VDO Call กับคุณหมอยังไง...ให้เข้าใจตรงกัน


ถ้าพูดถึงการไปโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เราจะนึกถึงภาพของความแออัดและเสียเวลา ไหนจะวนหาที่จอดรถ ไหนจะนั่งรอแพทย์ รอเรียกคิวจ่ายเงิน รอรับยา ที่รวมแล้วปาไปครึ่งวัน ทำให้หลายคนเลือกที่จะไปซื้อยามาทานเองจะได้ง่ายๆ จบๆ ซึ่งรู้หรือไม่ว่านั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจากภาวะดื้อยาโดยเฉพาะในกลุ่มยาต้านจุลชีพที่มีฤทธิ์ในการฆ่าแบคทีเรีย หรือที่เรียกง่ายๆ ว่ายาปฏิชีวนะประมาณปีละ 38,000 คนเลยทีเดียว


 
และยิ่งไปกว่านั้นในช่วงของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ทุกคนพยายามหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเป็นกลุ่มส่งผลให้หลายโรงพยาบาลออกแคมเปญใหม่เกี่ยวกับการปรึกษาและประเมินอาการเบื้องต้นผ่านเทคโนโลยี VDO call ซึ่งดูจากภาพรวมก็สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ใช้บริการอย่างเราพอสมควรแต่สิ่งหนึ่งที่ยังต้องพัฒนาให้เกิดศักยภาพในการรักษาสูงสุดคือเรื่องของการสื่อสาร
 
ลำพังแค่นั่ง Consult อาการแบบ face to face บางครั้งก็สร้างความงุนงงให้ทั้งฝ่ายแพทย์และผู้ป่วยพอตัวอยู่โดยเฉพาะบางครั้งทางผู้ป่วยเองก็จะมีศัพท์เทคนิคและเป็นศัพท์ที่คิดขึ้นมาเอง เช่น กล้ามเนื้อบริเวณปีกนก หรือความรู้สึกปวดแบบตึ้บ ตึ้บ ซึ่งศัพท์เหล่านี้อาจทำให้มีการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนโดยเฉพาะการ Consult ผ่านมือถือ วันนี้ทาง Health Addict จึงมีวิธีการเตรียมตัวตัวคร่าวๆ เพื่อใช้ในการให้ข้อมูลด้านสุขภาพแบบ Universal มาแนะนำ
 
จังหวะหัวใจ...บอกอะไรได้บ้าง
ปัญหาแรกที่มักพบคือการประเมินอาการในกลุ่มของโรคอายุรกรรมหรือโรคทั่วไป เช่น เป็นไข้ ปวดท้อง หรือปวดศีรษะ ให้ลองนึกภาพตามว่าเมื่อไปถึงโรงพยาบาลจะมีขั้นตอนหนึ่งต้องทำก่อนเข้าพบแพทย์คือการวัด Vital Signs หรือ สัญญานชีพที่ประกอบไปด้วย ชีพจร อุณหภูมิ ความดันโลหิต และอัตราการหายใจ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการปรึกษาผ่าน VDO Call ข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญมากแต่ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ นาทีนั้นจะให้หมอประเมินอาการเบื้องต้นก็เกรงว่าจะคลาดเคลื่อน ดังนั้นก่อนจะทำการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทร เราควรเตรียมค่าเหล่านั้นให้ครบถ้วน โดยเริ่มจากค่าแรกคือชีพจร ค่าชีพจรหรือเรียกง่ายๆ ว่าอัตราการเต้นของหัวใจต่อนาทีสำหรับผู้ใหญ่โดยประมาณอยู่ที่ 60-100 ครั้งโดยสามารถวัดด้วยตัวเองหรือเครื่องมือวัดอื่นๆ เช่น นาฬิกาข้อมือที่มี function ดังกล่าว 
 
อย่าวัดอุณหภูมิร่างกายจากความรู้สึก
ลำดับต่อมาคืออุณหภูมิร่างกายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรรู้ รู้ในที่นี้หมายถึงรู้จากตัวเลขจริงๆ ไม่ใช่จากความรู้สึก เพราะบ่อยครั้งที่เรารู้สึกว่าตัวร้อน แต่เมื่อวัดไข้แล้วร่างกายกลับมีอุณหภูมิที่อยู่ในค่ามาตรฐาน ดังนั้นควรหา Thermometer หรือปรอทวัดไข้ติดบ้านไว้ซักอันเผื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในยุคนี้หาซื้อได้ตั้งแต่ราคาหลักสิบถึงหลักร้อยตามแต่ function ของแต่ละเครื่อง ค่ามาตรฐานโดยประมาณจะอยู่ระหว่าง 36.5-37.4 องศาเซลเซียส และถ้าใครใช้ปรอทแบบปกติที่ไม่ใช่แบบอัตโนมัติ ก่อนใช้ก็อย่าลืมสลัดปรอทเพื่อให้มาตรวัดลงไปอยู่ด้านล่างสุดก่อนทุกครั้ง ซึ่งอวัยวะที่สามารถบอกอุณหภูมิร่างกายได้แม่นยำที่สุดคืออวัยวะที่อยู่ภายในร่างกายและที่นิยมกันมากที่สุดคือใต้ลิ้นนั่นเอง
 
เครื่องวัดค่าสัญญาณชีพแบบ 2 in 1
อุปกรณ์อีกอย่างที่ควรมีไว้คือเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติซึ่งถึงแม้ว่าราคาอาจจะสูงหน่อยแต่ถ้ามีไว้ก็คุ้มค่าเพราะเมื่อใช้เครื่องนี้แล้วจะได้ค่า Vital signs ถึงสองตัวนั่นคือค่าชีพจร (Heart rate) และความดันโลหิต (Blood pressure) ความพิเศษของค่าความดันโลหิตคือจะมีสองตัวเลขที่เข้าใจง่ายที่สุดคือตัวบนกับตัวล่าง ค่าตัวบนหมายถึงค่าแรงดันเลือดขณะหัวใจบีบตัว ส่วนค่าตัวล่างหมายถึงค่าแรงดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว โดยค่ามาตรฐานจะอยู่ระหว่าง 120/80 มิลลิเมตรปรอท ที่สำคัญก่อนทำการวัดค่าความดันควรนั่งนิ่งๆ อย่างน้อย 5 นาทีเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำที่สุด บางคนอาจจะมองว่าเครื่องนี้ไม่สำคัญแต่เชื่อเถอะว่าถ้ามีติดบ้านไว้จะเป็นประโยชน์ในสักวัน ยิ่งถ้ามีสมาชิกในบ้านมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ยิ่งต้องมีไว้เลยล่ะ
 
อย่าเอาหนังหรือละครมาเป็นต้นแบบด้านสุขภาพ
สำหรับค่าสุดท้ายคืออัตราการหายใจต่อนาที ซึ่งค่านี้สามารถนับได้เองโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องมือใดๆ เชื่อว่ามาถึงจุดนี้หลายๆ คนจะยกนิ้วขึ้นมาอังบริเวณรูจมูกเหมือนในหนังจีนที่ชอบเชคว่าใครหายใจหรือไม่ผ่านวิธีนี้ Health Addict ขอบอกเลยว่าวิธีนั้นเป็นวิธีที่ค่อนข้างโบราณไปแล้ว การนับจำนวนอัตราการหายใจที่ง่ายกว่านั้น คือการสังเกตการเคลื่อนไหวของทรวงอกหรือช่องท้องโดยเมื่ออกหรือท้องป่องคือการหายใจเข้าและเมื่ออกหรือท้องยุบคือการหายใจออก การนับจำนวนที่ถูกต้องคือการหายใจเข้าและออกนับเป็น 1 ครั้งโดยค่ามาตรฐานของผู้ใหญ่จะอยู่ระหว่าง 16-20 ครั้ง/นาที
 
รู้หรือไม่ความเจ็บปวดมีหลายระดับ
อีกข้อมูลสำคัญในการแจ้งแก่คุณหมอคือลักษณะหรือระดับความเจ็บปวด หลายครั้งที่เหล่าผู้ป่วยจะสรรหาคำคุณศัพท์อธิบายความรู้สึกที่มีไม่ว่าจะเป็นการปวดแบบตื้อๆ ปวดแบบสะท้าน หรือปวดแบบแปล้บๆ ลองเพิ่มการอธิบายโดยระบุระดับของการปวดโดยแบ่งระดับเป็น 11 ระดับ โดยให้ระดับ 0 เป็นจุดที่เจ็บนิดๆ และระดับ 10 คือการเจ็บปวดขั้นสูงสุดแบบทุรนทุรายเจียนตาย วิธีนี้จะช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับคุณหมอชัดเจนยิ่งขึ้นหรือคุณหมออาจจะมีรูปภาพให้ดูตามความเจ็บปวดของผู้ป่วยเรียงลำดับจากหน้ายิ้มไปถึงหน้าร้องไห้ ถ้าคุณมีอาการแบบไหนก็เลือกได้เลยตามอาการ
 
ฉลากนั้นสำคัญฉไน
การให้ข้อมูลเรื่องยาที่ทานไปก่อนนั้นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะเกือบ 80 เปอร์เซนของผู้ป่วยมักจะทานยาบรรเทาอาการก่อน จนกระทั่งอาการไม่ดีขึ้นถึงจะยอมไปหาหมอ บางคนที่เก็บฉลากยาไว้ก็ดีหน่อยซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มน้อย เพราะส่วนใหญ่คือจำได้แค่ชื่อยา และชื่อยานั้นดันเป็นชื่อยี่ห้อการค้าไม่ใช่ชื่อสามัญ จุดนี้ถ้าหมอพอคุ้นชินกับชื่อยี่ห้อก็พอช่วยประเมินคร่าวๆ ได้ แต่ถ้าเป็นตัวยาที่ไม่ค่อยนิยมก็เป็นเรื่องใหญ่ ร้ายกว่านั้นบางคนจำชื่อยี่ห้อไม่ได้แต่จำได้แค่สีและลักษณะของยาว่าเป็นรูปทรงอะไร ที่ว่าเดาชื่อยี่ห้อยากแล้ว เจอโจทย์นี้เข้าไปเล่นเอาซะหมอตาค้างไปเลยทีเดียว
 
ไม่ต้องรู้มากแต่ต้องพอรู้
ปิดด้วยกลุ่มโรคหรืออาการที่อยู่ในกลุ่มของกระดูก สรีระหรือกายภาพซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี ส่วนนี้ถ้าเกิดขึ้นกับอวัยวะด้านหน้าก็ง่ายเหมือนปอกกล้วยเพียงแค่เปิดกล้องแล้วชี้ให้คุณหมอดูแต่ถ้าเกิดขึ้นกับอวัยวะด้านหลังหรือบริเวณที่เอื้อมไปไม่ถึงล่ะก็ มักเกิดคำศัพท์ใหม่ๆ เช่น กล้ามเนื้อส่วนปีกนก ซึ่งแท้จริงแล้วส่วนนั้นคือกล้ามเนื้อส่วนสะบัก หรือบางคนก็มีขาเพิ่มขึ้นมาโดยบอกหมอว่าปวดขาหลังซึ่งคุณหมอบางคนก็เข้าใจเพราะคุ้นชินว่าคำนั้นหมายถึงต้นขาด้านหลัง เพื่อป้องกันความผิดพลาดเราเองก็ควรเรียนรู้คำศัพท์ที่ถูกต้องเหล่านั้นบ้าง ที่พูดมาไม่ถึงขั้นต้องไปเปิดข้อมูลกายวิภาคและบอกหมอว่าปวดกล้ามเนื้อพิริฟอมิส (Pirifomis muscle) แต่ให้รู้ว่าส่วนนั้นคือกล้ามเนื้อส่วนสลักเพชรหรือถ้าคุยกันแล้วยังไงก็ไม่เข้าใจวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือหยิบปากกามาวาดรูปคร่าวๆ ไม่ต้องสวยเท่ากับจิตรกร แวน โก๊ะ แต่ขอแค่ให้รู้ว่าส่วนไหนคือส่วนเว้าของเอวซึ่งเป็นส่วนแกนกลางลำตัว จากนั้นก็ชี้จุดให้หมอรับรองว่าการประเมินและการรักษาจะง่ายขึ้นแน่นอน
 
การประเมินอาการเพื่อรักษาโรคจะเต็มประสิทธิภาพถ้าลดปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างหมอกับผู้ป่วย ดังนั้นการรักษาจะมีประสิทธิภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับทีมแพทย์เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายผู้ป่วยเองก็ควรต้องให้ข้อมูลอาการอย่างถูกต้องและชัดเจนด้วยเช่นกัน 


 
-->