“ผมร่วง” สัญญาณอันตรายที่บอกว่าร่างกายกำลังน่าเป็นห่วง



“ผมร่วงตรงไหน เอาปากกามาวง” ถ้าพูดแบบนี้คงจะได้วงกันวนไปจนมือหงิก เพราะแน่ใจเหรอว่าอาการผมร่วงที่เกิดขึ้น มาจากสาเหตุธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย เอาเป็นว่าถ้าอยากแน่ใจ ลองมาหาคำตอบกับ พญ.เมธชนัน เลิศชุณหะเกียรติ แพทย์หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 3 ที่จะมาไขข้อสงสัยให้คลายความกังวลใจเกี่ยวกับอาการผมร่วง พร้อมหาวิธีแก้ไขก่อนจะกลายเป็น (เศรษฐีเงิน) ล้าน



ผมร่วงเกิดจากอะไร ไหนลองเช็ก!
“โดยปกติธรรมชาติของเส้นผมคนเราจะหลุดร่วงเองทุกวัน ประมาณวันละ 100 เส้น ซึ่งหากว่ามากกว่านี้ หรือหลุดร่วงเป็นกำ เป็นกระจุก หรือมีอาการผิดปกติที่หนังศีรษะร่วมด้วย ไม่ว่าจะมีอาการคัน แดง มีสะเก็ด มีผื่นขึ้น มีหนองที่หนังศีรษะ แสดงว่ากำลังมีปัญหาบางอย่างที่ต้องไปพบแพทย์ ซึ่งในมุมของหมอสาเหตุของผมร่วง ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย”

• พฤติกรรมทำร้ายผม
อันดับแรกก็จะต้องดูเรื่องพฤติกรรมก่อน ว่ามีพฤติกรรมที่ทำให้หนังศีรษะเกิดความอับชื้นบ่อยๆ ไหม เช่นการใส่หมวกตลอดเวลา หรือมีการทำร้ายเส้นผมอย่างการทำเคมี ทำสีผม ดัดผม ยืดผมบ่อยๆ หรือมีพฤติกรรมที่ชอบมัดผม เกล้ามวย ทำให้หนังศีรษะรู้สึกตึงบ่อยๆ หรือเปล่า เพราะสิ่งเหล่านี้มักจะเป็นพฤติกรรมทำร้ายผม ที่เราทำจนเคยชิน

• (ผม) ร่วง เพราะ โรค
สำหรับบางโรคก็เป็นในกลุ่มของโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune) หรือกลุ่มโรคผิวหนังที่หนังศีรษะ หนังศีรษะอักเสบ มีอาการอักเสบ เป็นรังแค เชื้อรา ก็ทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน

• สารอาหารไม่ถึง...ผม
ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะเป็นคนที่กินมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ทำให้ขาดธาตุเหล็ก วิตามินดี และเกลือแร่บางตัวที่ช่วยในเรื่องของเส้นผม รวมถึงกลุ่มของคนที่ลดน้ำหนักแบบผิดวิธี ซึ่งบางคนมีพฤติกรรมการกินที่ผิด คือไม่กินอะไรเลย หรือกินอาหารแค่บางชนิดอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้หลากหลาย หรือกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบ ก็จะส่งผลให้ขาดต้นทุน หรือสารที่ช่วยทำให้รากผมแข็งแรง

• ความผิดปกติของฮอร์โมน
ตัวการสำคัญที่ทำให้ผมร่วงคือ ฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาผมร่วงจากกรรมพันธุ์ โดยมากแล้วจะพบในผู้ชาย แต่ขณะเดียวกันผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นได้ ดังนั้นจึงต้องไปดูที่ประวัติพันธุกรรม แต่ส่วนที่พบได้บ่อยก็คือกลุ่มของไทรอยด์ สามารถพบได้ทั้ง Hypothyroid และ Hyperthyroid คือไทรอยด์ต่ำและสูง โดยจะเกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ซึ่งเมื่อร่างกายมีระบบการเผาผลาญที่ผิดปกติ ก็ส่งผลให้กระบวนการผลัดเปลี่ยนของระยะเส้นผมแปรปรวนและหลุดร่วงได้ มาพร้อมกับอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักเปลี่ยนแปลง ยิ่งไปกว่านั้นหากว่าเป็น Hyperthyroid ก็จะทำให้มีอาการเหนื่อยหอบ หัวใจเต้นเร็ว และถ้าเป็นมากก็อาจส่งผลถึงแก่ชีวิตได้

ฮอร์โมนมีปัญหา รักษาอย่างไร
ก่อนจะไปที่การรักษา ต้องมาดูสาเหตุที่ทำให้ฮอร์โมนผิดปกติก่อน โดยในส่วนของ DHT นี้จะเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งตรงกันข้ามกับไทรอยด์ที่สามารถเกิดได้จากการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้ขาดเกลือแร่ต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในเรื่องของการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ เช่น ซิงค์ สังกะสี ซีลีเนียม คอปเปอร์ ทองแดง รวมถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของไทรอยด์ก็คือ ความเครียด เพราะเมื่อไหร่ที่เครียดมากๆ อาจจะส่งผลให้ร่างกายมีสภาวะ hypothyroid หรือสภาวะไทรอยด์ต่ำ ก็ทำให้ผมร่วงได้

คุณหมอแนะนำว่า อันดับแรกก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงภาวะความเครียด เมื่อไหร่ที่รู้ตัวว่าเครียดให้หาวิธีระบาย ยิ่งบางคนเมื่อเครียดแล้วจะมีการดึงเส้นผมโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นภาวะทางจิตเวชอย่างหนึ่งร่วมด้วย ควบคู่ไปกับการกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้ประโยชน์ครบถ้วน กินอาหารที่มีโภชนาการที่ดี ปรุงสดใหม่ ไม่กินอาหารที่ปรุงสำเร็จ หรืออาหารแช่แข็ง เพราะวิตามินเกลือแร่ก็จะสูญเสียไป ทำให้ร่างกายไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร รวมถึงดูแลเรื่องสุขอนามัย ถ้าเริ่มมีผมร่วงมากขึ้น ก็อาจจะสระผมวันเว้นวัน และไม่ปล่อยให้หนังศีรษะอับชื้น ไม่มัดผมตึงบ่อยๆ หรือสำหรับคนที่ต้องเกล้าผม รวบผมไปทำงาน พอกลับถึงบ้านก็ควรที่จะมีเวลาปล่อยผมบ้าง ไม่อย่างนั้นจะเป็นการดึงรั้งเส้นผมอยู่ตลอดเวลา นอกเหนือจากนี้ก็สามารถชดเชยด้วยอาหารเสริม ที่มีโปรตีนหรือเกลือแร่ ก็จะช่วยประคับประคองอาการผมร่วงและทำให้ดีขึ้นได้ แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญก็คือเรื่องของพฤติกรรมและการดูแล เพราะหากว่าได้รับการชดเชยจนผมร่วงน้อยลงแล้ว แต่ยังคงมีพฤติกรรมที่ทำให้ผมร่วง ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกได้เรื่อยๆ

 
-->