน แต่ขณะเดียวกันก็มีคนไข้บางคนที่ซักประวัติแล้วปรากฏว่าไม่มีใครเป็นเลยก็มี ซึ่งโรคถุงน้ำในไตมักจะแสดงอาการในอายุ 30 – 40 ปี โดยจะรู้สึกมีก้อนในท้องที่ใหญ่ขึ้น ท้องโตขึ้น หรือหากมีการกระแทกอย่างรุนแรงจนทำให้ถุงน้ำนี้เกิดแตกและมีเลือดออกภายในก็จะทำให้รู้สึกปวดบั้นเอว หรือปวดท้องได้ เช่นเดียวกับการติดเชื้อในถุงน้ำก็จะทำให้มีไข้หนาวสั่นเพิ่มด้วย 

หมั่นคอยดูแลและรักษา...ไต
ในขั้นตอนการรักษาหากสงสัยว่าตัวเองจะเป็นถุงน้ำในไต เมื่อมาหาหมอก็จะเริ่มตรวจด้วยการคลำก้อนก่อน แล้วถ้าพบว่ามีก้อนที่ทำให้สงสัยได้ว่าไตมีลักษณะโตขึ้น ก็จะต้องไปทำอัลตร้าซาวด์ต่อ ถ้าผลออกมาว่าไตมีขนาดใหญ่ มีถุงน้ำเยอะ ก็แสดงว่าเป็นโรคถุงน้ำในไต ส่วนอีกกลุ่มที่มาตรวจด้วยเรื่องของความดัน หมอก็จะต้องตรวจหาสาเหตุ ซึ่งความดันสูงจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือไม่ทราบสาเหตุ เป็นเองโดยพันธุกรรม มักจะพบเป็นส่วนใหญ่ ส่วนความดันสูงประเภทที่ 2 ก็คือมีสาเหตุเช่น อาจจะเป็นจากโรคถุงน้ำในไต หรือมีโรคไตอักเสบก็ทำให้ความดันสูงได้ ซึ่งถ้าเจอสาเหตุ ก็จะต้องทำการรักษาที่สาเหตุควบคู่ไปด้วย นอกเหนือจากกินยาความดันอย่างเดียว

เพราะไตก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญ ดังนั้นจึงต้องคอยดูแลรักษาให้แข็งแรงอยู่เสมอจะได้ไม่มีอะไรทำให้ต้องปวดใจ (ไต)

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก! 
-->