คนเราสามารถใช้ชีวิตด้วย ‘ไตข้างเดียว’ ได้จริงๆ หรอ

ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง บวกกับปัญหาโรคภัยที่รุมเร้า แถมตำแหน่งงานที่ทำอยู่ก็ไม่รู้จะรั้งเก้าอี้ไว้ได้อีกนานแค่ไหน สถานการณ์แบบนี้อาชีพเสริมต้องมี อะไรขายได้ก็งัดออกมาขายจนแทบจะเหลือแต่ “ไต” อยู่แล้ว เอ๊ะ! หรือว่าจะขายไตดีนะ คำพูดติดตลกที่ชอบพูดกันอยู่บ่อยๆ ก็ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราจะต้องเจอกับสถานการณ์ที่มีไตอยู่ข้างเดียว ไม่ว่าจะด้วยจากการบริจาค จากกำเนิด หรืออะไรก็แล้วแต่ คนเราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยไตข้างเดียวได้มั้ย และจะต้องมีวิธีดูแลตัวเอง หรือระมัดระวังเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า ? 

 
เชื่อมั้ย? โลกนี้มีการขายไตอยู่จริงๆ 
สำหรับในบ้านเราเมื่อดูจากจำนวนผู้ลงทะเบียนรอรับอวัยวะกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขของผู้ลงทะเบียนรอรับไตมีจำนวนสูงที่สุดคือ 5,362 ราย ห่างจากหัวใจซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 และมีจำนวนเพียง 24 รายเท่านั้น แต่อย่าเพิ่งดีใจคิดว่าจะ “ขายไต” ได้จริงๆ เพราะตอนนี้มีเพียงอิหร่าน ประเทศเดียวในโลกเท่านั้นที่สามารถขายไตได้อย่างถูกกฎหมาย ส่วนบ้านเราและที่อื่นๆ ทำได้เพียงการบริจาคเท่านั้น โดยตามกฎหมายแพทยสภา การบริจาคไตสามารถทำได้ 2 แบบ คือ ผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยตามกฎหมายระบุว่าต้องเป็นญาติทางสายเลือด ซึ่งผู้บริจาคจะต้องยินยอมด้วยความเต็มใจ และผู้ที่แสดงความประสงค์ที่จะบริจาคไตหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว
 
ดูแลตัวเองยังไง? ถ้าเหลือไตข้างเดียว
คนที่มีไตข้างเดียวไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีอายุสั้นกว่าคนปกติที่มีไต 2 ข้างเสมอไป เพราะถ้ามีการดูแลตัวเองอย่างดี คุณก็ยังสามารถใช้ชีวิตแบบปกติทั่วไปได้ เพียงแต่อาจต้องคอยระวังและสังเกตอาการตัวเองอย่างใกล้ชิดสักหน่อย ซึ่งการดูแลตัวเองสำหรับคนที่มีไตข้างเดียวก็เพียงแค่ 
 
1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรเป็นกีฬาประเภท ที่ไม่หักโหม หรือรุนแรงมากนักอย่างโยคะ เป็นต้น
2. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
3. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม หรือเผ็ด
4. งดกินยาสมุนไพรหรือยาที่มีผลกระทบต่อไต 
5. งดอาหารสำเร็จรูป และอาหารหมักดอง
6. ระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือต้องใช้แรงมาก 
7. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
8. กินผักผลไม้ และเนื้อปลา ในสัดส่วนที่มากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ 
9. ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อย่าปล่อยให้อ้วน
10. ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี และโดยเฉพาะตรวจเกี่ยวกับระบบการทำงานของไต
 
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
แม้ว่าจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถึงอย่างนั้นคนที่มีไตข้างเดียวก็อาจยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งเสี่ยงต่อภาวะโปรตีนรั่ว หรือมีโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ ซึ่งเพิ่มโอกาสในการทำให้เลือดแข็งตัว และสำหรับในผู้หญิงหากตั้งครรภ์ ก็อาจมีความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษได้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกาย และการดูแลของแต่ละคน 
 
คราวนี้ก็รู้กันแล้วนะว่า ที่ชอบพูดเล่นกันว่าขายไตๆ จริงๆ แล้วในบางประเทศมีการเกิดขึ้นจริง แต่สำหรับประเทศไทยเรานั้นนั่นไม่ใช่เรื่องที่ถูกกฎหมาย ส่วนใครที่ต้องใช้ชีวิตแบบที่มีไตข้างเดียว ก็อย่าเพิ่งเศร้าไปกับโชคชะตา เพราะถ้ารู้วิธีดูแลตัวเองให้ดี ชีวิตคุณก็แฮปปี้ได้ไม่แพ้ใครๆ เลยล่ะ  
-->