‘หัวใจเต้นผิดจังหวะ’ โรคร้ายที่อาจเกิดได้ทุกวัย


“มาเล่นให้ใจฉันเต้นแบบนี้ ฉันว่าเธอก็มีอาการใช่มั้ย” ถ้าใครที่เคยมีอาการอยู่ดีๆ หัวใจก็เต้นเร็ว หรือช้าโดยไม่มีสาเหตุ คงต้องร้องเพลงนี้ แล้วเช็กตัวเองดูสิว่ามีอาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเปล่า เพราะโรคหัวใจนี้ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นคนอายุมากเท่านั้น ถึงจะเป็นได้ แต่คนอายุน้อย หรือคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็มีสิทธิ์เป็นได้เหมือนกัน เชื่อไม่เชื่อก็ลองดูจากข่าวที่นักกีฬาเกิดอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันอย่างคริสเตียน อีริคเซน กองกลางทีมชาติเดนมาร์ก วูบหมดสติเพราะหัวใจหยุดเต้นคาสนาม ระหว่างเกมยูโร 2020 โชคดีที่ทำ CPR และนำส่งโรงพยาบาลได้เร็วจนช่วยชีวิตกลับมาได้ทัน แต่ถ้าโชคไม่ดีอย่าง มาร์คิส คิโด อดีตนักตบลูกขนไก่ทีมชาติอินโดนีเซีย วัย 37 ปี เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2008 ก็อาจเสียชีวิตกระทันหันจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้

เห็นแล้วหรือยังว่า ‘หัวใจเต้นผิดจังหวะ’ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะมองข้ามได้ เรามา พูดคุยกับ นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 กันเพื่อทำความเข้าใจอาการ สังเกตตัวเองก่อนที่อะไรจะสายเกินไป



ทำความเข้าใจ ‘โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ’
คุณหมอจีระศักดิ์บอกว่า โดยปกติแล้วหัวใจของคนเราจะเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ในช่วง 60 – 100 ครั้งต่อนาที แต่หากว่าน้อยหรือมากกว่านั้นก็อาจเป็นไปได้ว่าการเต้นของหัวใจทำได้ไม่สม่ำเสมอ เกิดจากการที่มีบางตำแหน่งในหัวใจที่กำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติ หรือมีจุดวงจรลัดไฟฟ้าเล็กๆ ภายในหัวใจ ทำให้การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ โดยการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอนี้ก็จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ไม่สม่ำเสมอแบบผิดจังหวะเป็นพักๆ และ ไม่สม่ำเสมอตลอดเวลา

ไหนใคร… เสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ความเสี่ยงนั้นก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งถ้าสาเหตุนั้นเกิดจากกรรมพันธุ์ก็สามารถพบในกลุ่มคนอายุน้อย หรือยังไม่ถึง 30 ปี แต่จะพบได้ไม่มากนัก นอกจากนี้เมื่อเราอายุมากขึ้นเรื่อยๆ หัวใจก็จะเต้นช้าลงโดยธรรมชาติ คือ หัวใจของเราจะสามารถเต้นสูงสุดได้ เมื่อออกกำลังกาย สามารถคำนวนได้โดยนำ 220 ลบอายุ ฉะนั้นเมื่อเราอายุมากขึ้นทุกๆ ปี หัวใจก็จะเต้นช้าลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลต่อวงจรไฟฟ้า ทำให้หัวใจมีโอกาสเต้นผิดจังหวะได้ รวมทั้งการมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น เบาหวาน ความดัน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์ หรือมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจเสื่อม ก็จะเหนี่ยวนำทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะเมื่ออายุมากขึ้น



อายุน้อย หรือนักกีฬาที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็อย่าชะล่าใจ
ในคนอายุน้อยนอกจากเรื่องของกรรมพันธุ์แล้วก็มีโรคบางอย่างที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น โรคกรรมพันธุ์ที่เรียกว่าโรคไหลตาย โรคลิ้นหัวใจรั่วแต่กำเนิดหรือโรครูมาติดฮาร์ทที่เกิดตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัย 20 – 30 ก็เหนี่ยวนำทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งในปัจจุบันเมื่อการสาธารณะสุขดีขึ้นมียาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมมากขึ้น ก็ทำให้ความเสี่ยงของโรคนี้น้อยลง แต่จะเป็นความเสี่ยงของโรคกินดีอยู่ดีที่เกิดขึ้นในคนอายุน้อยมากขึ้น เพราะขาดการออกกำลังกาย เป็นโรคอ้วน รวมถึงมีภาวะนอนกรนก็สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความเหนื่อยสูง จนหัวใจโต พอหัวใจโตก็เหนี่ยวนำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ในบางครั้ง ส่วนอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเนื่องจากวงจรไฟฟ้า ที่เรียกว่า Long QT ก็จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะในคนอายุน้อยได้ เช่นเดียวกับการได้รับสารเคมี ยาทอกซินบางอย่างก็ทำให้เกิดความเสี่ยง นอกเหนือจากนี้ในส่วนของนักกีฬาที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็อาจจะมีเรื่องของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา ทำให้เลือดไม่สามารถสูบฉีดไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจเอง  เมื่อเลือดไปเลี้ยงไม่พอก็เกิดเหนี่ยวนำทำให้หัวใจเป็นตะคริว มีอาการเต้นผิดจังหวะ ทำให้หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในที่สุด

สังเกตอาการเบื้องต้นง่ายๆ ด้วยตัวเอง
คุณหมอแนะนำว่า แรกเลยก็คือต้องดูอาการตัวเองก่อน ถ้าเราลองสังเกตตัวเองดูจะเห็นว่าปกติหัวใจจะเต้นสม่ำเสมอ แต่เมื่อไหร่ที่จังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ คือเต้นเร็วหรือช้าเป็นพักๆ ก็ดูว่าพักหนึ่งนานแค่ไหน ถ้าหากว่าถึง 5 นาที แล้วทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย หรือวูบเป็นลม หรือถ้าเดินออกกำลังแล้วรู้สึกว่าใจหวิวๆ ผิดปกติ ก็ต้องระวังว่าอาจจะมีโรคบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ ให้ไปปรึกษาแพทย์ แต่ถ้าไม่มั่นใจปัจจุบันก็มีตัวหนีบออกซิเจน หรือ smart watch ที่ใช้กันเป็นประจำ ซึ่งสามารถดูการเต้นของหัวใจได้เหมือนกัน และถ้าการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 50 หรือมากกว่า 100 ก็ควรจะระวังว่ามีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย หรือออกกำลังแล้วระดับการเต้นของหัวใจจาก 70 กระโดดไป 160 หรือ 180 ทั้งที่เพิ่งเดินไม่กี่ก้าว ก็ต้องระวังว่าอาจจะมีปัญหาทางด้านหัวใจ

รักษาหายไหม จะกลับมาเป็นปกติหรือเปล่า
สำหรับการรักษานั้นก็ต้องมองหาสาเหตุจากปัจจัยที่ได้กล่าวไปว่ามาจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยภายใน แล้วก็ไปรักษาที่สาเหตุนั้น แต่ถ้าตรวจแล้วว่ามีแต่วงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติ ก็ต้องมาดูต่อว่า ถ้าวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกตินั้นเกิดจากวงจรไฟฟ้าที่ลัดวงจร ก็อาจจะใช้ยา หรือใช้วิธีจี้วงจรไฟฟ้านั้นทิ้ง สำหรับอาการเต้นเร็วก็อาจจะควบคุมด้วยยา แต่บางเคสที่มีการเต้นช้าร่วมด้วย ก็ต้องใส่ Pacemaker เครื่องช่วยเข้าไปเพื่อช่วยในช่วงที่เต้นช้า เพราะยาที่ป้องกันเรื่องเต้นเร็วจะทำหน้าที่กดหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้ามากขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถควบคุมได้ในคนที่อายุไม่มากจนเกินไป คือทำให้หัวใจกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ถ้ารักษาได้ทันท่วงที แต่ถ้าทิ้งไว้นานจนกล้ามเนื้อหัวใจแย่มากๆ หรือคนที่อายุมากขึ้น อาจจะทำให้การดำเนินชีวิตดีขึ้นบ้าง ไม่ถึงกับเป็นปกติ แต่อย่างน้อยก็ลดความถี่ในการนอนโรงพยาบาลได้

เคล็ดลับดีๆ ดูแลหัวใจให้แข็งแรง
อย่างแรกเลยก็ต้องคอยสังเกตอาการตัวเองว่ามีอะไรผิดปกติไหม ตรวจสุขภาพปีละครั้ง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะเป็นเครื่องมือเช็กสุขภาพของเราได้ คือถ้าเคยออกกำลังได้ตามปกติ มีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนทั่วไป หรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์เบื้องต้นแล้วไม่มีปัญหาทางด้านหัวใจเราก็สามารถออกได้สม่ำเสมอ แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งที่รู้สึกว่าออกได้น้อยลงกว่าเดิม ออกแล้วเหนื่อยขึ้น หัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติ หรือมีความผิดปกติอื่นใด นั่นก็เป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจมีอะไรที่ผิดปกติไปจากเดิม แต่ถ้าคนที่ไม่เคยมีการออกกำลังกายเลยก็จะบอกไม่ได้ว่าหัวใจมีปัญหาหรือเปล่า ต้องรอให้เป็นมากก่อนถึงจะเจอ ดังนั้นถ้าอยากรู้ตัวแต่เนิ่นๆ ก็ต้องหมั่นออกกำลังกาย
-->