8 นิสัยขับถ่ายแปลกๆ ที่วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

คนที่มีระบบขับถ่ายเป็นปกติดี อาจมองว่าการเข้าห้องน้ำทุกเช้าเป็นประจำนั้นเป็นเรื่องแสนจะธรรมดา แต่สำหรับคนที่ถ่ายไม่ค่อยออก นานเป็นสัปดาห์กว่าจะออกแต่ละที อาจจะอิจฉาพวกคุณอยู่ก็ได้

แต่หลายครั้งที่พฤติกรรมนี้สร้างความสงสัยให้เราอยู่เหมือนกัน เช่น ทำไมทุกเช้าที่ตื่นต้องผายลมก่อน บางครั้งก็รู้สึกหนาวๆ ระหว่างลำเลียงของเสียออกมา หรือทำไมต้องแสบก้นทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำหลังจากกินของเผ็ดๆ ... วันนี้เราเจอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ มาดูกันดีกว่าว่า 8 เรื่องใกล้ตัว มีอะไรบ้าง


• เราตื่นมาฉี่ แต่ไม่เคยตื่นมาอึกลางดึกเลย :
Pankaj J. Pasrichaz แพทย์ผู้อำนวยการศูนย์ระบบประสาททางเดินปัสสาวะ ม.จอห์น ฮอบกินส์ บอกว่า เซลล์ประสาทในลำไส้นั้นอัจฉริยะและซับซ้อน สามารถควบคุมการหดตัวของลำไส้เพื่อการขับถ่ายของเสีย นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากวงจรการนอนของแต่ละคน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องตื่นกลางดึกเพื่ออึ แต่อีกแง่ ความจุของกระเพาะปัสสาวะมีขีดจำกัด เมื่อรับของเสียจากไตจนปัสสาวะเต็มแล้วก็ต้องลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำเพื่อระบายออก โดยปกติคนเรานอนหลับ 6-8 ชั่วโมงต่อคืนได้โดยไม่ต้องลุกมาฉี่ ทั้งนี้ หากเราป่วยเป็นโรคบางอย่างหรือก่อนนอนดื่มน้ำมากกว่าปกติ ก็มักต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำ 

• ผายลมเยอะมาก ก่อนอึตอนเช้า :
Anish Sheth ศัลยแพทย์ระบบทางเดินอาหารจาก ม.พรินซตัน บอกว่า ระหว่างที่เรานอนหลับ ลำไส้เราก็พักและจะเริ่มทำงานอีกครั้งเมื่อเราตื่นนอน แล้วลำไส้จะโยกย้ายแก๊ซที่เกิดระหว่างหลับมารวมกันไว้ ผลคือการผายลมที่ดังและยาวนานที่สุดจะเกิดในช่วงเช้าที่ตื่นนอนนั่นเอง


• กินกาแฟแล้วต้องเข้าห้องน้ำทุกที :
คนที่ดื่มกาแฟราว 30% จะเป็นแบบนี้ ซึ่งมีการวิจัยยืนยันว่ากาแฟช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ให้มีการขับถ่ายของเสียเร็วขึ้นโดยมีปัจจัยหลักคือความเป็นกรดของกาแฟ ที่ไปเพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้กระบวนการขับถ่ายของเสียเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ

• บางทีก็รู้สึกหนาวจนตัวสั่นระหว่างที่อึอยู่ :
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินอาหารจาก ม.พรินซตัน เรียกกระบวนการนี้ว่า poo-phoria ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระบบขับถ่ายของเราไปกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสซึ่งไหลจากก้านสมองไปยังลำไส้ใหญ่ โดยเส้นประสาทเวกัสมีส่วนสำคัญต่อการทำหน้าที่ของร่างกายหลายอย่าง รวมถึงระบบย่อยอาหาร การควบคุมชีพจรรวมทั้งความดันโลหิตให้เป็นปกติ เมื่อเส้นประสาทเวกัสถูกกระตุ้นจะทำให้เรารู้สึกคล้ายกับหนาวสั่นและอาจมีเหงื่อออก แต่อาการไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำหรอกนะ

• เที่ยวต่างประเทศทีไร ท้องผูกทุกที :
เกือบร้อยละ 40 ของคนที่เดินทางมักจะเจอปัญหาท้องผูก ซึ่งเป็นผลจากกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อเราเดินทางไปยังประเทศที่เวลาต่างจากบ้านเกิดเราเยอะๆ ทำให้เวลากินอาหารเปลี่ยนไป เวลานอนเปลี่ยนไป หรือแม้กระทั่ง Jet lag ซึ่งมีผลต่อนาฬิกาชีวิตของเราโดยตรง นั่นรวมถึงระบบย่อยอาหารด้วย


• แสบก้นทุกครั้งหลังจากกินของเผ็ด :
สารประกอบที่ทำให้ส้มตำหรือปีกไก่เกาหลีมีรสจัดจ้านหรือเผ็ดจัดจะไม่เปลี่ยนรูปแบบแม้ว่าจะผ่านการย่อยแล้ว Luigi Basso ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดส่องกล้องจาก Sapienza University of Rome บอกว่าทั้งลำไส้ตรง ทวาร และรูทวาร ล้วนมีเซลล์รูปแบบเดียวกับในช่องปาก ทำให้ทุกครั้งที่มันเคลื่อนผ่านอวัยวะเหล่านี้ ก็จะรู้สึก “เผ็ดร้อน” เช่นเดียวกับตอนที่เรากินเข้าไป 

• มีประจำเดือนแล้วทำไมอึมากกว่าปกติ :
Jennifer Gunter สูตินรีแพทย์จากซานฟรานซิสโก บอกว่า เมื่อประจำเดือนมา ร่างกายจะมีการปล่อยฮอร์โมนพรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ที่ช่วยทำให้มดลูกเกิดการหดเกร็ง ซึ่งนั่นจะกระทบลำไส้ของเราด้วย เราจึงปวดอึมากกว่าปกติ

• กดชักโครกไม่ลง เพราะน้องๆ ไม่ยอมจม :
อึที่ลอยอยู่เพราะมีไขมันอยู่มาก ซึ่งอาจสะท้อนว่าร่างกายกำลังมีมีปัญหาการดูดซึมสารอาหารจากอาหารที่กินเข้าไป ซึ่งการดูดซึมอาหารผิดปกติ อาจกำลังสะท้อนว่าเราป่วยเป็นโรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease) หรือโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic pancreatitis) อย่างไม่รู้ตัว ถ้าใครเจอปัญหานี้อยู่เสมอ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย

เป็นไงกันบ้าง? บางเรื่องอาจไขความกังวล ทำให้เราสบายใจมากยิ่งขึ้น แต่อย่างข้อสุดท้ายนี้ทำให้หลายคนเครียดได้เหมือนกัน ดังนั้น วันหลังก็ลองสังเกตตัวเองดีๆ ว่าทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า เพราะช่วงเวลาสั้นๆ ในสุขาอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงความผิดปกติของร่างกายอยู่ก็ได้นะ 



 
-->