รักษา COVID-19 หายใช่ว่าจบ! มารู้จัก Post COVID-19 Syndrome กันดีกว่า

เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราแตกต่างกัน ความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ COVID-19 จึงแตกต่างกันอย่างไม่ต้องสงสัย และไม่ต้องไปหาคำตอบจะดีไหม… เพราะปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาใดที่ไขข้อสงสัยว่าทำไม COVID-19 จึงแสดงอาการที่รุนแรงไม่เท่ากัน แม้เป็นสายพันธุ์เดียวกัน ติดเชื้อจากสถานที่เสี่ยงเดียวกันก็ตาม
 
แต่ที่แน่ๆ เลยก็คือเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีรายงานว่า กว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาในโรงพยาบาล ณ เมืองหวู่ฮั่น ยังคงมีอาการอย่างน้อย 1 อาการ ภายใน 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในปี 2563 ของประเทศอิตาลี ที่พบว่ากว่า 87.4% ของผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาโรค COVID-19 ยังคงมีอาการอย่างน้อย 1 อาการ ภายใน 2 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล เช่นเดียวกับงานวิจัยทางการแพทย์ชิ้นหนึ่งของสหราชอาณาจักร (UK) ที่พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย COVID-19 ในอังกฤษที่ตรวจไม่พบเชื้อแล้วถูกปล่อยตัวจากโรงพยาบาลให้กลับบ้าน ยังคงมีอาการยาวนานถึง 3 เดือน สถาบันแห่งชาติเพื่อการดูแลสุขภาพและความเป็นเลิศ (NICE) จึงเรียกอาการเรื้อรังนี้ว่า “ภาวะลองโควิด" (LONG COVID) หรือ Post COVID-19 Syndrome นั่นเอง


 
เชื้อหมดแต่ยังไม่จบ อาการ Post COVID-19 Syndrome ที่ต้องรู้
นพ.วินัย โบเวจา หัวหน้าศูนย์สุขภาพปอด อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 ให้ข้อมูลว่า Post COVID-19 Syndrome คืออาการที่ อาจ เกิดขึ้นได้หลังหายจากการติดเชื้อ COVID-19 ไปแล้ว 4-6 สัปดาห์ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในผู้ป่วยทุกคน โดยอาการที่พบส่วนใหญ่ก็จะมี
• อ่อนเพลีย ไม่มีแรง 
• ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ 
• หายใจเหนื่อยหอบ 
• ปวดหัว มีไข้ 
• รวมไปถึงมีอาการทางจิตใจ อย่างหดหู่ ซึมเศร้า เนื่องจากผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจจากการเจ็บป่วย
พูดง่ายๆ ก็คือมีอาการคล้ายกับตอนติดเชื้อ แม้ว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้วก็ตาม
ซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อร่างกายได้พักฟื้นอย่างเต็มที่


 
Post COVID-19 Syndrome ที่ไม่ได้เกิดจาก COVID แต่อาจเป็นผลข้างเคียงของการรักษา
คุณหมอ อธิบายว่าเชื้อ COVID-19 พุ่งเป้าโดยตรงไปที่ปอด ทำให้ปอดเกิดการอักเสบ เมื่อปอดอักเสบก็จะทำให้การนำออกซิเจนเข้าสู่เลือดไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งก็จะส่งผลให้ระบบการทำงานภายในร่างกายค่อยๆ ล้มเหลวลง หมอจึงต้องเร่งต้านเชื้อไวรัสและควบคุมการอักเสบของปอดให้คงที่อย่างรวดเร็ว นั่นทำให้ผู้ป่วยต้องรับยาในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด หากมีโรคเบาหวาน และในคนที่มีอาการหอบเหนื่อยมาก เคลื่อนไหวลำบาก ก็อาจเกิดภาวะปอดแฟ่บ เนื่องจากการกดทับบริเวณเดิมติดต่อกันนานๆ ทำให้ออกซิเจนหมุนเวียนในปอดได้น้อยลง และอาจมีภาวะกล้ามเนื้อลีบ หรือเกิดแผลกดทับได้ ซึ่งเมื่อรักษาหายก็ต้องอาศัยระยะเวลาให้ปอดและระบบภูมิคุ้มกันได้ฟื้นตัว
 
ฟื้นฟูปอดยังไงให้กลับมาฟิต เมื่อหายจาก COVID-19
1. นอนพักให้มากที่สุด อย่างน้อย 10-12 ชั่วโมงต่อวัน
2. งดการใช้แรงทุกชนิด 
3. ดื่มน้ำให้มาก เพราะน้ำจะช่วยลดการอักเสบในร่างกาย เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับปอด ลดภาวะเมือกคั่งในปอดได้
4. บริหารปอด ด้วยการ
      ►ฝึกนอนคว่ำ
      ►ฝึกหายใจเข้าลึกๆ ให้สุดปอด แล้วกลั้นไว้สัก 3 วินาทีจึงปล่อยลมหายใจออก
      ►แกว่งแขน
5. กินอาหาร ที่ย่อยง่าย กินน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น ลดการทานเนื้อสัตว์ เพราะการย่อยเนื้อสัตว์ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานในการเผาผลาญมาก ปอดจึงต้องทำงานหนักขึ้น 
6. หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อาหารมันๆ อาหารรสจัด รวมไปถึงกะทิ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดการไอ เพราะการไอจะยิ่งส่งผลให้ปอดอักเสบเพิ่มมากขึ้น
7. งดการออกกำลังกาย รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการกิจกรรมสานสัมพันธ์บนเตียง อย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะไม่รู้สึกหอบเหนื่อยเวลาหายใจ
-->