เมื่อ “โรคเบาหวาน” เป็นเรื่องสำคัญของคนสูงวัย

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่โลกของคนสูงวัยอย่างปฏิเสธไม่ได้และแน่นอนว่าเราควรให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพกับคนกลุ่มนี้ให้มากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) ระบุว่า ปี 2564 มีผู้ป่วยจำนวน 537 ล้านคนและคาดว่าในปี 2573 จะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และโรคเบาหวานมีส่วนทำให้เสียชีวิต สูงถึง 6.7 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี และมีผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ในระบบทะเบียน 3.3 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งหมด 16,388 คน
ซึ่งเบาหวานยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรคติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ที่ส่งผลโดยตรงกับกลุ่มคนสูงวัยและเรามักพบผู้สูงอายุในบ้านของเรามีความสุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นโรคนี้กันมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นเราควรจะหาวิธีการป้องกันและดูแลรักษาผู้สูงอายุที่บ้านของเราด้วยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ โดย นพ.ชนกนัยน์ อรัญวาสน์ (หมอทิม) ผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มโรคเรื้อรัง (NCDs) และเจ้าของเพจ ‘เพื่อนเบาหวาน’



# ทำความรู้จักเบาหวานกันสักนิด
พอเราอยากรู้ที่มาที่ไปว่า ‘เบาหวาน’ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรก็คงเหมือนเรากลับไปอ่านประวัติศาสตร์อะไรสักอย่างที่มีอายุหลายๆ ร้อยปีหรือพันปี เช่นเดียวกับโรคเบาหวานที่มีอายุเทียบเท่ากันเลย โดยคุณหมอได้สรุปข้อมูลให้เราฟังแบบเจาะลึก

“ต้องขอเล่าที่มาที่ไปของโรคเบาหวานกันสักนิดนึงก่อน จริงๆ มันเริ่มมาเป็น 100-200 ปีแล้ว แต่ก่อนโรคกลุ่มนี้เราจะเจอกันในกลุ่มคนอายุน้อยๆ พบว่าคนไข้เหล่านี้มีปัญหาเรื่องพละกำลัง ไม่มีแรง อ่อนเพลีย กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน และเวลาปัสสาวะแล้วจะมดขึ้น ทำให้มีการสันนิฐานว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีน้ำตาลออกมาจากปัสสาวะ ซึ่งจะมีอาการโคม่าและเสียชีวิตในเวลาต่อมา นี่คือสมัยแบบดั้งเดิมที่เราได้รู้จักเบาหวานและก็ยังไม่มียารักษาเลยในช่วงเวลานั้น

หลังจากยาตัวแรกที่ชื่อว่า ‘อินซูลิน’ แบบฉีด ได้ถูกคิดค้นขึ้นมา เด็กที่เคยมีอาการโคม่าจากน้ำตาลในเลือดที่สูงก็มีอาการที่ดีขึ้น ยาอินซูลินก็เลยถูกกำหนดขึ้นมาว่า คนที่มีน้ำตาลในเลือดสูงหรือคนที่ปัสสาวะออกมาแล้วมดขึ้นก็จะรักษาหายด้วยยาที่มีชื่อว่า ‘อินซูลิน’ เมื่อเวลาผ่านไปเราก็เริ่มพบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ในกลุ่มคนชั้นสูงมากขึ้น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีกำลังเพียงพอในการเข้าถึงอาหารที่หลากหลาย โดยรูปแบบการรักษาก็ยังคงใช้อินซูลินแบบฉีดเหมือนเดิม แต่กลับพบว่าประสิทธิภาพในการรักษามันไม่เหมือนเดิม ซึ่งมีความแตกต่างกับกลุ่มเด็กที่สามารถรักษาให้หายขาดได้

หลังผ่านช่วงระยะเวลานั้นมา ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้เราสามารถตรวจแอนติบอดี้ของร่างกาย ก็คือภูมิคุ้มกันที่มีความผิดปกติได้ เราจึงพบว่า คนที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมันมีคนอยู่ 2 ประเภท คือ กลุ่มภูมิคุ้มกันผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจเจอในเลือด กับอีกกลุ่มนึงคือ ตรวจไม่เจอภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเลย ดังนั้นสิ่งที่ควรรู้ในกลุ่มของคนมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือว่า เบาหวาน ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มแบบง่ายๆ ได้แก่


- เบาหวานประเภทที่ 1 กลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ
- เบาหวานประเภทที่ 2 กลุ่มคนที่ไม่พบความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง



# ทำไมผู้ป่วยเบาหวานส่วนมากมักเป็นผู้สูงอายุ
ถือเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมผู้สูงอายุถึงเป็นเบาหวานกันเยอะ หรือบางคนก็มีโอกาสที่จะเป็น เพราะอาจจะตรวจพบในช่วงที่ตัวเองมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปแล้ว เรื่องนี้เราได้คำตอบจากคุณหมอว่า

“ถ้าเราสังเกตและทำความเข้าใจกับระบบการทำงานของร่างกายคนเราก็จะพบว่า อายุที่มากขึ้นก็ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเสื่อมลงตามกาลเวลา ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายเสื่อมสภาพได้เร็วด้วยเช่นกัน จากสถิติของคนที่เป็นเบาหวานที่มากที่สุดอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 60-79 ปี มากกว่า 80 ปีขึ้นไปก็จะมีน้อยกว่า ซึ่งก็อาจจะน่าแปลกใจนิดนึง ที่กลุ่มคนอายุ 60+ กลับมีมากกว่าคนอายุ 80+ ซึ่งกลุ่มคนที่เป็นเบาหวาน ถ้าเราไม่นับคนที่มีความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ปัจจุบันเราเจอคนที่เป็นเบาหวานอายุน้อยสุดคือ อายุหลัก 10 เท่านั้น ซึ่งก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยและกลุ่มของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน พอเราไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนจนถึงปัจจุบันเราก็จะเห็นถึงสาเหตุที่แท้จริง โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็ทำให้เกิดอุบัติของโรคเหล่านี้ขึ้นมา

ถ้าเราลองย้อนไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราจะพบว่า จุดตัดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งสิ่งที่สำคัญในยุคนั้นก็คือ น้ำตาล สมัยก่อนน้ำตาลเป็นของหายาก ในคนอังกฤษคือเขาไม่อวดทองคำ แต่เขาจะอวดน้ำตาลกัน ใครฟันผุแสดงว่าฐานะดี พอน้ำตาลเริ่มหายาก ต้นทุนการผลิตสูงมาก ซึ่งน้ำตาลก็เป็นส่วนผสมที่ทำให้หลายๆ คนพึงพอใจเอามากๆ ความต้องการของน้ำตาลก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้น เกิดเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมแป้งและก็น้ำตาล ทำให้เราสามารถผลิตน้ำตาลในปริมาณที่สูงมากขึ้นได้ ราคาก็ถูกเพราะคนเข้าถึงได้ไม่ยากแล้ว ต่อมาก็เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมน้ำมัน ในสมัย 100-200 ปีก่อน สมัยนั้นไม่ค่อยมีคนเป็นเบาหวานและการประกอบอาหารก็จะใช้น้ำมันจากสัตว์เป็นหลัก ซึ่งน้ำมันพืชก็จะมีน้อยมากและในประเทศไทยก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก และถ้าเราลองไปดูกราฟเรตของคนเป็นเบาหวาน อัตราการบริโภคน้ำตาลและน้ำมันพืชจะเห็นว่ากราฟมันขึ้นไปพร้อมกันในระยะเวลาเดียวกันเลย

เราจะเห็นได้ว่าในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 จึงมีความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมอาหารที่ทำให้เรามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งโดยปกติร่างกายของเราก็มีอวัยวะหลายอย่างด้วยกัน แต่อวัยวะที่ส่งผลกับน้ำตาลมันมีอยู่ 3 อย่างหลักๆ ได้แก่ ตับ กล้ามเนื้อ และตับอ่อน อวัยวะทั้ง 3 นี้จะเป็นตัวตัดสินเลยว่าเรามีปริมาณน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่ ตับอ่อนก็จะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่มีชื่อว่า ‘อินซูลิน’ ในส่วนของตับกับกล้ามเนื้อเป็นอวัยวะที่เปรียบเสมือนฟองน้ำ มีหน้าที่ในการดูดซับน้ำตาลออกจากเส้นเลือด ถือว่าเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตาลที่สำคัญ เมื่อเรากินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไปก็มีโอกาสที่ถังกักเก็บน้ำตาลในตับและกล้ามเนื้อจะเต็มไว ซึ่งส่งผลทำให้เรามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั่นเอง

อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญอวัยวะที่สำคัญทั้ง 3 อย่างที่ทำหน้าที่ในการจัดการน้ำตาล โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่มีถังกักเก็บน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุด กล้ามเนื้อจะระบายน้ำตาลออกได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้ในลักษณะพิเศษ ซึ่งในรูปแบบของกล้ามเนื้อที่จะทำให้มันใช้น้ำตาลเป็นพลังงานจะต้องเป็นในรูปแบบรุนแรงและรวดเร็วมากๆ เช่น การยกของ การถือจอบไปขุดดิน การปีนต้นไม้ ซึ่งกล้ามเนื้อจะใช้พลังงานจากน้ำตาลที่เก็บอยู่ในกล้ามเนื้อ แต่สำหรับการเดิน กวาดบ้าน การวิ่งเยาะๆ หรือการเดินเร็ว สิ่งเหล่านี้กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้น้ำตาล ส่วนใหญ่ก็จะใช้ไขมันเป็นหลัก จะเห็นว่ากิจกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อได้เอาน้ำตาลออกมาใช้เป็นพลังงาน ณ ปัจจุบันไม่มีใครทำกันแล้ว ซึ่งเราอาจจะพอเห็นการออกกำลังแบบหนักๆ พอเราเห็นภาพแบบนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่า มันไม่ใช่ปัญหาแค่เรื่องของอาหารที่เรากินเข้าไป ไม่ใช่เรื่องของที่กักเก็บน้ำตาลมีปัญหา หรือว่าตับอ่อน แต่มันยังมีปัญหาของการระบายน้ำตาลออกจากร่างกายจากสิ่งที่เรากินเข้าไปอีกด้วย ซึ่งทุกๆ ปัจจัยมุ่งเน้นไปแต่เรื่องของการเพิ่มน้ำตาลในเลือดเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปีและอายุก็น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งการที่น้ำตาลในเลือดสูงหรือที่เราชอบเรียกกันว่าเบาหวาน มันคืออาการ มันไม่ใช่ตัวโรค”



# เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับ ‘เบาหวาน’ ที่หลายๆ คนมักเข้าใจผิด
พูดถึงเรื่องที่เข้าใจผิดก็มีอยู่ทุกวงการจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่วงการเบาหวาน ที่ก็ยังมีหลายคนเข้าใจผิดอยู่ ซึ่งคุณหมอได้สรุปข้อสงสัยทั้งหมดให้กับเราได้พอเห็นภาพดังนี้

“คงเป็นเรื่องปกติสำหรับการเข้าใจผิดและหมอเองก็เคยได้ฟังความเข้าใจผิดของคนไข้หลายๆ คนของหมอเอง และสิ่งที่เจอบ่อยที่สุดเลยก็คือ คนไข้มักเข้าใจไปว่าคนที่เป็นเบาหวานจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต เบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือว่า เบาหวานเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือเปล่า และสุดท้ายคือ คนที่เป็นเบาหวานต้องเลิกกินของหวานตลอดชีวิต อันนี้เราพูดถึงผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ก็จะเจอเยอะที่สุดเลย ดังนั้นหมอขออธิบายรายละเอียดความเข้าใจผิดนี้ให้ทุกคนได้ไขข้อสงสัยกัน

ข้อแรก เป็นเบาหวานจะต้องกินยาไปตลอดชีวิตมั้ยและสามารถรักษาให้หายขาดได้มั้ย ซึ่งตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา หมอเองและคุณหมออีกหลายๆ ท่าน พยายามหาคำตอบในเรื่องนี้ อย่างตัวหมอเองก็เริ่มเข้ามาหาข้อมูลเชิงลึกกับเรื่องนี้ ซึ่งหมอก็เริ่มจากความคิดเห็นส่วนตัวของหมอเอง โดยเฉลี่ยหมอนั่งตรวจคนไข้เบาหวานประมาณ 70 คน ในระยะเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นอะไรที่ต้องรีบ เราก็เหนื่อย คนไข้ก็ไม่ได้อะไรด้วย หมอก็พยายามคิดหาทางออกใหม่ๆ ที่มันจะทำยังไงได้บ้าง ที่ไม่ต้องให้คนไข้เบาหวานเขามาโรงบาลบ่อยๆ คือเมื่อก่อนแนวคิดของการรักษาเบาหวานคือคนไข้ต้องมาเอายาทุกเดือน หรือทุก 2-3 เดือนแล้วแต่เคส แต่เมื่อตัวเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานแล้ว ชื่อของเขาก็จะถูกนำไปลงทะเบียนคลินิกเบาหวาน และเขาก็จะมีชื่ออยู่ตลอดไป ทำให้เขาจะต้องมาหาหมออยู่เป็นประจำนั่นเอง ซึ่งในต่างประเทศมีเคสหลายเคสมากเลยนะ ที่มีคนไข้น้ำตาลไม่กลับมาสูง ไม่ต้องกินยาด้วย ซึ่งมีเยอะมาก ในขณะที่บ้านเราก็มี คนไข้หมอเองก็ไม่กลับมารับยา ซึ่งพอถามเขาไป เขาก็บอกว่าหายแล้ว น้ำตาลไม่กลับมาสูงแล้ว

ซึ่งในสมัยนั้นการศึกษาเรื่องนี้อาจจะไม่เยอะมาก แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการศึกษา เริ่มมีเคสที่น่าสนใจมากขึ้น มีการตีพิมพ์วารสารทางการแพทย์มากมายที่แสดงให้เห็นว่า คนที่เป็นเบาหวานสามารถทำให้น้ำตาลกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ไม่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดได้และก็ไม่ต้องกินยาด้วย ซึ่งข้อมูลชุดนี้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า คนที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 จำเป็นต้องกินยาไปตลอดชีวิตหรือไม่ คำตอบของมันก็คือ ‘ไม่’ ไม่จำเป็นเลย และหมอเองก็มองว่าเราไม่ควรกินด้วย มันมีการศึกษาอีกหลายแห่งที่บ่งบอกว่า การกินยาเบาหวาน หรือการใช้ยาเบาหวานบางอย่างที่ต่อเนื่องและนานมากๆ อาจจะทำให้คุณเสียชีวิตได้ไวกว่า ถ้ามีทางเลือกให้เราว่าเราไม่ต้องกินยาก็ได้ เราก็ควรที่จะเลือกทางนั้นมากกว่า

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564 มีการประกาศจากที่ประชุมเกี่ยวกับองค์กรที่ดูแลเรื่องเบาหวานจากหลากหลายประเทศ เขาทำข้อสรุปออกมาว่า เบาหวานประเภทที่ 2 สามารถ Remission ได้ ซึ่งหมายถึง ‘เบาหวานสงบ’ ที่เข้าเงื่อนไขเราจะเรียกได้ก็ต่อเมื่อ ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็คือ น้ำตาลสะสมน้อยกว่า 6.5 mg% ติดต่อกัน 3 เดือน โดยที่ไม่ใช้ยา ตรวจซ้ำแล้วน้ำตาลไม่กลับมาสูง ดังนั้นเบาหวานประเภทที่ 2 สามารถรักษาให้หายขาดได้และยิ่งเรารักษาได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสหายขาดมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับข้อที่ 2 เบาหวานเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมมั้ย คำตอบก็คือ โอกาสน้อยมาก ไม่เกิน 10% และส่วนใหญ่ที่แม่เป็นและลูกเป็น หรือปู่ ย่าเป็นแล้วแม่เราเป็น ซึ่งต้องบอกก่อนว่าด้วยการใช้ชีวิตที่เหมือนกัน อาหารการกินที่เหมือนกัน ก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่เมื่อมีคนในบ้านเราเป็น ก็จะมีคนเป็นต่อๆ กันไปตามช่วงวัยของคนในบ้าน ถ้าพูดถึงความเป็นจริง สิ่งแวดล้อมต่างหากที่มีผลกว่ามาก เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงเบาหวานกับพันธุกรรมคือ น้อยมากๆ ที่จะเกิด ซึ่งก็มีการศึกษาบางแห่งที่พูดถึงว่า ถ้าแม่เป็นเบาหวานแล้วท้อง ลูกก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน แต่มันก็ไม่ได้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากขนาดนั้น

และสำหรับข้อสุดท้ายที่สงสัยกันว่า เป็นเบาหวานต้องงดของหวานตลอดชีวิตหรือเปล่า ก็ต้องย้อนกลับไปถามทุกคนว่าเรากินของหวานไปเพื่ออะไร ซึ่งมันก็คงไม่ได้กินเพื่อสุขภาพอยู่แล้ว ถ้าเราถามคำถามนี้กับคนสมัยก่อนเขาอาจจะตอบว่าไม่จำเป็น แต่ถ้าเป็นในปัจจุบันก็คงมีคนตอบว่ามันจำเป็น เพราะทุกการใช้ชีวิตในปัจจุบันของใครหลายๆ คน ก็มักจะมีของหวานอยู่ในนั้นด้วยเสมอๆ เช่น เวลาเครียดเราก็กินของหวาน ซึ่งต่างกับคนสมัยก่อนที่เครียดเรื่องไม่มีอาหารให้กินมากกว่า ดังนั้นมนุษย์เราจะพยายามหาทางออก เวลาเราเครียดฮอร์โมนคอร์ติซอลจะสูงมาก ซึ่งถ้าเราเครียดมากๆ หรือติดต่อกันเป็นเวลานานก็จะไม่ดี ทำให้เราภูมิตก ร่างกายไม่แข็งแรง หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าเลยก็ได้ และเมื่อเราเครียดเราก็จะต้องหาทางออก ซึ่งก็คือความสุขทางใจ ความสุขทางใจก็คือของหวานหรือว่าน้ำตาลนั่นเอง ก็เป็นสิ่งที่ดีที่เขาจะไม่เครียดแต่สภาพร่างกายก็อาจจะแย่ลง

สรุปคนที่เป็นเบาหวานก็มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ก็ไม่ควรจะกินของหวานอันนี้เราตอบตามทฤษฏีก็ไม่ควรกิน และต่อให้คุณจะเป็นหรือไม่เป็นเบาหวาน ชานมไข่มุก 1 แก้วก็ไม่ได้มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคุณและไม่ได้มีความเป็นต้องกิน แต่ถ้าถามว่ากินได้มั้ย ถ้าเรารักษาตัวเองให้หายแล้ว ตับอ่อนสามารถทำงานได้ดีขึ้น มีพื้นที่ในการกักเก็บน้ำตาลได้มากขึ้น ก็อาจจะกินอาหารเหล่านี้ได้ โดยที่ไม่ทำให้หลอดเลือดของคุณมีปัญหามาก แต่ต้องมีมาตรการในการจัดการตัวเองด้วย”

# ดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่กับโรคนี้ได้แบบยังสุขภาพดีอยู่
พอเราพูดถึงเรื่องวิธีการก็จะเป็นสิ่งที่ยากเสมอ แต่เราเองก็จำเป็นที่จะต้องมีวิธีการดูแลตัวเอง แต่อาจจะพิเศษใส่ไข่สักหน่อย เพราะเรากำลังใช้วิธีการดูแลตัวเองเมื่อเราเป็นเบาหวานอยู่ และเรายังสามารถมีความสุข สุขภาพดี และนี่อาจเป็นหนทางแห่งการหายขาดและลาจากเบาหวานไปตลอดชีวิตเลยก็ได้ สำหรับเรื่องนี้คุณหมอให้ความเห็นได้ดีมากๆ เลย

“ถ้าเราพูดถึงการดูแลตัวเอง เราก็ต้องย้อนกลับไปมองที่รากของปัญหา ที่จะแก้ปัญหาได้อย่างถาวร แต่ต้องบอกก่อนว่ามันแก้ยากมาก เพราะมันเกิดขึ้นมาแล้วและมันก็คงจะเปลี่ยนแปลงให้กลับไปเป็นเหมือนเมื่อก่อนมันก็คงไม่ได้ ทีนี้เราจะดูแลยังไง เพื่อที่จะให้เรามีสุขภาพที่ดีและยังสามารถหายขาดจากเบาหวานได้ ซึ่งปัญหาหลักมันคือ อาหาร ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป มีการสังเคราะห์ เยอะแยะมากมาย ซึ่งเวลาหมอแนะนำคนไข้ หมอจะให้คนไข้งด พยายามเลี่ยง 3 อย่างนี้
 
1. น้ำตาลแปรรูป ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของธรรมชาติ น้ำตาลเกล็ดๆ น้ำเชื่อมต่างๆ
2. น้ำมันพืช 
3. วัตถุปรุงแต่งอาหาร หรือ อาหารประดิษฐ์ เช่น ผงชูรส ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของการแต่งกลิ่น แต่งรส แต่งสี
 
เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่พยายามคิดค้นหาวิธีการที่จะผลิตสารเคมีที่ใส่อยู่ในอาหารที่เขาผลิตออกมาขาย กลายเป็นภาวะการเสพติดและทำให้เรารู้สึกว่าอยากกินอีก ซ้ำๆ บ่อยๆ ถ้าเรารู้จักสตอรี่ของ ‘ฟรุกโตส’ น้ำตาลฟรุกโตสเรามักจะเจออยู่ในผลไม้ แต่มีในปริมาณน้ำตาลที่ไม่มากนัก ส่วนมนุษย์เราก็ฉลาดมาก เพราะสามารถสังเคราะห์น้ำตาลตัวนี้ขึ้นมาให้มันมีความเข้มข้นสูงๆ หรือที่เราเรียกว่า น้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้น หรือ High Fructose Syrup ซึ่งเป็นน้ำเชื่อมฟรุกโตสที่มีคุณสมบัติทำให้เรารู้สึกว่าอยากกินอีก ถ้าเปรียบเทียบเวลาเรากินน้ำเปล่ากับน้ำชาเขียวเย็นๆ สักขวดนึง ฟีลลิ่งมันต่างกัน และไม่ใช่แค่น้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่มันมีหลายส่วนประกอบมากๆ การแต่งรสให้ดูดี การแต่งกลิ่นให้หอม และอีกหนึ่งปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ อ้วนลงพุง ซึ่งแนวทางการทำให้เบาหวานนั้นหายขาดไม่ใช่เพียงแค่เลิกกินน้ำตาล แต่ยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตัวเรา โดยเฉพาะอาหารแปรรูปต่างๆ เชื่อว่าทุกคนคงเสพติดอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งและยังคงกินอาหารในลักษณะนี้อยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้นหากเราต้องการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องเลิกกินอาหารนี้อย่างถาวรและกลับมากินอาหารธรรมชาติ เน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ไข่ขาว ไข่แดง รับรองว่าคุณจะหายขาดจากโรคเบาหวานอย่างแน่นอน”



# แนะนำเมนูอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน
หลังจากที่เราฟังมาก็ค้นพบว่า อาหารเป็นปัจจัยที่สำคัญของคนที่เป็นเบาหวาน เมื่อเรารู้สาเหตุที่แท้จริงแล้วเราลองมาดูกันว่า อาหารชนิดใดบ้างที่คนเป็นเบาหวานควรให้ความสำคัญ

“ถ้าหากเราอยากทำให้เบาหวานนั้นดียิ่งขึ้น หมอขอแนะนำให้โฟกัสที่ 3 ข้อนี้เป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและสามารถทำให้เราหายขาดจากเบาหวานได้ในอนาคต

 
1. กินอาหารต้นทางหรืออาหารธรรมชาติ ในบรรดาอาหารที่ไม่มีการปรุงแต่งกลิ่น สี รสชาติ ยิ่งเป็นอาหารที่แปลกๆ หรือไม่คุ้นเคย จึงควรจะเลี่ยงอาหารเหล่านี้จะดีที่สุด
2. กินโปรตีนเป็นหลัก โดยปกติร่างกายของเราจะกักเก็บโปรตีนไม่ได้ ซึ่งโปรตีนเป็นสารอาหารที่จ่ายความอิ่มให้เราได้เป็นดี ดังนั้นสารอาหารของโปรตีนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และถ้าหากเราอยากลดปริมาณน้ำตาล ก็ควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำตาลและเพิ่มไขมันจากธรรมชาติแทนได้
3. รู้จักหาทางระบายน้ำตาล ซึ่งการระบายน้ำตาลออกก็มีด้วยกัน 2 ทางคือ การทำ Intermittent Fasting หรือ IF และฝึกกล้ามเนื้อให้มีการกักเก็บและระบายน้ำตาลออกได้ เช่น การเล่นบอดี้เวท การเข้าฟิตเนส หรือการออกกำลังกายแบบหนักมากๆ ก็สามารถช่วยได้

ถ้าหากหมออยากจะให้ปรับให้เหมาะสมกับคนในสังคมปัจจุบันก็คือ ถ้าคุณเลี่ยงไม่ได้ คุณอาจจะต้องเข้าฟิตเนส การเล่นบอดี้เวท ทุกครั้งที่คุณกินอาหารเหล่านี้เข้าไป และสิ่งที่หมอมองว่าหลายๆ คนมักจะมองข้ามก็คือ ‘เครื่องปรุง’ ซึ่งก็มีอยู่ในอาหารต้องห้ามทั้ง 3 ข้อที่หมอได้บอกไป น้ำตาลแปรรูป น้ำมันพืช และวัตถุปรุงแต่งอาหาร ซึ่งอาหารเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกิน ถ้าหากเราได้รสชาติเค็ม เราก็ใส่เกลือ ถ้าอยากได้รสชาติเปรี้ยว เราก็ใส่มะนาว แต่ถ้ารสชาติหวานอันนี้หมอว่าไม่จำเป็นอยู่แล้ว ซึ่งถ้าต้มผักสักหม้อนึง ก็จะมีความหวานออกมาจากผักที่เราต้มอยู่แล้ว ก็สามารถให้ความหวานทดแทนได้ อีกหนึ่งสิ่งที่แนะนำก็คือ เครื่องปรุงทางเลือกสำหรับสายสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรุงสูตรคีโต หญ้าหวาน ซึ่งก็เป็นตัวเลือกรองลงมา ส่วนคำถามที่หมอเจอบ่อยๆ และคนไข้ก็มักจะถามก็คือ ‘ข้าวกับผลไม้’ โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเรามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะไม่แนะนำให้กินแป้งกับน้ำตาล ไม่ว่าจะธรรมชาติหรือไม่ธรรมชาติก็ตาม ซึ่งก็ไม่ควรเอาน้ำตาลเข้าไปเพิ่ม เราจะใส่เข้าไปเพิ่มก็ต่อเมื่อ ระดับน้ำตาลในเลือดของเราสงบแล้วเท่านั้น ซึ่งก็ต้องอย่าลืมที่จะระบายน้ำตาลออก เช่น การทำ IF ฟิตเนส บอดี้เวท ควบคู่กันไปด้วย”

สุดท้ายนี้อยากให้ผู้ป่วยเบาหวานและทุกคนที่อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานและได้ตระหนักถึงความสำคัญของฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะน้ำตาล และไม่เพียงแค่การควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียว เราจะต้องรู้จักหาวิธีการระบายน้ำตาล ด้วยการออกกำลังกาย


เบาหวานหายขาดได้ ถ้าคุณมีวินัยกับตัวเองก็เตรียมโบกมือลา ‘เบาหวาน’ ได้เลย
-->