กระดูกสันหลังคดในเด็ก...ไม่ใช่เรื่องเล็กนะแม่

ในการประเมินสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก มีหลายปัจจัยที่คุณพ่อ คุณแม่ และแพทย์จะต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นทางร่ายกาย ทางจิตใจ รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมกับลูกหลานในช่วงวัยนั้นๆ เพื่อที่ว่า หากพบเจอปัญหา จะได้แก้ไขรักษาได้ทันท่วงที และหนึ่งสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยในทุกยุคทุกสมัยของวงการแพทย์ไทย คือ ภาวะกระดูกสันหลังคดในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กช่วงวัยที่กำลังมีการเจริญเติบโตจากวัยเด็กหญิงเด็กชายเปลี่ยนผ่านสู่วัยหนุ่มสาว วันนี้ Health Addict จะพาทุกคนไปดูถึงสาเหตุของภาวะนี้กัน



นี่เพราะเราเลี้ยงลูกไม่ดีหรอ? ทำไมถึงกระดูกสันหลังคดได้
คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งโทษตัวเอง โดยทั่วไปแล้ว ภาวะกระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่ที่พบในเด็ก สาเหตุที่พบมาก คือ การหาสาเหตุไม่เจอและเป็นมาตั้งแต่เกิด (congenital scoliosis: CS and idiopathic scoliosis: IS) แต่อาจมีผลมาจากฮอร์โมน หรือระบบประสาทที่ควบคุมการทรงท่า ภาวะกระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่จะพบมากในเด็กช่วงวัย 10-18 ปี หรืออาจเกิดจากยาที่คุณแม่รับประทานขณะตั้งครรภ์ โดยที่ไม่ทราบว่าจะส่งผลให้กระดูกสันหลังมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของลูกในภายหลัง ซึ่งเด็กที่เกิดมาพร้อมภาวะกระดูกสันหลังคดมักจะมีโรคประจำตัวอื่นมาด้วย เช่น โรคทางระบบหัวใจและปอด กล้ามเนื้อรยางค์แขนขาที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อตั้งแต่ต้นแขนไปถึงปลายนิ้ว หรือในบางกรณีจะพบในกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อ ที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือ โปลิโอ สมองพิการนั่นเอง ซึ่งในทุกกรณีหากพบแล้วไม่รีบรักษา ปล่อยให้กระดูกคดเพิ่มมากขึ้น หรือปล่อยให้กระดูกเริ่มคด กระดูกจะคดเร็วขึ้นอีก อาจส่งผลให้เกิดความพิการตามมาในบั้นปลายของชีวิตได้

แล้วจะรู้ได้อย่างไร...ว่าลูกมีกระดูกสันหลังคด
การประเมินภาวะกระดูกสันหลังคด คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตจากลูกๆ ได้อย่างง่าย เช่น เวลาน้องๆ ยืน ช่องว่างระหว่างเอวที่เว้าเข้าไปกับแขนทั้งสองข้างเท่ากันหรือไม่ หรือในอีกวิธีหนึ่ง ให้น้องๆ ยืนตรง ก้มตัวแตะปลายเท้าทั้งสองข้าง หากมีภาวะกระดูกสันหลังคด หลังข้างหนึ่งจะสูงกว่าอีกข้างหนึ่งอย่างชัดเจน หรือที่เรียกว่า Rip hump นั่นเอง อีกหนึ่งวิธีที่ใช้สังเกตได้จากการยืนคือ ไหล่สองข้างไม่เท่ากัน หรือเอวข้างหนึ่งยักสูงกว่าอีกข้างหนี่ง ส่งผลให้การยืนลงน้ำหนักเท้าสองข้างไม่เท่ากันไปด้วย ส่งผลให้เด็กๆ บางคนมีบุคลิกภาพที่ไม่ค่อยงาม และเสียความมั่นใจในตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณพ่อ คุณแม่ และ ผู้ปกครอง ก็ไม่ต้องตื่นตกใจไปก่อน การจะฟันธงว่าเป็นกระดูกสันหลังคดหรือไม่นั้น เราจะดูกันที่ผลเอ็กซ์เรย์ ถ้ามีแนวโน้มว่าจะมีภาวะกระดูกสันหลังคด แพทย์จะส่งน้องๆหนูๆ เข้าไปผ่านเครื่องส่งผ่านรังสีเอ็กซ์ จากนั้นจะทำการวัดมุมเพื่อหา Cobb Angle ซึ่งหากมากกว่า 10 องศา ก็จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นกระดูกสันหลังคด 

เมื่อรู้แล้วว่าใช่...ต้องดูแลอย่างไร
ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกมีภาวะกระดูกสันหลังคด สิ่งที่ควรจะทำต่อไปก็คือ เตรียมตัวไปพบแพทย์ อาจพบกุมารแพทย์ที่ตรวจกันอยู่ประจำ แล้วจึงส่งปรึกษาต่อไปยังหมอกระดูกและข้อที่เฉพาะทางเรื่องกระดูกสันหลังคดในเด็ก อีกทางเลือกหนึ่งคือพบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อประเมินดูอาการ หากไม่รุนแรงจนถึงกับต้องผ่าตัด ก็สามารถส่งทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกายเพื่อลดและป้องกันภาวะกระดูกสันหลังคดเพิ่มได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งตัวช่วย คือการใส่กายอุปกรณ์ หรือในวงการแพทย์เรียกว่า ออโธสิส (Orthoses) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้หลักการดัด ดันเพื่อให้กระดูกสันหลังที่มีการคด งอ หรือบิดหมุน กลับเข้าร่องเข้ารอยและลดความผิดปกติที่จะเกิดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มวัย 

เสริมสร้างความมั่นใจ เริ่มต้นได้ที่บ้าน
กระดูกสันหลังคดในเด็ก ถ้าสังเกตและตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ รับรองได้ว่าจะสามารถรักษาให้กลับมาตรงหรือใกล้เคียงแนวตรงได้มากที่สุด โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน หากผู้ปกครองมีลูกหลานอยู่ในวัยหนุ่มสาว สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลูกคุณได้คือเสริมสร้างความมั่นใจ ช่วยปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่อการมีกระดูกสันหลังคดเพิ่มขึ้น เช่น เตือนลูกสาวไม่ให้นั่งไขว่ห้าง เตือนลูกชายไม่ให้สะพายกระเป๋าข้างเดียว ซึ่งดูเท่ห์ก็จริงอยู่ แต่ไม่ดีกับหลังนะคุณลูกขา หรือเตือนว่าอย่านั่งทำการบ้าน งานประดิษฐ์นานเกินไป ลุกเปลี่ยนท่าให้บ่อยเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง 

แต่ถ้าใครที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะกระดูกคดจริง และมีกายอุปกรณ์ที่ต้องใส่ ให้ใส่อย่างเคร่งครัด บางแบบใส่กลางวัน บางแบบใส่กลางคืน ก็ต้องใส่ตามคำแนะนำของแพทย์ หรือหากได้ท่าออกกำลังกายจากนักกายภาพบำบัดแล้ว ต้องมีวินัย หมั่น cheer up ให้ออกกำลังกายอยู่เป็นนิจ เปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เป็นนิสัย อ.ผศ.สมชัย ปทุมาสูตร ปรมาจารย์ทางด้านกายอุปกรณ์และการออกกำลังกายในเด็กที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะให้คาถาปลุกใจ ให้เด็กๆ ท่องในระหว่างออกกำลังกายเสมอว่า เรารู้ว่าเรามีกระดูกสันหลังคด เราไม่อยากผ่าตัด เราจะตั้งใจทำกายบริหาร เรารู้ว่า เราสามารถดูดีขึ้นได้ ซึ่งถือว่าดีมากๆ เราจะพัฒนาตัวเองได้ ต้องเริ่มจาก Mindset ที่ดีว่ามันจะต้องหาย มันจะต้องดีขึ้น ใช้พลังใจนำพลังกายแล้วทุกอย่างจะเป็นอย่างที่ใจเราต้องการ
-->