เคลียร์ชัดๆ หน้ากากผ้าป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาได้มั้ย?


ในช่วงเวลาที่ ‘มาสก์’ คุณภาพดีกลายเป็นสินค้าขาดตลาด ที่แม้แต่โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์เองยังขาดแคลน หลายคนเลยหันมาใช้ ‘มาสก์ผ้า’ ซึ่งสามารถเย็บเองได้ ซักได้ และใช้ซ้ำได้ แต่ว่าจริงๆ แล้ว หน้ากากผ้าพวกนี้ มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคได้แค่ไหนกัน วันนี้นายแพทย์กวี ชินศาศวัต อายุรแพทย์ประจำคลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 มีคำตอบ



ก่อนอื่น ... ต้องรู้จักมาตรฐาน ASTM ก่อน
การแบ่งประเภทหน้ากากอนามัยนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ตามมาตรฐานของ ASTM (American Society for Testing and Materials) โดยหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพมากที่สุดคือ ASTM ระดับ 3 ได้แก่ Surgical Mask หรือหน้ากากที่ใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสามารถป้องกันอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอนได้ถึง 98% และป้องกันของเหลวได้ ส่วน ASTM ระดับ 2 และ 1 จะมีความสามารถในการป้องกันน้อยลงตามลำดับ ในขณะที่หน้ากากผ้านั้นถือเป็นหน้ากากสมรรถภาพต่ำ ที่ยังไม่มีการวัดประสิทธิภาพอย่างจริงจัง

‘หน้ากากผ้า’ ปัจจุบันไม่ถูกใช้ในทางการแพทย์แล้ว
ถ้าพูดถึงหน้ากากผ้ากับวงการแพทย์ คุณหมอกวีได้ให้ข้อมูลว่า “หน้ากากผ้าในปัจจุบัน โดยทั่วไปไม่ใช้แล้วในวงการแพทย์หรือสาธารณสุข แต่บางแห่งที่ขาดแคลนอาจจะมีการใช้บ้างในยามจำเป็น” ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า หน้ากากที่ใช้ในทางการแพทย์จะต้องเป็นหน้ากากที่ป้องกันของเหลวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการผ่าตัดที่มีเลือดของผู้ป่วยออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้หน้ากากมาตรฐาน ASTM ระดับ 3

‘หน้ากากผ้า’ ป้องกันเชื้อโรคไม่ได้
เมื่อถามถึงประเด็นสำคัญว่าหน้ากากผ้าสามารถป้องกันเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคต่างๆ ได้มั้ย “โดยทั่วไป หน้ากากผ้าป้องกันเชื้อโรคไม่ได้ นอกจากทำชนิดหลายๆ ชั้น อาจจะป้องกันได้บ้าง แต่ถ้าเป็นน้ำหยดใหญ่ก็ยังสามารถกระเด็นซึมเข้าไปได้อยู่ดี” เพราะเชื้อโรคอย่างไวรัสโคโรนานั้น จะมากับละอองเสมหะ หรือสารคัดหลั่งต่างๆ เมื่อมากระทบกับผิวของหน้ากากผ้าซึ่งไม่ได้กันน้ำอยู่แล้ว ทำให้เชื้อไวรัสสามารถซึมเข้าไปภายในหน้ากากได้อย่างง่ายดาย

ถ้าต้องใช้ ควรทำให้หนาขึ้น อาจช่วยป้องกันได้บ้าง
ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกหรือไม่สามารถหาหน้ากากอนามัยได้จริงๆ ก็อาจจะสามารถใช้หน้ากากผ้าทดแทนได้ชั่วคราว โดยอาจจะใส่ซ้อนกันหลายๆ ชั้น หรืออาจจะนำทิชชู่หรือสำลียัดไว้ด้านในเพื่อให้เป็นตัวช่วยในการกรองเชื้อโรคอีกชั้นหนึ่ง ก็จะพอป้องกันได้บ้าง ถึงแม้ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าหน้ากากอนามัยแบบมาตรฐาน แต่ก็ดีกว่าไม่ป้องกันเลย

แต่ถึงแม้จะมีหน้ากากอนามัย การหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัดก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำในช่วงนี้ ที่สำคัญคือหมั่นล้างมือให้สะอาดและงดเอามือไปสัมผัสบริเวณใบหน้า แค่นี้ก็ป้องกันตัวเองจาก COVID-19 ไปได้พอสมควรแล้ว


ติดตามอัพเดทตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ได้ที่นี่

 
-->