ไขข้อสงสัยให้กับคนที่อยากมีลูก โดย นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์ (คุณหมอเช้าตรู่)

จากผลสำรวจประชากรไทยปี 2565 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าประเทศไทยมีอัตราเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 5.02 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี และเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ประเทศไทยมีจำนวนคนตายมากกว่าเด็กเกิดใหม่

เห็นตัวเลขแบบนี้แล้วชักจะกังวลขึ้นมาแล้วล่ะสิ! แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช่ว่าอยากมีลูกแล้วจะมีลูกกันได้เลย เพราะบางครอบครัวก็เจอกับปัญหาภาวะมีลูกยากแบบไม่ทันตั้งตัว วันนี้เราเลยจะพามาคุยกับ ‘คุณหมอเช้าตรู่’ นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก รพ.พญาไท 2 เกี่ยวกับเรื่องนี้กัน



#ความหมายของคำว่า ‘มีลูกยาก’
คุณหมอได้อธิบายให้เราเข้าใจง่ายๆ ว่า “ถ้าคู่สามี ภรรยา มีเพศสัมพันธ์กันตามปกติและมีอย่างสม่ำเสมอ หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์กันอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ วันเว้นวัน หรือ 1 วัน เว้น 2 วัน โดยไม่มีการคุมกำเนิด ติดกันเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะถือว่าเข้าข่ายมีบุตรยาก”

#สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิด ‘ภาวะการมีบุตรยาก’
สำหรับการมีบุตรยากนั้น อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย ซึ่งคุณหมอได้ให้ข้อมูลโดยแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ สาเหตุที่เกิดขึ้นจากฝ่ายชาย และสาเหตุที่เกิดขึ้นจากฝ่ายหญิง

“สาเหตุจากฝ่ายชายนั้น หลักๆ ก็คือน้ำเชื้อไม่ดี ซึ่งก็ต้องไปดูกันว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เช่น อายุ น้ำหนัก โรคประจำตัว หรือการกินยาบางอย่าง เช่น การกินยารักษาผมร่าง ซึ่งเป็นยาที่ต่อต้านฮอร์โมนเพศชาย ทำให้คุณภาพของการสร้างสเปิร์มไม่ดี หรือหากมีประวัติการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ก็อาจทำให้ท่อน้ำอสุจิตัน อัณฑะฝ่อ อัณฑะเสื่อม ที่อาจเป็นผลเกี่ยวเนื่องมากจากโรคคางทูมตั้งแต่เด็กๆ หรือบางคนอาจใส่ชุดชั้นในที่รัดแน่นจนเกินไป อาบน้ำอุ่นหรือแช่น้ำอุ่นนานเกินไป ทำให้อุณหภูมิของอัณฑะสูงขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการสร้างสเปิร์มได้เช่นกัน”

‘สำหรับฝ่ายหญิง ต้องประเมินทั้งหมด 3 ข้อหลักๆ คือ มดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ ที่พบได้บ่อยๆ คือรังไข่ เช่น อายุเยอะ ไข่ก็น้อยลง คุณภาพก็แย่ลง หรือบางคนมีช็อกโกแลตซีสต์ มีเนื้องอกที่รังไข่ ก็ทำให้รังไข่เสียหาย ซึ่งทำให้มีลูกยากขึ้นได้ หรือบางคนมีปัญหาที่ท่อนำไข่ ท่อนำไข่อุดตันจากการผ่าตัด มีการติดเชื้อจากอุ้งเชิงกราน ทำให้ท่อนำไข่อุดตันจากพังผืดในช่องท้อง ส่วนเรื่องของมดลูก บางคนมีเนื้องอกมดลูก มดลูกพิการ เคยขูดมดลูกมาก่อน มดลูกติดเชื้อ ทั้งหมดนี้ทำให้มีลูกยากได้เช่นกัน” 

#ทางแก้เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีลูกยาก แต่ยังอยากมีลูก 
คุณหมอเล่าให้ฟังว่าสำหรับแนวทางการวินิจฉัยโดยแพทย์ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของปัญหา ซึ่งก่อนที่คุณหมอจะรักษา ก็จะต้องหาสาเหตุให้เจอก่อน

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนไข้ผู้ชาย 2 คน มีปัญหาที่น้ำอสุจิ คนแรกมีน้ำอสุจิน้อย คนที่สองไม่มีน้ำอสุจิเลย เราจะเห็นว่าปัญหาเหมือนกัน แต่ความรุนแรงต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าการรักษาก็ย่อมต่างกันออกไป ดังนั้นการรักษาทั้งผู้ชายและผู้หญิงว่ามีปัญหาตรงไหนและปัญหาที่เกิดนั้นรุนแรงอย่างไร นำมาซึ่งวิธีการรักษาด้วยวิธีแบบง่าย ไปจนถึงวิธีที่ยากขึ้นไป” คุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า อาจจะเริ่มจากการนับวัน ในเคสที่บางคนอาจจะมีเพศสัมพันธ์ห่าง หรือไม่ตรงกับวันไข่ตก หรือบางคนอาจจะต้องกระตุ้นรังไข่ ฉีดน้ำเชื้อผสมเทียม ไปจนถึงการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องดูจากสาเหตุและความรุนแรงของปัญหานั่นเอง



#ไขข้อสงสัย ทำไมต้อง “เด็กหลอดแก้ว” 
ต้องยอมรับว่าด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ในการรักษาภาวะการมีบุตรยากในปัจจุบันนั้น ทำให้คนไข้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นมากมาย อย่างวิธีที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงนี้ก็คือ ‘การทำเด็กหลอดแก้ว’

“เด็กหลอดแก้วถือว่าเป็นคำรวมๆ โดยคำว่า ‘เด็กหลอดแก้ว’ คือ เทคโนโลยีที่ช่วยปฏิสนธินอกร่างกายที่ช่วยให้เรามีลูก ซึ่งคือการเอาไข่และน้ำเชื้อ มาช่วยผสมนอกร่างกายผู้หญิง โดยเทคนิคของการทำเด็กหลอดแก้วก็มีด้วยกัน 2 วิธี คือ IVF และ ICSI โดยทั้งสองอย่างถือเป็นการผสมเทียมทั้งคู่ แต่ต่างกันที่วิธีการผสม ถ้าเป็น IVF เราจะนำไข่และอสุจิมารวมกันและให้เขาผสมกันเอง ถ้าเป็น ICSI ก็คือนำไข่และอสุจิออกมา ซึ่งเราจะเอาอสุจิฉีดเข้าไปในไข่ โดยจะเห็นว่า ICSI จะช่วยปฏิสนธิได้ดีกว่า IVF ซึ่งแตกต่างกันที่เทคนิคในการผสมนั่นเอง ดังนั้น ICSI ก็จะเหมาะกับฝ่ายผู้ชายที่น้ำเชื้อไม่ค่อยดี โดยเราจะช่วยเลือกตัวอสุจิที่แข็งแรงที่สุด เช่นเดียวกับฝ่ายหญิงที่มีไข่น้อยมากๆ เช่นกัน”

#เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จจากการทำเด็กหลอดแก้ว 
เมื่อพูดถึงเรื่องความสำเร็จ คุณหมอเลยอธิบายว่า “โอกาสที่จะสำเร็จขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของปัญหา เช่น ถ้าผู้หญิงอายุ 30 ปี ไปแต่งงานกับผู้ชายที่อายุ 50 ปี แล้วผู้ชายมีน้ำเชื้อไม่ค่อยดี กับอีกตัวเลือกนึงคือ แต่งงานกับผู้ชาย อายุ 30 ปี แต่น้ำเชื้อดี เราจะเห็นว่าวิธีการรักษาเดียวกัน แต่เปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จต่างกัน เราจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าโอกาสสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วนั่นเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นตัวเลขเฉลี่ยในการทำเด็กหลอดแก้ว ก็จะอยู่ 30-40% ทั้งนี้เราอาจจะต้องประเมินเป็นคู่ๆ ไป จึงจะเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด”

ซึ่งคุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า หากการทำครั้งแรกไม่สำเร็จ ก็ต้องดูว่ายังมีตัวอ่อนเหลืออยู่ที่สามารถทำได้หรือไม่ เพราะโดยปกติเราจะไม่ได้ย้ายตัวอ่อนทั้งหมด ดังนั้นเราก็อาจจะมีตัวอ่อนที่หวังผลได้เหลืออยู่ เราก็สามารถเลือกตัวอ่อนตัวใหม่เพื่อทำการผสมใหม่ได้ สำหรับการเก็บตัวอ่อนโดยปกติเราจะสามารถเก็บได้ถึง 10 ปี ด้วยการแช่แข็งเอาไว้ และสามารถเลือกจะใช้งานตัวอ่อนได้ภายในระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง



#อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่คนมีภาวะการมีบุตรยาก ต้องรู้!!!
“สำหรับคนไข้ที่อายุน้อยๆ และอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์อยู่แล้ว การรักษาภาวะการมีบุตรยากมีโอกาสสำเร็จค่อนข้างสูงมากๆ เพราะคนไข้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ รังไข่ดี ไข่ตกเยอะ มดลูกดี หรือบางคนอาจจะมีโรคที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ถือว่าเจอเร็วและมีโอกาสให้รักษาให้หายขาดได้ ยิ่งเรารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสสำเร็จก็จะยิ่งสูง เราจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องของการวางแผนครอบครัว ถ้าเราคิดว่าอยากจะมีลูก ควรมาปรึกษาหมอตั้งแต่แรกเลย ไม่ควรปล่อยไปก่อน แล้วพอไม่ติดถึงมาหาหมอ เพราะถ้าเจอปัญหาตั้งแต่แรก จะได้วางแผนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเราเรียกการตรวจนี้ว่า ‘การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน’ ทั้งนี้เพื่อดูความเสี่ยงว่าเรามีโอกาสจะมีลูกยากมั้ย รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ด้วย

การวางแผนครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และจะสมบูรณ์แบบขึ้นไปอีก เมื่อคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มีคุณหมอเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่เนิ่นๆ การมีลูกยากของคุณก็จะไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป
-->