ไอแบบนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์แล้วนะ



ก่อนหน้านี้ “การไอ” อาจเป็นเรื่องเล็กที่ใครหลายคนมองข้ามและมักปล่อยให้หายเอง ซึ่งก็ไม่ผิดที่จะคิดแบบนั้นเพราะได้มีงานวิจัยโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย สเตท นครชิคาโกประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำการศึกษาจนพบว่าน้ำผึ้งแท้สามารถบรรเทาอาการไอจากหวัด โดยเฉพาะในเด็กได้ดีกว่ายาแก้ไอที่มีจำหน่ายตามร้านขายยา แต่ทว่าในสถานการณ์รู้หน้าไม่รู้ใจอย่างทุกวันนี้ ถ้าใครมาไอใกล้ๆ ก็คงต้องมีมองแรงกันบ้างล่ะ ก็ใครจะไปรู้บางคนดู (เหมือนจะ) ปกติ แต่จริงๆ อาจจะมีเชื้ออยู่ก็ได้ เลยต้องระแวงไว้ก่อนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากโดนสังคมรังเกียจ ลองมาฟังคำแนะนำจาก พญ. วิชญา อุ่นอนันต์ อายุรแพทย์โรคปอด โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา ที่จะมาบอกว่าอาการไอแบบไหนไม่ใช่เรื่องเล็ก



อาการไอเกิดจากอะไร
อาการไอเป็นการตอบสนองของร่างกาย ซึ่งมีกลไกการเกิดตั้งแต่การเริ่มกระตุ้นอวัยวะที่รับสัมผัสเกี่ยวกับการไอ ได้แก่ ทางเดินหายใจส่วนบน จมูก เรื่อยมาจนถึงคอ หลอดลม แล้วก็เข้าไปถึงระบบทางเดินหายใจส่วนล่างนั่นก็คือปอด นอกจากนี้ที่ระบบหลอดอาหารก็มีตัวรับการไอเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเรามีสิ่งกระตุ้นเข้าไปที่อวัยวะต่างๆ เหล่านี้ ก็จะเกิดการกระตุ้นส่งสัญญาณไปที่สมอง แล้วก็ตอบกลับมาทำให้ไอขึ้นมา ซึ่งลักษณะการไอจะแบ่งได้หลายแบบ คือ แบ่งจากช่วงเวลาในการไอ มี 3 ช่วงเวลา ได้แก่ การไอระยะฉับพลันเรียกว่า Acute  Cough เป็นการไอที่เกิดในระยะเวลาน้อยกว่า 3 สัปดาห์ สองคือการไอที่อยู่ในระยะกลาง เรียกว่า Subacute Cough อยู่ที่ 3-8 สัปดาห์ และสามเป็นการไอเรื้อรังหรือ Chronic Cough เป็นการไอที่เรื้อรังนานกว่า 8 สัปดาห์ ซึ่งการแบ่งประเภทในสักษณะนี้จะมีประโยชน์ในแง่ของการนำไปแยกโรค เพราะแต่ละช่วงเวลาของการไอก็จะมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังแบ่งได้ตามลักษณะของเสมหะ โดยจะแบ่งเป็นเรื่องของ Dry Cough คือไอแห้งๆ กับอีกแบบคือ Wet Cough คือไอแบบมีเสมหะ ซึ่งแบบ Wet Cough ก็คือการไอที่มีเสมหะมากกว่า 10 ml. ต่อวันและส่วนใหญ่การไอในลักษณะนี้มักจะสัมพันธ์กับกลุ่มของโรคติดเชื้อ

ไอได้...ก็หายเอง
การไอจะหายได้เองหรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับโรค ถ้าหากว่าเป็นโรคที่สามารถหายเองได้อย่างเช่นโรคที่เกี่ยวกับกลุ่มการติดเชื้อทางเดินหายใจบางโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ก็จะสามารถค่อยๆ ดีขึ้นเองได้ แต่บางคนอาจจะยังมีอาการไอต่อ ยกตัวอย่างเวลาที่เป็นหวัดแล้วมีอาการไอ บางคนก็จะไอตามหลังการเป็นหวัด อาการนี้เรียกว่า Postinfectious Cough ซึ่งบางคนอาจจะกินระยะเวลา 3-8 สัปดาห์ได้เลยทีเดียว แต่โดยรวมถ้ามีการติดเชื้อนำมาก่อน การไอน่าจะต้องค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้ภายใน 3-8 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่มีการติดเชื้อนำมาก่อนเลยแล้วไอ ก็ต้องมาดูว่ามีอาการอื่นที่น่ากังวลร่วมด้วยหรือไม่ โดยคนไข้สามารถรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ในกรณีที่เป็นโรคไม่รุนแรงและสามารถหายได้ด้วยตัวเอง เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนจากไวรัสดังกล่าว ส่วนใหญ่พวกนี้จะหายเองได้อยู่แล้ว แต่เราก็สามารถช่วยทำให้ร่างกายเราดีขึ้นได้โดย
1. เริ่มจากการดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยสักประมาณ 2-3 ลิตร เพื่อเป็นการละลายเสมหะในคนที่ไอมีเสมหะ ทำให้ไม่เหนียวข้น แต่สำหรับคนที่ไม่มีเสมหะ น้ำก็จะทำให้ชุ่มคอ เพื่อลดการกระตุ้นอาการไอ 
2. ดื่มน้ำอุ่น เพราะจะช่วยละลายช่วยเสมหะได้ดี ทั้งยังให้ความชุ่มชื้นภายในคอได้ดีกว่าน้ำเย็น
3. พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการไอ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศเย็น การนอนเปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิต่ำเกินไป และหลีกเลี่ยงฝุ่นควัน น้ำหอม เช่นเวลาที่ไปนั่งรถโดยสาร สูดดมท่อไอเสียของรถยนต์ก็จะทำให้เกิดการไอได้ แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริงๆ หมอแนะนำว่าให้ใส่หน้ากากอนามัย ก็จะช่วยลดพวกตัวสารปนเปื้อนที่จะกระตุ้นทางเดินหายใจได้ และอีกอย่างถ้าเป็นคนที่สูบบุหรี่ หมอแนะนำให้งดสูบด้วย เพราะว่าบุหรี่ก็เป็นตัวกระตุ้นทำให้ไอและมีเสมหะมากขึ้น
4. และอีกส่วนนึงที่ชาดไม่ได้ หมอแนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ คือนอนวันละ 6-8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ร่างกายมีเวลาที่จะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ



ไอแบบนี้ไม่ดีแล้วนะ
ถึงแม้ว่าการไออาจจะหายได้เอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการไอร่วมกับอาการอย่างอื่น เช่น เหนื่อย มีไข้ ไอแล้วมีเสมหะปนเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือแน่นหน้าอกร่วมด้วยเหล่านี้ ควรต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะการไอร่วมกับอาการเหล่านี้จะเป็นที่มาของโรคต่างๆ คือ การไอร่วมกับมีไข้จะเป็นเรื่องของโรคติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างหรือปอดติดเชื้อ ส่วนการไอเป็นเลือดอาจจะเป็นเรื่องของวัณโรค เช่นเดียวกับถ้าการเบื่ออาหารและไอเป็นเลือดก็อาจจะสาเหตุจากโรคมะเร็งปอดก็ได้ รวมถึงการไอแล้วแน่นหน้าอกก็เป็นอาการที่สามารถบ่งบอกถึงโรคหัวใจ และน้ำท่วมปอดได้เช่นกัน

สำหรับในเรื่องของช่วงเวลา ถ้าหากว่าไม่ได้มีประวัติการติดเชื้อนำมาก่อน หมอแนะนำว่า ถ้าไอเกิน 2-3 สัปดาห์ก็ควรจะไปตรวจเพื่อหาสาเหตุ แต่ถ้าเป็นหวัดมาก่อนแล้วมีอาการไอตามหลังที่เรียกว่า Postinfectious Cough  ให้สังเกตตัวเองว่าเราไม่ได้ไอมากขึ้น ก็อาจจะรอได้ถึง 8 สัปดาห์ ส่วนในกลุ่มของผู้ที่มีอาการไอแบบฉับพลันหรือ Acute Cough ก็มีสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบไปพบแพทย์คือ การมีไข้หรือเหนื่อย ที่อาจเป็นเรื่องของปอดติดเชื้อรุนแรง หรือไอเป็นเลือดปน และแน่นหน้าอก ก็อาจจะเป็นอาการของโรคหัวใจ น้ำท่วมปอด ลมรั่วในปอด หรือลิ่มเลือดอุดตันในปอด รวมถึงการไอแล้วสำลักอาหารก็เป็นอาการที่อันตรายต้องรีบไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน

ไอ...ไม่ใช่เรื่องเล็ก
แม้จะดูเป็นอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยที่สามารถหายได้เอง แต่การไอก็สามารถนำมาซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้เช่นเดียวกัน โดยแพทย์หญิงวิชญาได้ทิ้งท้ายถึงอาการไอที่ไม่ควรมองข้ามว่า

“การไอที่อันตรายก็คือ การไอที่เป็นร่วมกับภาวะหัวใจวาย (Heart Failure) ซึ่งบางคนเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็สามารถส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต กับกลุ่มไอที่มีลมรั่วในปอดหรือว่าภาษาการแพทย์เรียกว่า Pneumothorax ซึ่งถ้าลมรั่วมากๆ ก็อาจจะเสียชีวิตได้ หรือโรคที่ไอที่เป็นอาการนำของ Pulmonary Embolism หรือมีลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ถ้าเป็นเยอะก็มีโอกาสเสียชีวิตได้เหมือนกัน รวมถึงกลุ่มไอที่เกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปเรียกว่า  Foreign Body Aspiration  เพราะมีโอกาสที่จะอุดหลอดลมทำให้เสียชีวิตได้”
 
ทั้งหมดนี้คืออาการไอที่ต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไอ...เลิฟยู ก็ไม่ต้องไปหาใครนอกจากคนรู้ใจหรอกนะ  
-->