'อัลตร้าซาวด์' เครื่องมือคัดกรองความเสี่ยง ที่ไม่ต้องเจ็บตัว

เจ็บตัว...ใครไม่กลัวก็เก่งแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องสุขภาพที่ลำพังแค่อาการเจ็บปวดจากโรคที่เป็นอยู่ก็เกินจะทนแล้ว ถ้ายังต้องมา (ทน) เจ็บจากการรักษาอีกแบบนี้คงต้องมีร้องว่า “ถอยดีกว่า” บ้างล่ะ โชคดีที่ตอนนี้มีเครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงอย่าง “อัลตร้าซาวด์” ตัวช่วยสำคัญที่ช่วยไขความลับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายได้แบบไม่ต้องเจ็บตัว รู้แบบนี้ค่อยมีกำลังใจในการรักษาขึ้นมาหน่อยแล้วใช่มั้ยล่ะ


 
อัลตร้าซาวด์ เจอ... “ไม่” เจ็บ...จบ
อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound หรือ Ultrasound scanning) คือการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการใช้คลื่นเสียงกำลังสูงสะท้อนให้เกิดภาพ เพื่อตรวจดูอวัยวะต่างๆ ภายใน ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ ที่ส่วนไหน ขนาดเท่าไหร่ โดยสามารถใช้ตรวจภาพเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ได้เกือบทุกส่วน ยกเว้นในบริเวณที่มีอากาศอยู่มาก เช่น ปอด ลำไส้ ในกระดูก รวมถึงคนอ้วน เนื่องจากเนื้อเยื่อและอวัยวะดังกล่าวมีการสะท้อนเสียงได้ไม่ดี ภาพที่เกิดขึ้นจึงอ่านยาก จนมีอาจส่งผลถึงการอ่านและแปลผลผิดพลาดได้ ซึ่งขั้นตอนในการตรวจอัลตร้าซาวด์นั้น จะเริ่มจากการให้ผู้ป่วยนอนบนเตียง ก่อนจะทาเจล (Gel) บนผิวหนังบริเวณที่ต้องการตรวจเพื่อช่วยในการส่งผ่านคลื่นเสียงจากหัวตรวจไปสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นภาพอวัยวะต่างๆ บนหน้าจอของเครื่องตรวจ ในระหว่างการตรวจนี้แพทย์จะกดหัวเครื่องตรวจเบาๆ และเคลื่อนไปจนทั่วบริเวณที่ต้องการตรวจ ใช้เวลาประมาณ 10 - 45 นาที ขึ้นอยู่กับตำแหน่งอวัยวะที่ต้องการตรวจและความผิดปกติที่พบ เมื่อทำการตรวจแล้ว แพทย์จึงค่อยอธิบายผลจากการตรวจให้กับคนไข้
 
บทบาทของอัลตร้าซาวด์...ที่มากกว่าการรักษา
ด้วยคุณสมบัติการทำงานที่โดดเด่นของเครื่องอัลตราซาวด์ ตัวช่วยคนสำคัญในทางการแพทย์นี้ ที่สามารถแสดงผลการตรวจ หรือผลการวินิจฉัยออกมาได้ทั้งในรูปแบบภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว จึงถูกนำมาใช้ในด้านต่างๆ เหล่านี้
1. การตรวจครรภ์ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์จะใช้การอัลตร้าซาวด์เพื่อคำนวณวันคลอด ดูเพศของเด็กในครรภ์ รวมถึงการตรวจดูการตั้งครรภ์นอกมดลูก ช่วยตรวจปัญหาต่างๆ ขณะตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ 
2. การวินิจฉัยโรค เมื่อมีความผิดปกติที่กระทบต่ออวัยวะและเนื้อเยื่ออ่อนภายในร่างกายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ หลอดเหลือด ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน ไต กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ดวงตา ต่อมไทรอยด์ หรือลูกอัณฑะ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำได้ด้วยการอัลตร้าซาวด์ ยกเว้นบริเวณกระดูกที่มีความหนาแน่นหรือส่วนของร่างกายที่อาจประกอบด้วยอากาศหรือแก๊ส เช่น สมอง กระดูกสันหลัง ลำไส้ ซึ่งอาจทำได้ไม่ดีนัก 
3. ผู้ช่วยในกระบวนการทางการแพทย์ บางขั้นตอนในกระบวนการแพทย์อย่างการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจ อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์เข้ามารับบทผู้ช่วย เพราะต้องใช้ความระมัดระวัง โดยการอัลตร้าซาวด์จะช่วยให้มองเห็นภาพอวัยวะบริเวณนั้นๆ ได้อย่างชัดเจนและดำเนินการได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
4. การบำบัดรักษาโรค ซึ่งจะใช้ในกรณีการตรวจและรักษาเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียหายได้
 
ประโยชน์ที่มากกว่าของ...อัลตร้าซาวด์
นอกเหนือจากการใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจดูพัฒนาการของทารกในครรภ์แล้ว อัลตร้าซาวด์ยังมีข้อดีอีกมากมายจนถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงอย่างแพร่หลาย ดังนี้
  • ไม่สร้างความเจ็บปวดในการใช้งาน 
  • ไม่จำเป็นต้องใช้การฉีดยาหรือการผ่าตัดร่วม
  • สามารถจับภาพเนื้อเยื่ออ่อนได้ชัดเจนกว่าการเอ็กซเรย์ 
  • ใช้ตรวจอวัยวะต่างๆ ได้เป็นบริเวณกว้าง เพราะตรวจได้เกือบทุกอวัยวะในร่างกายที่เป็นเนื้อเยื่อ
  • มีความปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กและสตรีมีครรภ์ เพราะเป็นการตรวจที่ไม่ใช้รังสี 
  • มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน จึงสามารถทำการตรวจได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดความยุ่งยากในการเตรียมตัว

ในเมื่อมีทางเลือกที่ดี (กว่า) แถมไม่ต้องเจ็บตัว ใครล่ะจะไม่เลือก...ถูกมั้ย!     สนใจ แพกเกจตรวจอัลตร้าซาวด์ คลิก! 
-->