แก้ปัญหา “ออฟฟิศซินโดรม” ด้วยวิธีที่เราว่า (เวิร์ก)

ไม่เกินจริงไปหรอกนะถ้าจะบอกว่าบางทีเจ้ากรรมนายเวรก็มาในรูปแบบของอาการปวดคอ บ่า ไหล่...แถมหลังให้อีกหนึ่งด้วยเลย เพราะจากสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนวัยทำงานร้อยละ 60 มีภาวะของโรคออฟฟิศซินโดรม  ซึ่งเกิดจากการทำงานในรูปแบบที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน รู้อย่างนี้สงสัยต้องรีบหาวิธีแก้ซะแล้ว!



“ออฟฟิศซินโดรม” รีบแก้ก่อนลุกลาม
เพราะอาการปวดไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่ปล่อยไปแล้วจะหายได้เอง ยิ่งถ้าลองทำมาทุกวิธี ไม่ว่าจะปรับท่านั่ง พักสายตา เปลี่ยนกิจกรรมทุก 20 นาที ไปจนถึงขั้นสลัดความขี้เกียจลุกขึ้นมาออกกำลังกายแล้ว (จะเหลือก็แต่พึ่งไสยศาสตร์เท่านั้น) อาการปวดออฟฟิศซินโดรมก็ยังไม่หาย คงต้องลองอัพเวลเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหานี้ดูแล้วล่ะ



ลดปวดด้วยกายภาพบำบัด
ในช่วงเริ่มต้นการรักษาด้วยกายภาพบำบัด แพทย์จะทำการตรวจเพื่อหาที่มาและสาเหตุ รวมถึงความรุนแรงของอาการ เพื่อวางแผนการรักษา ควบคู่กับการดูแล และประเมินสุขภาพ โดยนักกายภาพบำบัด ซึ่งในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม จะมุ่งเน้นไปที่การลดอาการปวดเมื่อย การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทั้งยังจะมีการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันการกลับมาเป็น ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะได้รับการรักษาในรูปแบบและการใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น
  • อัลตราซาวด์บำบัด (Therapeutic Ultrasound) หรือการรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ที่ให้ความร้อนลึก ใช้ลดอาการปวด ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อในชั้นลึก และช่วยเร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมทั้งคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
  • รักษาด้วยแผ่นประคบร้อน (Hot pack) คือรูปแบบการรักษาที่ใช้ความร้อนของแผ่นประคบร้อน (Hot pack) เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดภายใต้ผิวหนัง ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
  • การนวดด้วยเทคนิคทางกายภาพบำบัด (Manual therapy) อีกหนึ่งวิธีการทำกายภาพบำบัดด้วยมือ เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการเจ็บปวด และเพิ่มความยืดหยุ่น โดยมีทั้ง massage และ mobilization การออกกำลังกายและการยืดกล้ามเนื้อ (Stretching) โดยนักกายภาพบำบัดการยืดกล้ามเนื้อ (stretching ) เพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะส่งผลต่ออาการปวด และยังช่วยเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวข้อต่อด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้ง่ายๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อให้เหมาะสม เช่น การไม่นั่งท่าเดียวนานๆ หรือพักสายตาจากการจ้องคอมฯ ติดต่อกัน รวมไปถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ สภาพแวดล้อมในการทำงานเองก็ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน การจัดระดับความสูงของโต๊ะทำงานและเก้าอี้ทำงานให้เหมาะสม วางคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา เป็นต้น

ทีนี้ต่อไปก็ไม่ต้องร้องว่า “ฉันเหมือนคนโชคร้ายที่โดนสาปไว้ให้พบแต่...ปวดหลัง” แล้วนะ

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->