'ถ่ายเป็นเลือด' อาจไม่ใช่แค่เรื่องของริดสีดวง

ระหว่างที่นั่งปลดทุกข์อยู่ในห้องน้ำตามปกติ ทันใดที่หันกลับไปกดชักโครก ตามันก็เหลือบไปเห็นเลือดที่ปนมากับอึด้วย!!! ทำยังไงดีล่ะทีนี้ ไม่ว่าใครที่เคยประสบเหตุการณ์แบบนี้ด้วยตัวเอง แน่นอนว่าจะต้องเกิดความกังวล คิดไปต่างๆ นานาว่าอาจเป็นโรคร้าย หรืออาการแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ แล้วมันซีเรียสถึงขนาดต้องไปหาหมอรึเปล่า?



วันนี้ ผศ.นพ.ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ASIT โรงพยาบาลพญาไท 3 จะมาอธิบายให้ฟังว่าอาการถ่ายเป็นเลือดสามารถบอกโรคอะไรได้บ้าง และลักษณะแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์ 

Self-check ระดับความรุนแรงของการถ่ายเป็นเลือดเราสามารถสังเกตอุจจาระของตัวเอง เพื่อประเมินความรุนแรงเบื้องต้น “ให้สังเกตจากจำนวนครั้งที่ถ่ายเป็นเลือดและปริมาณเลือดที่ออกมา คนที่อุจจาระแล้วมีเลือดออกมากก็จะมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่า นอกจากนี้ให้ลองสังเกตลักษณะของเลือดที่ปนมากกับอุจจาระ ถ้ามีเลือดหยดหลังจากถ่ายอุจจาระ อาจเกิดจากบาดแผลที่เส้นเลือดดำส่วนปลายทวาร แต่ถ้าอุจจาระมีเลือดปนอยู่ด้วยหรือถ่ายออกมามีเลือดอย่างเดียว แสดงว่ามีเลือดออกมากในลำไส้ใหญ่ซึ่งจากความผิดปกติบางอย่าง”

ถ่ายเป็นเลือด...เสี่ยงโรคอะไรได้บ้างคุณหมออธิบายให้ฟังว่า “การถ่ายอุจจาระเป็นเลือดมีหลายรูปแบบมาก ซึ่งแต่ละแบบก็จะช่วยให้วินิจฉัยโรคออกมาได้ไม่เหมือนกัน” ดังนั้นเราจะพามาดูโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการถ่ายเป็นเลือด


# แผลปริที่ขอบทวารหนักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้สำหรับแผลรอยแยกหรือแผลปริขอบทวารหนัก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการถ่ายอุจจาระก้อนใหญ่และแข็ง ทำให้ครูดและกลายเป็นแผล คล้ายกระดาษที่ถูกคัตเตอร์กรีด

Advice! ทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง นั่งแช่ในน้ำอุ่นเพื่อช่วยให้หูรูดคลายตัว หรือหากมีอาการเรื้อรังควรพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างจริงจัง


# โรคริดสีดวงทวารถ้าหลังจากถ่ายเสร็จแล้วมีเลือดหยดออกมา หรือมีเลือดเปื้อนทิชชู่ตอนเช็ดทำความสะอาด แต่สีของอุจจาระยังปกติ นี่อาจเป็นสัญญาณของโรคริดสีดวงซึ่งเกิดจากการเบ่งอุจจาระเป็นประจำ ทำให้เส้นเลือดดำที่ปลายทวารหนักบวม บางคนอักเสบมากๆ อาจทำให้ตุ่มริดสีดวงหลุดออกมาด้านนอกบริเวณปากทวาร ทำให้รู้สึกเจ็บเวลาเดินหรือนั่ง มีอาการคันบริเวณก้น เป็นๆ หายๆ และขับถ่ายลำบาก 

Advice! ปรับพฤติกรรมด้วยการทานอาหารทีมีไฟเบอร์สูงและดื่มน้ำให้เพียงพอ จะช่วยให้อุจจาระได้ง่ายขึ้น แม้โรคริดสีดวงจะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ก็สร้างความรำคาญไม่น้อย หากส่งผลต่อการใช้ชีวิตควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาด้วยยา หากไม่หายขั้นต่อไปคือการรักษาด้วยการผ่าตัด 


# โรคเส้นเลือดของลำไส้ใหญ่ผิดปกติโรคนี้มักพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป เกิดจากเส้นเลือดเส้นเล็กๆ มีจำนวนมากขึ้นผิดปกติ ทำให้เวลาขับถ่ายจะมีเลือดออกมาด้วยทั้งแบบก้อนและน้ำเลือด แต่จะไม่มีอาการปวดท้อง 

Advice! สำหรับบางคนเลือดจะหยุดเองได้ แต่ยังไงก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าไม่ได้เกิดจากโรคอื่นที่ร้ายแรง 


# ติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ผิดปกติ และมักพบในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ความน่ากลัวคือติ่งเนื้องอกนี้สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แถมเนื้องอกนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่บางครั้งอาจมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ ทำให้มีเลือดเคลือบที่ผิวอุจจาระที่ขับถ่ายออกมา โดยอาจจะมีอาการเป็นๆ หายๆ ทำให้หลายคนไม่ใส่ใจ

Advice! คุณหมอแนะนำว่าคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจลำไส้เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อที่อาจเกิดขึ้น    


# ลำไส้ใหญ่อักเสบเกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคบิดทั้งที่มีตัวและไม่มีตัว ซึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อน ทำให้ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายบ่อย มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกร่วมกับมีเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด

Advice! วิธีป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดคือการเลือกกินอาหารที่ปรุงสดใหม่ หากมีอาการผิดปกติข้างต้นควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะช็อกได้ 


# มะเร็งลำไส้ใหญ่มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่มักจะพบในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยผู้ป่วยจะมีอาการขับถ่ายผิดปกติ เช่น อุจจาระเป็นมูกเลือด ท้องเสียสลับท้องผูกบ่อยๆ เป็นๆ หายๆ อึดอัด แนนท้อง ปวดท้อง มีอาการท้องอืดบ่อย โดยมะเร็งชนิดนี้เกิดจากกรรมพันธุ์ และการทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ มักรักษาไม่หายขาด 

Advice! คนที่มีอายุ 60 ขึ้นไป หรือมีญาติใกล้ชิดมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน อย่าละเลยที่จะไปตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

มันเป็นเรื่องยากที่จะฟันธงด้วยตัวเองว่าสาเหตุของเลือดที่ปนออกเกิดจากอะไรกันแน่ ฉะนั้นการรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดจึงเป็นวิธีที่ถูกต้องและตรงจุดที่สุด! 


 
-->