ปวดไมเกรน...กินยาผิดมีสิทธิ์ตายได้

 
“ไมเกรน” อาการที่ใครไม่เป็นไม่มีวันเข้าใจ เพราะอาจคิดว่าเป็นแค่อาการปวดหัวธรรมดากินยานอนพักแป๊บเดียวก็หาย คงไม่ได้อะไรมากมาย แต่รู้มั้ยว่าไมเกรนสามารถพบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อเกร็ง (Tension type headache) โดยทีมนักวิจัยจากโรงพยาบาล Rangueil ประเทศฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษาวิจัยจนพบว่าสมองส่วนไฮโปธาลามัสอาจมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบได้ 
 
เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่เคยมีอาการ “ไมเกรน” จึงถือเป็นเรื่องปวดหัวที่น่าปวดหัวไม่น้อยเลย ด้วยอาการปวดที่ไม่ได้แค่สร้างความรำคาญ แต่ยังทุกข์ทรมานจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร ครั้นพอกินยาแก้ปวดไปแล้วก็แทบไม่ช่วยอะไร ดีไม่ดีถ้ากินยาผิดก็อาจส่งผลกระทบถึงชีวิตไปอีก ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องไปไขข้อข้องใจอาการปวดไมเกรน พร้อมเช็กให้แน่ใจว่ายาที่กินอยู่นั้นถูกแล้วหรือเปล่า กับ พญ.ลลิตพรรณ สุดประเสริฐ แพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและสมอง จากโรงพยาบาลพญาไทนวมินทร์


 
ไมเกรนเกิดจากอะไร
คุณหมออธิบายว่า “ไมเกรน” เป็นโรคปวดศีรษะที่เกิดจากภาวะของสารซีโรโตนินหรือสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลชั่วคราวทำให้ตัวเส้นประสาทไวต่อสิ่งกระตุ้น เส้นเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมอง มีการบีบตัวและคลายตัวมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ โดยทางการแพทย์ไมเกรนถือเป็นโรคปวดศีรษะชนิดที่ไม่เจอความผิดปกติในสมอง มักจะเกิดจากสาเหตุที่มากระตุ้น สิ่งกระตุ้น หรือสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดไมเกรน เช่น แสงแดด อากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด 
 
สำหรับผู้หญิงก็อาจจะมีอาการในช่วงมีประจำเดือน ที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงตัวกระตุ้นอื่นๆ เช่น ออฟฟิศซินโดรม กล้ามเนื้อตึงตัว การปวดตึงบริเวณคอบ่าไหล่มากๆ อาหารการกินบางประเภท เช่น แอลกอฮอลล์ ผงชูรส ชีสในบางคน หรือคาเฟอีน แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามกินคาเฟอีนในคนที่เป็นไมเกรน เพียงแต่หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะกระตุ้นอาการไมเกรนให้กำเริบได้ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของความเครียด การอดนอน หรือการนอนผิดเวลา แม้ว่าจะนอน 8 ชั่วโมงแล้วก็ตาม แต่ถ้ามีการเปลี่ยนเวลานอนก็อาจจะกระตุ้นอาการไมเกรนให้เกิดขึ้นได้
 
ปวดหัวแบบไหนเรียกว่า...ไมเกรน
อาการปวดไมเกรนจะมีลักษณะแบบปวดตุ้บๆ บริเวณขมับ โดยความรุนแรงของการปวด จะปวดในระดับปานกลางขึ้นไปจนถึงปวดมาก การปวดสามารถปวดได้ทั้งข้างเดียวและ 2 ข้าง รวมถึงสามารถสลับข้างได้ ก็คือไม่จำเป็นว่าครั้งนี้ปวดข้างขวาแล้วจะต้องปวดข้างขวาไปตลอด สามารถเกิดได้บ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะสามารถกินระยะเวลาในการปวดได้นานตั้งแต่ 4 – 72 ชั่วโมง หรือ 3 วันเลยทีเดียว นอกจากนี้การใช้ชีวิตประจำวันปกติ เช่น การเดิน การวิ่ง หรือการทำกิจวัตรประจำวัน ยังสามารถกระตุ้นอาการปวดให้เป็นมากขึ้น และมีอาการร่วมอื่นๆ ได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน กลัวแสง กลัวเสียงดัง หรือกลัวแสงจ้า โดยการปวดจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้


 
#ระยะที่ 1 Prodrome หรือ ระยะบอกเหตุล่วงหน้า โดยอาการของ Prodrome นี้ก็จะมีตั้งแต่อารมณ์แปรปรวน อยากอาหารมากขึ้น เริ่มปวดตึงบริเวณต้นคอ รวมถึงปัสสาวะบ่อยมากขึ้นด้วย
 
#ระยะที่ 2  Aura หรือ ระยะอาการนำ มักจะแสดงอาการ 5 – 30 นาทีขึ้นไป ก่อนจะตามด้วยอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาการในระยะ Aura นี้ก็จะมีอาการมองเห็นแสงระยิบระยับ ตาพร่า หรือรู้สึกชาบริเวณแขนหรือรอบปาก ในบางรายอาจจะมีอาการพูดติดขัดร่วมด้วย แต่ทั้งนี้อาการชา หรืออาการพูดติดขัดก็อาจจะนำไปสู่โรคเส้นเลือดในสมองตีบได้เช่นกัน ดังนั้นหากว่ามีอาการนานเกินกว่า 40 – 50 นาที ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็กในเรื่องของเส้นเลือดในสมอง 
 
#ระยะที่ 3 Migraines Attack คือระยะที่มีอาการปวดศีรษะ ในลักษณะปวดตุ้บๆ บริเวณขมับ สามารถปวดได้ทั้งข้างเดียวและ 2 ข้าง รวมถึงสามารถสลับข้างได้ และอาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ ได้เช่นกัน

#ระยะที่ 4 Postdrome คือระยะที่เข้าสู่ระยะปกติ ระยะนี้คนไข้จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หลังจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดศีรษะมาแล้ว ก็จะมีอาการเพลียเหนื่อยจนอยากนอนทั้งวัน 
โดยในผู้ป่วยแต่ละรายก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอาการครบทั้ง 4 ระยะ อาจจะมีเพียงแค่ระยะใดระยะหนึ่ง หรือมีแค่การปวดศีรษะอย่างเดียว โดยที่ไม่มีระยะอื่นๆ ก็ได้ 
 
หยุด! อาการปวดไมเกรน
การรักษาอาการไมเกรน จะแบ่งออกเป็น รักษาด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยา โดยการรักษาที่ไม่ใช้ยาก็สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นก่อน แล้วจึงค่อยไปทำการรักษาโรคที่เป็นร่วม เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคการนอนหลับผิดปกติ ก็จะทำให้อาการไมเกรนเกิดน้อยลงได้ แต่สำหรับการรักษาโดยการใช้ยา ก็จะแบ่งเป็น การใช้ยาบรรเทาอาการปวด และยาป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการไมเกรนบ่อยๆ หรือทำให้อาการปวดแต่ละครั้งเป็นน้อยลง ซึ่งในยาบรรเทาอาการปวด ที่ใช้เฉพาะเวลามีอาการปวดแต่ละครั้ง ก็จะแบ่งแยกไปอีก คือ เป็นยาลดอาการปวดทั่วๆ ไป เช่น กลุ่มพาราเซตามอล หรือกลุ่มยาลดอาการปวด การอักเสบที่เรียกกันว่าเอ็นเสด (NSAIDs) ที่คนรู้จักกันโดยทั่วๆ ไปก็ ได้แก่ ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) นาพร็อกเซน (naproxen) เซเลค็อกสิบ (celecoxib) และยาแก้ปวดเฉพาะเจาะจงต่อไมเกรนอย่างกลุ่มยาเออร์กอตตามีน (Ergotamine) หรือกลุ่มทริปแทน (Triptan) นั่นเอง
 
ใช้ยาไม่ระวัง… ร่างพังไม่รู้ตัว
ยา แม้ว่าจะใช้เพื่อรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย แต่หากใช้ไม่ระวังก็อาจนำมาซึ่งผลข้างเคียงได้ ในกรณีของไมเกรนก็เช่นกัน ซึ่ง พญ.ลลิตพรรณ ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงผลข้างเคียงของยารักษาไมเกรนแต่ละชนิดไว้ดังนี้ 



ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ถ้ากินบ่อยๆ อาจจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะ ทำให้กระเพาะอาหารมีแผล หรือถ้าเกิดกินติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต 
ยากลุ่มเออร์กอตตามีน (Ergotamine) ยากลุ่มนี้จะเป็นยาแก้ปวดลดไมเกรนที่ทำให้อาการปวดลดลงได้ค่อนข้างเร็ว เนื่องจากการทำงานของยานี้จะทำให้เส้นเลือดหดตัว ซึ่งก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะทำให้เส้นเลือดหดตัวเฉพาะบริเวณที่นำมาซึ่งอาการปวดไมเกรนอย่างเดียว ดังนั้นถ้าใช้ในปริมาณมากก็จะทำให้เกิดเส้นเลือดหดตัวหลายบริเวณได้ ยิ่งหากว่าใช้ร่วมกับยากลุ่มอื่นที่เสริมฤทธิ์ของยาเออร์กอตตามีน (Ergotamine) ก็จะส่งผลทำให้ปลายมือปลายเท้าขาดเลือดจนเกิดอาการนิ้วดำได้ 
ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) เป็นกลุ่มยาที่ให้ผลการรักษาค่อนข้างดีกว่ากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) รวมถึงส่งผลข้างเคียงในเรื่องของกระเพาะอาหารเป็นแผลน้อยกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงต้องควรระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเส้นเลือดในสมอง และเส้นเลือดหัวใจตีบมาก่อน 
 
ทั้งนี้ การใช้ยาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ควรจะต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากการใช้ยาแก้ปวดที่มากเกินไปก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการใช้ยาได้ หรืออาการติดยาตามมาได้ ซึ่งยาแต่ละตัวก็จะมีระยะเวลาในการใช้ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะตามมาแตกต่างกันไป คือ ในกลุ่มพาราเซตตามอล หรืออะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เมื่อใช้มากกว่า 15 วันต่อเดือน ติดต่อกันมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป และกลุ่มเออร์กอตตามีน (Ergotamine) หรือกลุ่มทริปแทน (Triptan) จะมีระยะเวลาการใช้ที่มากกว่าหรือเท่ากับ 10 วันต่อเดือนติดต่อกันมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
 
ไมเกรนรักษาได้
“ไมเกรนเป็นโรคที่รักษาได้” คือคำยืนยันจาก พญ.ลลิตพรรณ ที่เสริมทิ้งท้ายถึงการรักษาดูแลตัวเองในผู้ป่วยไมเกรน ดังนี้
ไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะที่จริงๆ แล้วไม่ได้มีอันตรายต่อตัวเนื้อสมอง เพียงแต่ว่าการปวดศีรษะแต่ละครั้งสามารถสร้างความรำคาญ และรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้มาก ดังนั้นการป้องกันไม่ให้อาการกำเริบจึงเป็นการดีกว่าที่จะปล่อยให้อาการกำเริบแล้วค่อยมารักษา ซึ่งการรักษาไมเกรนที่ได้ประสิทธิภาพก็คือ 
• ปรับพฤติกรรม และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น หรือสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวจากไมเกรน และเมื่อเกิดการปวดขึ้นแต่ละครั้งก็ให้จดบันทึกการปวด รวมถึงการใช้ยาแต่ละครั้ง ทำเป็นไมเกรนไดอารี่ เพื่อให้แพทย์ได้พิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย 
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้สมองได้ปล่อยสารแห่งความสุขหรือสารเอนโดรฟีน ที่จะช่วยป้องกันอาการกำเริบของไมเกรนได้ แต่ก็ต้องไม่หักโหมเกินไป เพราะการออกกำลังอย่างหักโหมเกินไปก็อาจจะกระตุ้นอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นกัน 
• ติดตามการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ กินยาตามที่แพทย์สั่ง ถ้าจำเป็นต้องได้รับยาป้องกันก็ควรจะรับประทานสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่มีอาการก็หยุดยาป้องกันก่อนครบกำหนด เพราะแบบนั้นจะทำให้ยาป้องกันไม่ได้ออกฤทธิ์หรือไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น ส่วนการกินยาแก้ปวดก็ควรใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวด และไม่ใช้ในระดับที่มากจนเกินไป
-->