กินน้ำเยอะใช่ว่าดี อาจเพราะมีอาการ“เบาจืด”

ทำตัวไม่ถูกแล้วนะ ก็ไหนเคยบอกว่าให้ดื่มน้ำวันละ 8–10 แก้วต่อวัน แล้วทำไมถึงมีงานวิจัยโดยคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Science ซึ่งมีศาสตราจารย์ โยสุเกะ ยามาดะ หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากสถาบันนวัตกรรมชีวการแพทย์แห่งชาติญี่ปุ่นอธิบายว่า ร่างกายและสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ มีความต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป จึงอาจทำให้ไม่ต้องดื่มน้ำมากถึง 2 ลิตรต่อวัน แต่แค่วันละ 1.5-1.8 ลิตรก็พอ เพราะเราได้รับน้ำในอาหารที่กินเข้าไปก่อนแล้วถึง 50% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน แล้วไหนยังจะมีข้อมูลบอกไว้อีกล่ะว่าการดื่มน้ำเยอะอาจเป็นผลจาก “เบาจืด” ได้เหมือนกัน เอ้า! งงไปกันใหญ่เลยทีนี้



เบาจืด มีจริง...เหรอ?
โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus) คือโรคที่ร่างกายสูญเสียความสมดุลของน้ำ อาจพบได้ไม่บ่อยในคนทั่วไป โดยเป็นโรคที่มีผลมาจากความผิดปกติของฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้ท่อไต หรือหลอดไต (Ureter) ดูดน้ำกลับเข้าสู่เส้นเลือด จึงทำให้รู้สึกกระหายน้ำอย่างรุนแรง แม้จะดื่มน้ำเข้าไปแล้ว เป็นที่มาของการดื่มน้ำมากผิดปกติ และการขับปัสสาวะออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งโดยคนปกติจะปัสสาวะวันละ 1-2 ลิตร ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นปัสสาวะมากถึงวันละ 20 ลิตรได้ สามารถแบ่งตามสาเหตุออกเป็น 4 ชนิด แต่ที่พบได้บ่อยนั้น ได้แก่
 
  • โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Cranial Diabetes Insipidus) พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากความเสียหายของต่อมใต้สมอง หรือสมองส่วนไฮโปทาลามัส มีหลายสาเหตุ เช่น ผลพวงจากการติดเชื้อที่สมอง การผ่าตัด เนื้องอกที่สมอง หรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ จนทำให้สมองส่วนไฮโปทาลามัสไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการปัสสาวะได้
  • โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic Diabetes Insipidus) เป็นโรคที่เกิดจากระบบการทำงานของไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้ โดยเป็นผลจากความเสียหายของไต หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ลิเทียม ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น

ส่วนอีก 2 ชนิดที่พบได้น้อย คือ โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของกลไกควบคุมการกระหายน้ำ (Dipsogenic Diabetes Insipidus) และโรคเบาจืดที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Insipidus)

เบาจืด vs เบาหวาน
ส่วนอีกหนึ่งโรคที่เราอาจจะคุ้นเคยกันมากกว่าอย่าง “เบาหวาน” คือ โรคที่เกิดจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ เนื่องจากการขาดหรือดื้ออินซูลิน โดยสิ่งที่โรคเบาหวานคล้ายโรคเบาจืด คือ อาการปัสสาวะบ่อย-มากผิดปกติ และกระหายน้ำ แต่ที่แตกต่างคือในปัสสาวะของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีน้ำตาลถูกขับออกมาด้วย ในขณะที่โรคเบาจืดจะขับแค่เพียงน้ำออกมาเท่านั้น สำหรับการรักษาโรคเบาจืดอาจยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมบรรเทาอาการได้ ด้วยการรักษาสาเหตุของโรคและรักษาตามอาการต่างๆ ที่พบ โดยจะเน้นไปที่การลดปริมาณปัสสาวะของผู้ป่วยในแต่ละวันให้อยู่ในระดับปกติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ

ดังนั้นนอกจากการดื่มน้ำแล้ว อย่าลืมสังเกตปัสสาวะของตัวเอง ซึ่งถ้าไม่แน่ใจควรให้หมอตรวจจะดีที่สุด เพราะ “เบาจืด” ถึงจะพบไม่บ่อย ก็อย่าได้ “เบาใจ”
-->