ไตพัง! ทั้งที่ไม่ได้กินเค็ม



เมื่อพูดถึง “โรคไต” ใครที่ไม่กินเค็มฟังแล้วอาจไม่สนใจ เพราะคิดว่ายังไงก็ไม่เป็น แต่จะแน่ใจได้แค่ไหนกัน เพราะถ้าดูข้อมูลจากการศึกษาของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ที่พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End Stage Renal Disease; ESRD) ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องมากกว่าหนึ่งแสนคน  แถมยังมีแนวโน้มว่าคนไทยจะป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15-20% ต่อปีด้วยแบบนี้ ก็คงยากที่จะการันตีได้แล้วล่ะว่าแค่ไม่กินเค็มจะไม่เป็นโรคไต เพราะจริงๆ แล้วยังมีอีกหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้สะเทือนไต (ใจ) ได้เหมือนกัน ซึ่งในโอกาสนี้ พญ.ศิริกุล ชัยพิสุทธิ์สกุล อายุรแพทย์โรคไต ประจำโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน จึงให้เกียรติมาไขข้อข้องไต เอ้ย! ใจ เกี่ยวกับที่มาของโรคไต แม้ไม่ได้กินเค็ม



หน้าที่ของไต ที่ใครก็ (ทำ) แทนไม่ได้
หน้าที่หลักๆ ของไตก็คือการกรองเลือด กรองของเสีย โดยของเสียที่เป็นส่วนเกินก็จะถูกขับออกมาในรูปแบบของน้ำปัสสาวะ พร้อมกับการดูดกลับสารที่จำเป็นเข้าสู่เส้นเลือด เพื่อนำกลับไปใช้ในร่างกายต่อไป โดยทั้งสองส่วนนี้ทำให้เกิดการสร้างสมดุลของสารที่จำเป็นและเกลือแร่ในร่างกาย นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในคนที่มีไตเสื่อมรุนแรง ก็จะมีภาวะซีด เลือดจางซึ่งเกิดจากการที่ไตทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของไตก็คือ การควบคุมสมดุลของความดันโลหิตของร่างกายนั่นเอง

ถึงไม่กินเค็มก็มีสิทธิ์เป็นโรคไต
การกินเค็มจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของไตมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงมากหรือความเสี่ยงน้อยด้วยเช่นกัน เช่น หากว่านานๆ จะกินเค็มสักมื้อหนึ่ง แน่นอนผลก็ต้องไม่เกิดกับร่างกายมากเท่ากับอีกคนที่กินอาหารรสเค็มเป็นประจำจนเป็นนิสัย เพราะเมื่อทำไปนานๆ เข้า ก็จะเกิดการสะสมของเกลือที่คั่งอยู่ในร่างกาย จนเป็นความเสี่ยงของโรคบางชนิดอย่างโรคความดันสูง นั่นก็จะทำให้คนๆ นั้นมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นว่าการกินเค็มจะทำให้เป็นโรคไตได้เสมอไป ถ้าหากว่าไม่ได้กินจนติดเป็นนิสัย ซึ่งจริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้ไตมีปัญหา เราก็จะต้องแยกออกเป็น 2 กลุ่มของการทำงานที่ผิดปกติก่อน โดยกลุ่มแรกเรียกว่า ไตวายแบบฉับพลัน กับกลุ่มที่สอง คือ ไตวายแบบเรื้อรัง 

ซึ่งสาเหตุที่นอกเหนือไปจากการกินเค็มที่ทำให้เกิดไตวายแบบฉับพลันแล้วนั้น การมีอะไรมารบกวนการทำงานของร่างกายแบบรุนแรง จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เช่นการมีภาวะช็อก ไม่ว่าจะเป็นช็อกจากการเสียเลือดเยอะ ช็อกจากหัวใจวายแบบฉับพลัน ช็อกจากอุบัติเหตุรุนแรง  ช็อกจากการติดเชื้อรุนแรง เหล่านี้ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทำให้ไตทำงานลดลงแบบฉับพลันได้ ซึ่งหากเป็นนานเกิน 3 เดือน กรณีนี้จะเรียกว่าเรื้อรัง ซึ่งในกลุ่มที่ไตเสื่อมเรื้อรังที่ต้นเหตุไม่ได้เกี่ยวกับการกินเค็ม ก็อาจจะเกิดจากเรื่องเบาหวานที่เป็นมานาน แล้วทำให้เกิดการทำงานสะสมของไตที่ลดลงเรื่อยๆ จนเกิดปัญหา หรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีผลระยะยาวกับไต เช่นโรคถุงน้ำที่ไต การเป็นนิ่ว การกินสมุนไพร หรืออาหารเสริมบางอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ และสะสมจนทำให้เกิดปัญหากับไต เหล่านี้ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการกินเค็มเลย ซึ่งปัจจุบันสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดหรือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นไตเสื่อมเรื้อรัง คือ เบาหวานและความดัน



ดูแลไตอย่างไรให้แข็งแรง
สำหรับการดูแลและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับไตในระยะยาว หลักๆ ก็คือป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน ด้วยการสร้างสมดุลให้ตัวเอง โดยการจะป้องกันเบาหวานได้นั้นก็คือการควบคุมเรื่องอาหาร ไม่ให้เกิดปัญหาโรคอ้วนลงพุง การสะสมของน้ำตาลมากเกินไป ส่วนเรื่องของความดันก็ต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคเกลือ หรือกินเค็มที่มากเกินไป ไม่สูบบุหรี่ ไม่เครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ ดื่มน้ำเพียงพอ ไม่กินสมุนไพรหรืออาหารเสริมมากเกินไปโดยไม่จำเป็น เช่นเดียวกับเรื่องการใช้ยา ที่ไม่ควรใช้ยาบางอย่างติดต่อกันนานเกินไป เพราะจะทำให้เกิดปัญหาไตทำงานหนักโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ก็ควรจะตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็กดูจริงๆ ว่าที่เราไม่ได้เป็นอะไรเลยนั้นเรามีปัญหาการทำงานของไตที่ไม่แสดงอาการซ่อนอยู่หรือเปล่า เพราะหากว่าเรารู้แต่เนิ่นๆ ก็มีโอกาสแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่ถ้าเป็นเรื้อรังเกิน 3 เดือนไปแล้วโอกาสที่จะประคับประคองให้กลับมาเป็นปกติก็จะลดลงไป 

ส่วนคนที่ไตเสื่อมไปแล้วการจะประคับประคองให้ไตสามารถทำงานได้ยาวนานที่สุด ก็ต้องดูว่าไตของคนๆ นั้นเสื่อมจากโรคอะไร หากเป็นเบาหวาน ความดันก็ต้องเริ่มต้นที่การคุมอาหาร ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาก็ต้องใช้ยาตามแพทย์แนะนำ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือความดันให้เหมาะสมและตรวจติดตามการทำงานของไตหรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ แต่ถ้ามีสาเหตุจากเรื่องอื่นๆ การจะดูแลให้ไตไม่เกิดปัญหาก็คือไม่รับสิ่งที่ไม่จำเป็นเข้าร่างกาย เช่น สมุนไพร อาหารเสริมก็ควรหลีกเลี่ยง เลือกรับประทานอาหารแบบแบบพอดี ไม่เค็มจัด จนเกิดการสะสมไปนานๆ ทำให้เกิดปัญหา หรือไม่ใช่หวานจัด จนน้ำหนักขึ้น และเป็นเบาหวาน แต่ควรกินอย่างพอดีในสัดส่วนที่ร่างกายต้องการ และที่สำคัญคือควรจะมีการตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรู้เท่าทันอวัยวะต่างๆ ในร่างกายว่าทำงานปกติดีอยู่หรือเปล่า เพราะหากเป็นโรคใดโรคหนึ่งขึ้นมาจะได้พบแพทย์เพื่อแก้ไขที่สาเหตุแต่เนิ่นๆ 
-->