ตากระตุก บอกอะไรได้มากกว่าเรื่องของโชคลาง

“ขวาร้าย ซ้ายดี” ก็เพราะคิดแบบนี้ไง เวลาที่เกิดอาการตากระตุกขึ้นมาทีไร ถึงไม่เคยได้เอะใจถึงปัญหาสุขภาพ ยิ่งถ้ากระตุกข้างซ้ายด้วยแล้ว ก็คงแทบไม่อยากให้หยุดเลยทีเดียวใช่มั้ยล่ะ บอกเลยว่าความเชื่อแบบนี้ต้องพับเก็บไปก่อน เพราะจริงๆ แล้วอาการตากระตุกถี่เกินไปอาจบอกความผิดปกติที่คุณคาดไม่ถึงเลยก็ได้



หลากหลายที่มา เรื่อง ‘ตากระตุก’
ที่ผ่านมาได้มีงานวิจัยหลายงานพยายามศึกษาว่าอาการตากระตุกมีความเชื่อมโยงกับพันธุกรรมหรือไม่ แต่ก็พบว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับพันธุกรรม รวมถึงได้มีผลการศึกษาโดยคณะประสาทวิทยาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยบารี ในอิตาลี พบว่า การดื่มกาแฟวันละ 1-2 ถ้วย อาจจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหนังตากระตุกได้ โดยระบุว่าอาการกระตุกมักเกิดขึ้นช้าลงราว 1.7 ปี ต่อกาแฟ 1 แก้วที่ดื่มในแต่ละวัน ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะกาเฟอีนในกาแฟไปขัดขวางการทำงานของตัวรับในสมองที่มีส่วนทำให้เกิดอาการกระตุก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ดังนั้นเราจึงต้องให้ พญ. ปารีณา ชัยทนุวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจักษุ ประจำโรงพยาบาลราชวิถี มาไขข้อข้องใจว่าจริงๆ แล้วอาการตากระตุกสามารถบอกอะไรที่ไม่ใช่แค่เรื่องโชคลางได้บ้าง

“ตากระตุก” ที่แท้เป็นแบบนี้
ในทางการแพทย์ คุณหมอบอกว่า ‘ภาวะตากระตุก หมายถึง ภาวะที่มีการสั่น กระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณตาที่เกิดขึ้นเอง โดยผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมได้ อาจมองเห็นหรือมองไม่เห็นแต่ผู้ป่วยรู้สึกได้ก็ได้ อาการตากระตุกมักเกิดที่กล้ามเนื้อมัดเล็กรอบดวงตา โดยมักสังเกตเห็นได้มากกว่าที่เปลือกตาล่าง อาการตากระตุก หรือเปลือกตากระตุกอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะและหายเองได้ภายใน 1-2 วัน โดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่หากมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน และกระทบต่อชีวิตประจำวันอาจบ่งถึงโรคบางโรคที่ควรมาพบแพทย์’



ต้นเหตุการกระตุกที่มากกว่าเรื่องโชค
คุณหมอเล่าว่าสาเหตุของการกระตุกก็มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ แต่หลักๆ เลยถ้าเป็นโรคทางตา ในเคสที่กระตุกบ่อยและนานก็จะมี 3 แบบ คือ 
  • ากระตุกทั้งสองตา หรือในที่นี้หมายถึง Benign Essential Blepharospasm เป็นโรคที่มีการเคลื่อนไหว หรือ กระตุกของกล้ามเนื้อตาที่ผิดปกติ ซึ่งปกติจะไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด โดยการกระตุกลักษณะนี้สามารถเกิดได้จากความเครียด นอนดึก หรือมีความวิตกกังวล รวมถึงอาการตาแห้ง หรือผิวที่กระจกตาไม่เรียบที่ทำให้เคืองตา จนคนไข้ต้องกระพริบหรือบีบตาบ่อยๆ กลายเป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นมาได้ เบื้องต้นการกระตุกชนิดนี้ไม่ได้มีสาเหตุที่น่ากลัว แต่อาจมีผลกับชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  • ตากระตุกที่เกิดขึ้นกับใบหน้าครึ่งซีก ถ้าเป็นการกระตุกในลักษณะนี้จะเริ่มเป็นโรค ซึ่งก็จะมีสาเหตุที่เกิดจากการที่เส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เรียกว่าเส้นประสาทเส้นที่ 7 ของสมองโดนกระทบกระเทือน โดยอาจจะเกิดจากการมีก้อนเนื้อบริเวณนั้น หรือมีเส้นเลือดไปกดโดน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องของการมีเส้นเลือดไปกดโดน หรือมีประวัติเคยเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือ BELL'S PALSY ก็ทำให้มีโอกาสเกิดอาการกระตุกครึ่งใบหน้าได้ และอาการนี้สามารถเป็นได้ทุกช่วงอายุ โดยอาจจะเริ่มจากอาการตากระตุกข้างเดียวก่อน แต่ที่ปากอาจจะยังกระตุกไม่ชัดเจน หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลามมาที่ปากได้ และยังอาจเกิดอาการอื่นๆ ตามมาได้อีก นอกจากนี้เนื่องจากเส้นประสาทเส้นที่ 7 ที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าจะอยู่ใกล้ๆ กับเส้นประสาทของหู ดังนั้นถ้าเป็นสาเหตุจากการมีก้อนเนื้อไปกดทับก็อาจจะทำให้หูข้างเดียวกันนี้ได้ยินเสียงเบาลงได้เหมือนกัน
  • ตากระตุกรุนแรง ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งใบหน้า โดยการกระตุกในลักษณะนี้มักสัมพันธ์กับโรคทางอายุกรรมประสาท จำเป็นต้องให้หมออายุรกรรมประสาทตรวจดูเพื่อทำการรักษา 



กระตุกแบบนี้ เห็นทีจะปล่อย (ไว้) ไม่ได้
ถ้าเป็นกล้ามเนื้อตากระตุกที่เป็นชั่วขณะไม่นานนั้น สามารถหายเองได้ ก็อาจจะไม่ต้องมาพบแพทย์ อย่างเคสที่มีการกระตุกที่ตาสองข้างก็จะไม่ได้น่ากลัวมากเท่าไหร่ ยกเว้นแต่ว่ากระตุกเยอะๆ บ่อยๆ จนรู้สึกว่ารบกวนชีวิตประจำวัน คุณหมอก็แนะนำให้เข้ามาตรวจตาดูหน่อยจะดีกว่าเผื่อว่ามีอาการตาแห้งหรือโรคทางตาอื่นๆ หรือถ้าเป็นการกระตุกครึ่งหน้าก็ควรจะต้องไปพบแพทย์ เพราะอาจจะพบว่ามีโรคแฝงอยู่ เช่น เป็นเนื้องอกหรือเส้นเลือดกดทับ อย่างถ้าเป็นเนื้องอกก็คงต้องผ่าตัดที่สมองด้านใน ‘ปกติถ้าหมอเจอตัวคนไข้ที่มีอาการกระตุกครึ่งหน้า ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มต้นด้วยการไปเอ็กซ์เรย์สมองก่อน เพื่อดูว่าไม่มีก้อน หรือบางคนถ้ายังไม่อยากเอ็กซ์เรย์สมองก็จะส่งไปตรวจเรื่องหูก่อน เพราะเส้นประสาททั้งสองเส้นนี้อยู่ใกล้กัน ดังนั้นถ้ามีก้อนเนื้อก็จะโดนทั้งสองเส้นเลย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสาเหตุจากการที่เส้นเลือดมากดมากกว่า’ ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่จะไม่ได้รักษาโดยการเอาอะไรไปกั้นเส้นเลือด เพราะถือว่าเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างเสี่ยง จึงเลือกเป็นการรักษาที่ปลายทาง คือเป็นการฉีดโบท็อกซ์ เพื่อหยุดอาการกระตุกที่เกิดขึ้น ซึ่งการฉีดโบท็อกซ์จะสามารถฉีดได้ทั้งคนไข้ที่กระตุกครึ่งหน้าและคนไข้ที่กระตุกสองตาที่เป็นมากๆ ก็ทำได้เช่นเดียวกัน
-->