Mental Health สัญญาณอันตรายที่ไม่อยากให้ใครมองข้าม



เมื่อรู้สึกป่วยเล็กๆ คุณอาจจะซื้อยามากินเองได้ แต่หากป่วยหนักก็ต้องหาหมอ เรื่องแบบนี้ใครๆ ก็รู้ก็ทำกัน แต่นั่นมันมีสัญญาณการป่วยทางกายที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ เพราะมันแสดงออกชัดว่า “เจ็บ” หรือ “ปวด” แต่ยังมีอีกหนึ่งสัญญาณอันตรายที่คนส่วนใหญ่ละเลย ซึ่งหากปล่อยไว้นานเข้าสักวันชีวิตอาจจะ “พัง” สิ่งนั้นก็คือ...

 

สัญญาณทางจิตใจ
เรื่องของจิตใจ เรามักจะไม่ค่อยรู้ตัวหรอกว่า เราอาจจะหงุดหงิดหรือขี้โมโหง่ายขึ้น มองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น เริ่มขี้บ่น มีความกังวลใจตลอดเวลา มีอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสนุก เดี๋ยวเศร้า มีความหวาดหวั่นใจ หรือรู้สึกชีวิตไม่มั่นคง แต่ถ้าเรารู้จักสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ชิด เราจะพบสัญญาณเตือนบางอย่าง โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่การอยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น มีการสูญเสียบางอย่าง การที่เราร้องไห้ในเรื่องเล็กน้อยหรือมีอารมณ์ที่เปลี่ยนไปในขณะที่ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงเกินขึ้นในชีวิต นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า เราเริ่มไม่พอใจในชีวิตตนเองอยู่ลึกๆ จำเป็นที่จะต้องหาสาเหตุให้พบแล้วรีบแก้ไข
 
ทำอย่างไรดี? เมื่อเริ่มมีสัญญาณเตือน
  • พักผ่อนให้มากขึ้น: โดยเฉพาะการพักผ่อนจิตใจด้วยการทำสมาธิ แค่วางมือถือลง นั่งในท่าที่สบาย กำหนดจิตใจให้สงบ ให้เวลาสมองได้ปล่อยโล่งบ้าง หรือถ้าใครไม่ถนัดทำสมาธิ อาจจะเริ่มจากการเปิดธรรมะในยูทูปดูหรือฟังไปเพลินๆ ก็ได้ 
  • ร้องเพลง หาความบันเทิง:  รู้มั้ยว่าการร้องเพลงก็ช่วยปลดปล่อยอารมณ์ส่วนลึกได้ดีเลยทีเดียว หลังเลิกงานลองชวนเพื่อนไปคลายเครียดร้องเกะกันบ้างก็ดีเหมือนกันนะ แต่ต้องแบ่งสัดส่วนกันให้ดี อย่ายึดไมค์ไว้คนเดียวล่ะ 
  • ทำอาหารสุขภาพกินเอง: นอกจากจะมั่นใจได้ในความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพแล้ว การดูแลเอาใจใส่ตัวเองจะทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นด้วย
  • แวะเดินเล่นที่สวนสาธารณะ: ถ้าอยากจะชิลล์คนเดียวก็เดินคนเดียว แต่ถ้ากลัวเหงาก็ลองโทรนัดเพื่อนสนิทที่ไม่ได้เจอกันนานออกมาอัพเดตชีวิต ความเป็นไปกันบ้างก็ดีเลยล่ะ การไปเดินเล่นในสวนสาธารณะยังจะได้รับพลังบวกจากคนที่รักสุขภาพที่มาออกกำลังกายอีกด้วย
  • ไปออกกำลังกาย: เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ โยคะ หรือชวนเพื่อนตีแบดก็ไม่เลวนะ นอกจากจะสนุกแล้ว ยังได้เรื่องของสุขภาพด้วย เพราะเมื่อหัวใจได้เต้นหนัก เหงื่อออกดี สารเคมีในร่างกายก็จะสมดุลดีขึ้น
 
ทำทุกทางแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น...ต้องทำไงต่อ
  • สำรวจปัญหาอย่างจริงจัง ที่ไม่ใช่แบบว่า... นึกคิดไปเรื่อยๆ วนไปวนมา แล้วฟุ้งไป แต่ให้จดและแยกแยะปัญหา แล้วพิจารณาว่าปัญหาไหนที่ต้องเร่งแก้ ส่วนไหนที่รอได้ และสุดท้ายคือ.. อะไรที่ไม่ใช่ปัญหาแต่เราคิดเยอะไปเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นอันหลังสุดนี้แหละที่เราหาทางออกไม่เจอ 
  • จัดสรรเวลาชีวิต  หากคุณเป็นคนที่มีงานเยอะมาก อาจจะมาเริ่มงานให้เช้าขึ้น เพราะตอนเช้าสมาธิยังเต็มเปี่ยม ลองแพลนดูว่าวันนี้จะต้องทำอะไรให้เสร็จ ก่อน หลัง และเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็จงวางมันลง แต่ก่อนวางก็แค่วางแพลนว่าวันรุ่งขึ้นมีอะไรที่ต้องทำให้เสร็จบ้าง เมื่อทำแบบนี้แล้วเรื่องของพรุ่งนี้ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของพรุ่งนี้ อย่าเพิ่งเอามาแบกให้หนักสมอง
 
ถ้าทำทุกอย่างแล้ว...แต่เหมือนจะไปไม่รอด
เมื่อถึงจุดที่เราเข้าใจและยอมรับว่ามีปัญหา แต่หาทางออกด้วยตัวเองไม่ได้ ลองทำตามคำแนะนำพวกนี้แล้วก็ไม่ดีขึ้น คงถึงเวลาที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญซะแล้ว
  • มีปัญหาด้านการงาน   ให้ปรึกษาหัวหน้างาน หุ้นส่วน เพื่อนร่วมงาน คู่ค้า
  • มีปัญหาด้านเศรษฐกิจการเงิน ปรึกษาคนในครอบครัว ถ้าไม่ไหว ก็นี่เลย... นายธนาคาร แค่อย่าเอาตัวเองไปอยู่ในเงินกู้นอกระบบเด็ดขาด มิเช่นนั้นดอกเบี้ยจะงอกเร็วกว่าถั่วงอก ส่วนตัวเราจะเน่าตาย
  • มีปัญหาด้านสุขภาพ ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถ้ารีบด่วนและมีกำลังจ่ายก็ไป รพ.เอกชนดีๆ ใกล้บ้าน ถ้าอยากประหยัดก็ รพ.รัฐ แต่อาจจะต้องรอนานหน่อย
  • มีปัญหาด้านจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก ความสัมพันธ์ ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น แพทย์หรือผูู้เชี่ยวชาญจะแนะนำทางออกให้เราได้เลือกใช้ตามที่เราเห็นว่าเหมาะ
 
แต่ก่อนที่จะเกิดปัญหา อย่าลืมให้ความสำคัญกับการวางแผนการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท หมั่นทบทวนไลฟ์สไตล์ของตัวเอง แล้ววิเคราะห์ดูว่ามันจะพาเราไปในทิศทางใดในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า การคาดการณ์และมองเห็นปัญหาล่วงหน้า จะพาให้เราหาทางเลี่ยงได้ ด้วยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ตั้งแต่วันนี้...
 
 
-->