ออกกำลังกายหักโหมเกินไป อาจเสี่ยง ‘หัวใจวายเฉียบพลัน’

การพยายามทำอะไรสักอย่างหนึ่งอย่างเต็มที่ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราทำมันหนักเกินไปก็ควรจะระมัดระวังไว้บ้าง เช่นเดียวกันกับการออกกำลังกาย หักโหมมากเกินไปก็ถือเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ ซึ่งถ้าเราทำความเข้าใจอาการหัวใจวาย วิธีการช่วยเหลือและการป้องกัน ก็สามารถลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้



# รู้จักให้มากขึ้น…กับภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack เกิดจากร่างกายของเราทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดเข้าไปเลี้ยงยังหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดนั่นเอง ซึ่งภาวะหัวใจวายมักเกิดขึ้นแบบฉุกเฉินและไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว และหนึ่งในสาเหตุของโรคนี้ คือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราที่อาจทำไปด้วยความเคยชิน ดังนั้นเราลองเช็คดูสิว่า พฤติกรรมเสี่ยงที่ว่านี้มีอะไรบ้าง
  • ชอบกินของทอด ของมัน เพราะอาหารประเภทที่มีคอเลสเตอรอลสูง อย่างพวก ของทอด ของมัน เมื่อกินสะสมไปนานๆ จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งโรคเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงจะทำให้เกิดโรคหัวใจในอนาคตตามมาได้เช่นกัน ดังนั้นหากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินได้ ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
  • ชอบคิดมาก มีภาวะเครียดสะสม แต่ละคนอาจจะมีที่มาของความเครียดที่ต่างกัน เช่น บางคนเครียดเรื่องครอบครัว บางคนเครียดเรื่องเพื่อน หรือบางคนเครียดเรื่องงาน นักวิจัยชาวสวีเดนได้ทำการศึกษาโดยเก็บรวบรวมข้อมูลมานานกว่า 10 ปีเปิดเผยว่าการมีเจ้านายที่แย่อาจทำให้เราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายได้มากถึง 40% ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ ดร.วิเจย์ คูมาร์ เอส คาซี ผู้อำนวยการศูนย์การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สถาบันโรคหัวใจ โคโลราโด ที่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ความเครียดในที่ทำงานสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจวายได้’ เพราะหากเราไม่สามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ก็จะพาลให้นอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่ดี รวมถึงส่งผลต่อพฤติกรรมการทานอาหารด้วย
  • ชอบสูบบุหรี่เป็นชีวิตจิตใจ บางคนสูบบุหรี่จัด วันละ 2-3 ซองต่อวัน โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากถึงปีละไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 3 ล้านคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ดังนั้นควรเลี่ยงพฤติกรรมนี้โดยด่วน

นอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เราต้องระมัดระวังแล้ว พันธุกรรมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้เหมือนกัน ดังนั้นเราควรตรวจเช็คสุขภาพหัวใจไว้บ้างก็ดี



# ไขข้อสงสัย ออกกำลังกายแบบไหน ถึงเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน
ทุกคนคงเคยเห็นข่าวนักกีฬาอาชีพหลายๆ ประเภทเกิดล้มหมดสติขณะทำการแข่งขันกันมาบ้าง เช่น นักวิ่งมาราธอน หรือแม้แต่นักฟุตบอลอาชีพ ที่ส่วนใหญ่มักจะอายุน้อยด้วยซ้ำ เพราะถือเป็นช่วงวัยที่สามารถโชว์ฟอร์มได้ดีและมีพละกำลังที่ยอดเยี่ยมในการเล่น ซึ่งถ้าดูแล้วความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจในคนกลุ่มนี้ที่ดูแข็งแรงดีแทบจะมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก แต่สุดท้ายก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้

ซึ่งเมื่อได้มีการนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุภาวะหัวใจล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นของนักกีฬานั้น ก็พบว่า นักกีฬาอาจออกกำลังมากไปหรืออาจมีโปรแกรมการแข่งขันที่ติดๆ กันเกินไป ซึ่งส่งผลทำให้หัวใจทำงานหนักและเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ และอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ภาวะหัวใจผิดปกติแอบแฝง ซึ่งจะไม่แสดงอาการหรือความผิดปกติใดๆ อย่างชัดเจน หากเราไม่เคยตรวจเช็คสุขภาพหัวใจมาก่อน

# แชร์เทคนิค…เล่นกีฬายังไงให้สุขภาพปัง ปัง
หากเราเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีและควรจะทำอย่างนั้นต่อไป ในส่วนของนักกีฬาอาชีพที่เล่นกีฬาและออกกำลังกายเป็นประจำ ก็มีความจำเป็นต้องดูแลตัวเองและหมั่นตรวจเช็คร่างกายให้พร้อมอยู่เสมอ แต่จะดูแลอย่างไร เรามีเช็คลิสต์สิ่งที่ควรทำ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้มาแชร์ 
 
1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยง
สิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอกเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น การกินของทอด ของมัน การดื่มหนัก สูบบุหรี่จัด ความเครียดสะสม ถ้าหากแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้ ก็เท่ากับลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายได้เช่นกัน

2.เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนและหลังการออกกำลังกาย
เราควรเตรียมพร้อมสภาพร่างกายของเราให้พร้อมก่อนและหลังการเล่นกีฬา และสิ่งที่สำคัญมากๆ คือต้องไม่ละเลยการวอร์มอัพ-คูลดาวน์ เพราะการวอร์มอัพถือเป็นการยืดคล้ายกล้ามเนื้อก่อนการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ส่วนการคูลดาวน์ก็ช่วยลดอาการหน้ามืดหรือภาวะโลหิตต่ำหลังจากออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ต้องสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน

3.การตรวจร่างกายเฉพาะทางโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักกายภาพบำบัด
แม้ว่าในกลุ่มของนักกีฬาอาชีพ จะมีนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาคอยดูแลเรื่องของสุขภาพร่างกายอยู่ มีการตรวจประเมินความพร้อมของนักกีฬาทุกครั้งก่อนการแข่งขัน แต่! เราก็สามารถเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม แบบละเอียด ครบถ้วนได้เช่นกัน ซึ่งผลการตรวจก็ช่วยให้เราปรับพฤติกรรมการออกกำลังกายหรืออาจจะมีแนวทางในการออกกำลังที่ดีขึ้นได้ เพราะหากมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ จะได้ทำการรักษาหรือฟื้นฟูร่างกายได้ทันเวลา ทั้งนี้คนที่ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพก็สามารถตรวจเช็คได้ หากเราอยากออกกำลังกายแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี หรือบางคนมีอาการบาดเจ็บ แต่อยากเล่นกีฬาก็สามารถเข้ารับการตรวจได้เช่นกัน

เพราะการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับร่างกายของเรา จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของโรคร้ายอย่าง ‘โรคหัวใจวายเฉียบพลัน’ ได้

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->