BINGE Eating Disorder โรคกินไม่หยุด ที่หลายคนเป็นอยู่ แต่ไม่รู้ตัว

ปกติถ้าพูดถึงพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ เราก็มักจะนึกถึงพฤติกรรมการอดอาหาร ล้วงคอซะมากกว่า แต่ใครจะไปรู้ว่าบนโลกนี้มันมีโรค ‘กินไม่หยุด’ อยู่จริงๆ วันนี้เราเลยจะพาชาว HA มาเชคกันหน่อยว่าที่เรามีพฤติกรรมกินไม่หยุดไม่หย่อนอยู่เนี่ย มันเข้าข่ายโรคนี้กันหรือเปล่า


 
เมื่อ BED ไม่ได้แปลว่าเตียง
BED เป็นคำที่ย่อมาจาก Binge Eating Disorder หรือที่เรียกว่าโรคกินไม่หยุด ซึ่งด้วยตัวชื่อโรคมันก็ตรงตัวอยู่แล้วล่ะ นั่นก็คือโรคที่มีอาการกินอาหารในปริมาณที่มากผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ คือแม้ไม่หิวก็อยากจะกิน กินเข้าไปจนกว่าจะแน่นท้องและรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่เหลือให้อาหารแทรกซึมเข้าไปได้แล้วจริงๆ แต่ความพีคคือ ณ โมเม้นท์ที่กินก็จะรู้สึกฟิน แต่หลังจากนั้นก็จะมานั่งรู้สึกผิด และโกรธตัวเองที่กินอาหารมากเกินไป
 
เชคอาการสิ...แบบนี้แหละเข้าข่าย
หลักๆ แล้วเขาบอกว่าอาการหรือสัญญาณของโรคนี้ จะสังเกตได้จากการกินอาหารและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ลองมาดูกันว่ามีอาการอะไรกันบ้าง
 
# กินเยอะ กินบ่อย กินไม่หยุดจนกว่าท้องจะแตก อย่างที่บอกว่าคนที่เป็นโรคนี้ก็คือจะกินไม่หยุด กินเยอะ กินจุ๊กกินจิ๊ก กินมันทั้งวี่ทั้งวัน แบบที่ไม่สามารถคอนโทรลตัวเองได้ จะอิ่มจะหิวก็กินมันต่อไป แต่เมื่อไหร่ที่รู้สึกเหมือนพุงจะระเบิดออกมาแล้วจริงๆ หรือรู้สึกอึดอัดในระดับที่ไม่สามารถต้านทานได้อีกต่อไปถึงก็จะหยุดกิน และอีกหนึ่งจุดสังเกตคือ คนที่เป็นโรคนี้จะไม่มีพฤติกรรมที่ต้องการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ไม่ชอบออกกำลังกายหนักๆ ไม่ชอบใช้ยาระบาย และไม่มีการล้วงคอ รวมไปถึงคนที่ชอบกักตุนอาหารไว้ใกล้ตัว เช่น ตามเก๊ะที่ทำงาน ในห้องนอน บลาๆๆ
 
# ชอบกินข้าวคนเดียว อายที่จะร่วมโต๊ะกับคนอื่น
อาจด้วยความที่กินเยอะ กินหนักเลยทำให้คนที่เป็นโรคนี้มักจะชอบที่จะกินข้าวคนเดียว เพราะรู้สึกเขินอายเวลาที่กินอาหารเยอะๆ ต่อหน้าคนอื่น รวมถึงว่าพอกินเสร็จแล้วก็จะกลับมานั่งรู้สึกผิดกับตัวเองมีอารมณ์เศร้า หรือบางที่ก็โกรธตัวเองที่กินเยอะเกินไป
 
สาเหตุของโรคนี้...เกิดจากอะไรกันแน่
ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้คืออะไร แต่ก็มีการคาดเดาว่าอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น คนที่เป็นโรคอ้วน เพราะกว่าครึ่งของคนที่มีอาการกินไม่หยุดมักจะมีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว หรือบางคนมีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดและดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ บางคนขาดความมั่นใจในรูปร่างของตัวเอง หรือแม้แต่มีประวัติเสพติดการลดน้ำหนัก รวมไปถึงการมีภาวะทางจิต ไม่ว่าจะซึมเศร้า โรคเครียด ไบโพลาร์ หรือเคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างการสูญเสียครอบครัว หรือเคยประสบอุบัติเหตุ ถูกทำร้ายต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้เหมือนกัน 
 
เมื่อสารเคมีในสมองผิดปกติ...ก็เป็นตัวกระตุ้นได้เหมือนกัน
นอกจากนี้การที่มีพฤติกรรมการกินอาหารมากเกินไป ก็อาจเกิดจากภาวะที่ไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง อย่างเลปติน (Leptin) และเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนของความหิวที่หลั่งออกมามากผิดปกติ จนทำให้ร่างกายเกิดการอยากกินอาหารนั่นเอง และยังมีงานวิจัยที่พบว่าความรู้สึกเครียด โกรธ นอยด์ เศร้า หรือความรู้สึกในด้านลบก็สามารถกระตุ้นทำให้เกิดการหลั่งของสารเหล่านี้ได้เช่นกัน
 
ถ้าเป็นแล้ว...มีวิธีรักษายังไง
ในการรักษาโรคนี้คุณหมอจะเลือกวิธีการรักษาที่ตรงกับอาการและสาเหตุของโรคมากที่สุด ซึ่งในการรักษาแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป วิธีการรักษานั้นก็มีทั้งการใช้ยา เพื่อปรับความบาลานซ์ของสารเคมีในสมอง หรือการทำจิตบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ รู้และเข้าใจถึงสาเหตุและอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือคุณหมออาจจะแนะนำให้ปรับไลฟ์สไตล์เพื่อให้ร่างกายเฮลธ์ตี้มากขึ้น นอนให้พอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้เหมาะสม ถ้ารู้ตัวว่าเครียด ก็หาทางระบายออก 
 
เพราะการที่ปล่อยให้โรคนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้แย่ และตามมาซึ่งอีกสารพัดโรค เช่น ภาวะหยุดหายใจตอนนอน โรคกรดไหลย้อน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ แต่สำหรับใครที่แค่กินเยอะตามโอกาสเป็นครั้งคราว ก็อย่าเพิ่งนอยด์ไป เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ 
-->