คนขับสบายๆ...แต่ทำไมคนไปด้วยเมารถแทบตาย

อาการเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน เป็นอีกหนึ่งอาการที่ถ้าใครได้เคยสัมผัสแล้ว จะรับรู้ถึงความพะอืดพะอม มองไปทางไปทางไหนก็รู้สึกเคว้งคว้างล่องลอย แต่สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกคือ อาการเหล่านี้มักจะไม่เกิดกับคนที่ขับขี่หรือควบคุมยานพาหนะ แต่จะเกิดขึ้นกับคนที่ร่วมเดินทางด้วยมากกว่า วันนี้ Health Addict จะมาเฉลยคำตอบให้ฟังว่าอาการเหล่านั้นมีที่ไปที่มายังไง


 
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ...ว่าหูกับตาทำให้เราเมารถ
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์จากนายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี กล่าวว่า เมื่อพูดถึงระบบการทรงตัวของร่างกายนั้น คนเราจะควบคุมการทรงตัวผ่านอวัยวะรับรู้การทรงตัวในหูชั้นใน เช่น เมื่อเราเงยหน้าหรือก้มหน้า หมุนตัวอย่างรวดเร็ว อวัยวะนี้จะมีน้ำอยู่ภายในซึ่งจะเกิดการไหลเวียนตามการเคลื่อนไหวของศีรษะ ข้อมูลจากหูชั้นในนี้จะประมวลผลและส่งไปยังสมองเพื่อรับรู้การเปลี่ยนท่าทาง และสั่งการไปยังกล้ามเนื้อรอบดวงตาและกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกาย เพื่อให้เกิดการทรงตัว สร้างสมดุลในร่างกาย ไม่ให้เกิดการเวียนศีรษะ หรือลื่นล้ม
 
น้ำในหูคืออะไร...และทำการควบคุมเรื่องการทรงตัวได้อย่างไร
เชื่อได้เลยว่าคนส่วนใหญ่จะต้องเคยได้ยินคำว่าน้ำในหู แต่น้ำในที่นี้ไม่ใช่น้ำชนิดเดียวกับการที่เราว่ายน้ำ เล่นน้ำหรืออาบน้ำแล้วน้ำไหลเข้าไปในหู แต่จริงๆ แล้วในหูชั้นในของเราจะมีกลไกการผลิตน้ำในหูชั้นในอยู่แล้ว เพื่อทำหน้าที่ในการรับรู้การได้ยินและควบคุมการทรงตัว มากไปกว่านั้นน้อยคนที่จะรู้ว่าในหูชั้นในของคนเรา จะมีเส้นขนขนาดเล็กๆ มากมายอยู่ด้วย เพื่อตรวจจับการเคลื่อนที่ของน้ำ ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพคือเปรียบน้ำในหูให้เป็นน้ำทะเล และเปรียบขนในท่อเก็บน้ำในหูเป็นสาหร่ายใต้น้ำ ซึ่งเมื่อครั้งใดที่น้ำทะเลมีการเคลื่อนไหว สาหร่ายก็จะลู่คล้อยตามทิศทางของน้ำไปมา นั่นเป็นปัจจัยแรกของการทำให้เกิดการสมดุลของร่างกายในการทรงตัว
 
หูช่วยเรื่องการจับทิศทาง...ตาช่วยเรื่องการทรงตัวผ่านการมองเห็น
อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่าเมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวและการทรงตัว สองอวัยวะที่เป็นเพื่อนซี้กันเลยคือหูและดวงตา เช่น ถ้าเราเคลื่อนตัวไปด้านหน้า สมองก็จะรับรู้ข้อมูลการเคลื่อนที่จากตรวจจับการเคลื่อนไหวของขนและน้ำในหูชั้นใน สมองจะนำข้อมูลนี้ไปสั่งการควบคุมดวงตาของเราให้ปรับการมองเห็นให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่นั้น ถ้าทั้งสองอย่างสอดคล้องกันเราก็จะไม่มีอาการเวียนศีรษะแต่อย่างใด 
 
ในทางกลับกันเมื่อทั้งสองส่วนทำงานขัดแย้งกัน เช่น คนที่ยืนหมุนตัวเป็นวงกลมซัก 5 รอบ เมื่อครบแล้วเราก็หยุดและมองไปข้างหน้า ภาพที่เห็นคือภาพของสถานที่หยุดนิ่ง แต่น้ำในหูยังคงหมุนต่อไปอีกซักพัก ลักษณะเหมือนการที่เราเอามือลงแกว่งน้ำในโอ่งแล้วเอาแขนออก คือแขนเราหยุดแกว่งแต่น้ำในโอ่งยังหมุนต่อ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเมื่อตาและน้ำในหูชั้นในทำงานไม่สัมพันธ์กัน อาการเวียนศีรษะก็จะเกิดขึ้นแน่นอน
 
ทำไมคนขับถึงไม่เมา...แต่คนนั่งข้างถึงเมา
เหตุผลที่คนขับไม่ว่าจะเป็นคนขับรถ ขับเรือหรือขับเครื่องบิน มักจะไม่มีอาการเมาหรือเวียนศีรษะก็เพราะว่า การมองเห็นของผู้คุมยานพาหนะ จะมองเห็นรายละเอียดของเส้นทางได้มากกว่าผู้โดยสารคนอื่น เช่น คนขับจะรู้ว่าข้างหน้าอีกกี่เมตรจะเจอถนนที่มีการโค้งไปมา หรือมีการขึ้นลงของเนิน เพื่อประมวลผลในการเหยียบคันเร่งหรือเบรก ทำให้ขณะนั้นดวงตาและน้ำในหูถึงทำงานสัมพันธ์กันไปเรื่อยๆ ตลอดการเดินทาง
 
ในทางตรงกันข้าม ผู้โดยสารคนอื่นๆ มักจะไม่ได้จดจ่อกับเส้นทาง หรือมีกิจกรรมขณะนั่งโดยสาร เช่น ขณะนั่ง ก็เผลอหยิบโทรศัพท์มาเล่น หรือบางครั้งก็มองออกนอกหน้าต่างด้านข้าง ซึ่งจุดเหล่านี้แหละจะเริ่มส่งผลให้ดวงตากับน้ำในหูชั้นในทำงานไม่สอดคล้องกัน หรือตัวอย่างที่จะชัดมากขึ้นคือการเดินทางโดยเครื่องบิน ยิ่งในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน ผู้โดยสารส่วนใหญ่จะต้องพบกับอาการเมาเครื่องบิน นั่นก็เพราะว่าดวงตาเราเห็นว่าในห้องโดยสารเป็นสถานที่นิ่งไม่ขยับ แต่จริงๆ แล้วร่างกายเราสั่นเบาๆ อย่างต่อเนื่องตามการสั่นสะเทือนของเครื่องบินยังไงล่ะ
 
รู้สาเหตุของการเมารถแล้ว...ต้องป้องกันยังไง
นายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ กล่าวว่าวิธีการป้องกันการเมาจากยานพาหนะที่ดีที่สุด คือ ขณะเดินทางให้มองออกไปในระยะไกลด้านหน้ารถ ในมุมมองคล้ายผู้ที่ขับขี่ จะทำให้อาการมึนเมาลดลงได้ อย่างไรก็ตามในบางเคส การปล่อยให้ท้องว่างก็ทำให้เกิดการเมาได้ง่ายขึ้นเช่นกัน และมากไปกว่านั้นการรอจนเรามีอาการเมาแล้วค่อยแก้ไข สิ่งนั้นเรียกได้ว่าแทบจะสายเกินแก้ ถ้าใครที่รู้ตัวว่าอาการเมาของตัวเองค่อนข้างหนัก ก่อนการเดินทางก็สามารถทานยาแก้เมาได้ ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาในกลุ่ม ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) เพื่อบรรเทาอาการเวียนศีรษะ เมารถหรือเมาเรือ โดยยากลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงทำให้เราง่วง ซึ่งพอเราง่วงและหลับไป ระบบต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงเรื่องการตรวจจับการเคลื่อนไหวและการทรงตัวก็จะทำงานลดลง
 
เป็นยังไงบ้างกับการเฉลยข้อสงสัยเรื่องการเกิดอาการเมาจากยานพาหนะ ถึงจุดนี้แล้วอาการเมาของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน บางคนเมานิดๆ พอกรุบกริบ หรือบางคนมีอาการเมาค้างไปหลายวัน แต่สำหรับใครที่เกิดมาช่างโชคดีเหลือเกิน เพราะไม่เคยมีอาการเมาเลย กลุ่มนี่ถือได้ว่าน่าอิจฉาที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่คุณหมอย้ำว่าถ้าใครที่มีอาการเมามากผิดปกติ เมาจนปวดหัวหรือเมาจนอาเจียน แนะนำให้เข้าพบแพทย์ดีกว่า เพราะบางครั้งอาการเมานั้นอาจเป็นรอยโรคอื่นทางสมองได้เช่นกัน
-->