Binge Watching ติดซีรีส์จนไม่หลับไม่นอน เสี่ยงพังทั้งกายและใจ

 
“(อีก) ตอนเดียวทิพย์” รู้นะว่าหลายๆ คนก็เป็น ยิ่งในช่วงเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่กับบ้าน เข้าสู่วงการซีรีส์ วงการที่ไม่ว่าใครได้เข้าก็ยากที่จะโบกมือลา แถมถ้าเรื่องไหนอินๆ นะ บอกเลยว่ายันหว่าง (สว่าง) ก็ไหว คำว่า “ง่วง” สะกดยังไงไม่รู้เลย และถึงแม้จะเป็นเรื่องจริงที่ว่ายังไงอาการติดซีรีส์ก็ดีกว่าการติดโควิด-19 เป็นไหนๆ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเลยเมื่อไหร่กัน
 

สนุกจนหยุดดูไม่ได้...เลยเหรอ?
Binge Watching คือการดูซีรีส์หลายๆ ตอนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือบางคนอาจจะถึงขั้นว่าดูรวดเดียวจบซีซั่นเลยก็ได้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ แต่เพียงแค่อยากจะรู้เรื่องราวในตอนต่อไป (ต่อไป และต่อไป...เรื่อยๆ) เท่านั้น ซึ่ง Jan Van den Bulck และ Liese Exelmans สองนักวิจัยจาก University of Michigan ได้ทดลองศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรม Binge Watching และคุณภาพในการนอนหลับพบว่า สิ่งที่ทำให้เสพติดการดูซีรีส์แบบ non-stop นี้ เป็นเพราะขั้นตอนการทำงานของสมองที่มีความสัมพันธ์กับสารเคมีและฮอร์โมน ซึ่งทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ ตื่นเต้น สงสัย ฯลฯ อันเป็นผลมาจากในฉากจบแต่ละตอนของซีรีส์มักจะจบตอนด้วยการหักมุม หรือทิ้งท้ายด้วยคำถาม ทำให้เกิดความสงสัยและเครียดฉับพลัน จนร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมน Corticotropin-Releasing Hormone หรือ CRH ออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ ซึ่ง CRH นี่ก็ดันไปกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนชนิดอื่นๆ ที่ทำให้ตื่นตัวจากความเครียด พอร่างกายตื่นตัวก็จะไม่รู้สึกง่วง และไปขัดขวางการนอนหลับนั่นเอง
 
นอกจากนี้ในขณะที่เกิดอาการ Binge Watching สมองจะหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ออกมาด้วย ซึ่งสารนี้จะเป็นเหมือนการให้รางวัลตามธรรมชาติของสมอง เมื่อร่างกายได้รับสารโดพามีนก็จะรู้สึกมีความสุข อีกทั้งโดพามีนยังช่วยลดความเจ็บปวดทางใจได้ด้วย



ลองสังเกตดูได้จากเวลาที่เครียด ซึม เศร้า เหงา อกหัก การดูซีรีส์ยาวๆ นั้นสามารถทำให้รู้สึกดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดการหลั่งสารโดพามีน จึงทำให้เราเสพติดความสุข และไม่อยากที่จะหยุดเสพ จนทำให้...
 
►ดูรวดเดียวได้จนจบเรื่อง หรือดูต่อเนื่อง 7 – 8 ชั่วโมงขึ้นไป
►ติดซีรีส์จนลืมเวลาทำกิจวัตรประจำวัน เช่น กินข้าวผิดเวลา นอนไม่เป็นเวลา
►เมินสัญญาณเตือนจากร่างกาย คือ ถึงแม้จะมีอาการก่อนเพลีย แต่ก็ยังกดหยุดไม่ได้
►ประสิทธิภาพความรับผิดชอบต่อหน้าที่ต่างๆ ลดลง รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่กับซีรีส์
 
ระวังร่างกายพังเพราะซีรีส์
การติดซีรีส์จนไม่เป็นอันทำอะไร อาจยังไม่กระทบกับสุขภาพตอนนี้ แต่ในระยะยาวล่ะ รู้มั้ยว่าจะส่งผลยังไงบ้าง
• โรคทางสายตา หรือ Computer Vision Syndrome เกิดจากการใช้สายตามองจอเป็นเวลานานทั้งคอมพิวเตอร์และมือถือ ส่งผลให้มีอาการตาแห้ง ปวดตา ตาล้า สายตาพร่ามัว รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงของโรควุ้นในตาเสื่อม และโรคต้อหินเฉียบพลันได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจมีอาการปวดหัวได้ เพราะระบบประสาทตาเชื่อมต่อไปที่สมองนั่นเอง
• ร่างกายอ่อนเพลียสะสม เกิดจากเวลาพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมถึงอาการนอนไม่หลับที่เป็นผลมาจากแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์ซึ่งรบกวนสมอง ทำให้แม้จะอยากนอนแต่ก็นอนหลับยาก ส่งผลต่อความแข็งแรงของร่างกาย เมื่อร่างกายอ่อนแอลงจึงเหมือนเป็นการเปิดประตูต้อนรับโรคร้ายที่มีอยู่รอบตัว
• ปวดหัวเรื้อรัง ซึ่งนอกจากจะเป็นผลจากการใช้สายตาอย่างหนักแล้ว ยังเกิดจากการนอนน้อยร่วมด้วย จึงทำให้เกิดอาการได้ง่ายกว่าโดยทั่วไป 
• โรคกระเพาะถามหา ด้วยเพราะนอกจากจะกินข้าวไม่เป็นเวลาแล้ว บางคนยังดูเพลินจนลืมกิน กว่าจะนึกได้ว่าต้องกินก็ต้องกินควบสองมื้อ หรือถ้าหนักกว่านั้นก็อาจเหลือแค่วันละมื้อ 
• อ้วนขึ้น เพราะการดูซีรีส์เป็นกิจกรรมที่แทบจะไม่ได้เบิร์นแคลลอรีเลย ยิ่งถ้าใครตามใจปากกินไปดูไป ขนมนมเนยไม่เคยขาดด้วยแล้ว เตรียมบอกลาตาชั่งได้เลย
• หงุดหงินฉุนเฉียว นี่ก็เป็นผลพวงจากการนอนน้อย ทำให้อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เห็นอะไรขัดหูขัดตานิดหน่อยก็หัวร้อนขึ้นมา จนพาให้คนรอบข้างเบือนหน้าไม่กล้าเข้าใกล้
• เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้โดยที่ไม่ต้องทำงาน เพราะการถือโทรศัพท์ หรือการนอนดูซีรีส์ในท่าเดิมๆ เป็นเวลานานก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยเรื้อรังได้
• มีอาการซึมเศร้า หรือ Post-Series Depression (PSD) โดยเฉพาะเรื่องที่อินมากๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการใจหาย เศร้าเมื่อซีรีส์จบ จนนำมาซึ่งภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด

 
ดูซีรีส์ยังไงให้ร่างไม่พัง?
1. กำหนดเวลา หรือจำนวนตอนที่จะดู โดยต้องไม่มีการต่อเวลา หรือแอบเปิดดูตอนต่อไปเด็ดขาด
2. ถ้าอดใจที่จะดูตอนต่อไปไม่ได้จริงๆ ให้หยุดดูตั้งแต่ช่วงกลางแทน จะได้ไม่เกิดอาการอารมณ์ค้างจนต้องแอบเปิดดูตอนต่อไป
3. ตั้งเป้าหมายในการใช้ชีวิตให้ชัดเจนขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำเรื่องอื่นๆ บ้าง
4. หากิจกรรมเสริมอื่นๆ ทำ เพื่อเป็นการหันเหความสนใจ และแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ
5. พักสายตาทุกๆ 30 – 40 นาที ด้วยการลุกไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ หรือหลับตาพักสักครู่
6. ขยับเขยื้อนเปลี่ยนท่าทางบ้าง อย่าสตัฟฟ์ตัวเองอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ 
7. ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ถ้าไหนๆ จะดูเพลินจนลืมเวลาขนาดนั้นก็ลองดูไปพร้อมกับการออกกำลังกายซะเลย จะได้ฆ่าเวลาและได้สุขภาพไปในตัวด้วย
8. หาเพื่อนดู จะได้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ และลดระยะเวลาการจ้องมองที่หน้าจอเป็นเวลานานๆ ได้
-->