คู่มือหัดดริปกาแฟมือใหม่ ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง


ถ้าพูดถึงรสชาติกาแฟเรามักจะถูกปลูกฝังจากคำในหนังโฆษณา “เข้ม หอม กลมกล่อม หวานมัน” บวกกับวัฒนธรรมการกินของประเทศอิตาลีหรือที่เราเรียกว่า "เอสเปรสโซ" ที่เข้ามามีอิทธิพลการกินกาแฟของคนทั้งโลก ยังไม่นับรวมการกินกาแฟของไทยแบบดั้งเดิม เช่น โอเลี้ยง กาแฟโบราณ ทำให้ภาพจำของเราต้องคิดว่ากาแฟที่ดี ต้องเข้ม ต้องขม ต้องหวานมัน กินแล้วต้องรู้สึกตื่นในคำแรก หลายคนที่ดื่มกาแฟดริปครั้งแรกมักพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ชอบกาแฟเปรี้ยว แต่ถ้าถามเหล่านักดริปกาแฟแล้วล่ะก็ พวกเขามักจะบอกว่า “ถ้าวันหนี่งคุณเข้าถึงรสชาติของกาแฟดริป การกินกาแฟของคุณจะเปลี่ยนไป” 

 
ทำไมกาแฟดริปถึงเปรี้ยว?
เพราะว่าเมล็ดที่นำมาผลิตกาแฟคือเมล็ดของผลเชอรี่กาแฟ (ที่ไม่ใช่ต้นเชอร์รี่) ซึ่งจะมีความเปรี้ยวในตัวของมันอยู่แล้ว แต่ความขมที่เราได้รับตอนกินกาแฟเกิดจากกระบวนการคั่วเพื่อให้กาแฟหอมขึ้น แต่เสียรสเปรี้ยวไปทันที ดังนั้นจึงเกิดวิธีการชงที่สามารถดึงรสชาติเปรี้ยวดั้งเดิมของกาแฟไว้ได้มากที่สุดนั้นก็คือการ pour over หรือการชงกาแฟแบบดริปนั่นเอง 
 
ต้นกำเนิดการดริปกาแฟ
ว่ากันว่ามีแม่บ้านชาวเยอรมันคนหนึ่งเธออยากจะสกัดรสขมออกจากกาแฟ จึงทดลองนำถุงผ้าลินินมากรองกาแฟ และทำซ้ำจนพัฒนาเป็นใช้กระดาษซับ เธออยู่กับกาแฟจนได้วิธีการชงใหม่ๆ ได้รสชาติที่แตกต่าง ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดริปกาแฟ และเธอก็ยังผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับกาแฟส่งออกไปทั่วโลก แต่เจ้าพ่อของการดริปกาแฟตัวจริงอยู่ที่ญี่ปุ่น ประเทศที่ประณีต พิถีพิถันใส่ใจกับทุกรายละเอียด ลองนึกภาพการกินโอมากาเสะ การชงชาแบบญี่ปุ่น หรืออะไรอีกหลายอย่างก็ตาม การดริปกาแฟก็เช่นกัน ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาของกาแฟเป็นอย่างมาก 
 
กาแฟดริปในเมืองไทย ทำไมฮิต?
ถึงแม้รสชาติกาแฟดริปอาจจะไม่ถูกปากสำหรับบางคน แต่สำหรับบางคนแล้วกาแฟดริปแค่แก้วเดียวก็สามารถทำให้เขาเปิดโลกไปอีกโลกหนึ่งเลย อย่างเขาคนนี้ แอฟ ธีรพล หอมวิไล หนุ่มนักดริปกาแฟมือสมัครเล่น ที่ชนะรางวัล Brew It Yourself Challenge จากร้าน Hario Café Bangkok บอกว่า “การได้เข้าถึงรสชาติและความซับซ้อนของกาแฟดริปมันเหมือนได้เสฟงานศิลปะดีๆชิ้นหนึ่ง บวกกับต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำในการเปิดร้านแนวสโลว์บาร์เหมือนเทียบกับการต้นทุนของเครื่องแมชชีน ทำให้คาเฟ่แนวสโลว์บาร์เกิดขึ้นทุกวัน ทำให้ผู้บริโภคในไทยเริ่มเข้าถึงกาแฟดริป และมีตัวเลือกที่มากขึ้น แต่เนื่องจากราคากาแฟดริปค่อนข้างที่จะมีราคาสูงกว่ากาแฟทั่วไปเพราะต้องใช้เมล็ดกาแฟเกรด Specialty คือ เมล็ดกาแฟที่ถูกดูแลอย่างดีตั้งแต่เกษตกร คนคั่ว ยันบาริสต้า คือถ้าผิดพลาดแม้ใครคนหนึ่งก็อาจทำให้กาแฟนั้นหมดราคากันเลยทีเดียว ย้อนกลับมาที่ราคาอุปกรณ์ที่เข้าถึงได้ง่ายทำให้ใครก็สามารถเป็น Home Brewers ได้” 
 
และนี่คือ 6 อุปกรณ์ที่เขาแนะนำว่าต้องมี ถ้าอยากเป็นมือใหม่หัดดริป
 

 
1. ดริปเปอร์ (Dripper) หรืออุปกรณ์การดริปกาแฟมีหลากหลายวัสดุให้เลือกทั้งแบบ แก้ว เซรามิก และสแตนเลส
ประเภทของดริปเปอร์หลักๆ มี 4 แบบ ทรงกรวย (v60) ทรงกรวยตัด ทรงถ้วย และทรง Origami ราคาเริ่มตั้งแต่ 250 ไปจนถึง 1500 ขึ้นอยู่กับตัววัสดุและยี่ห้อ แต่ที่แนะนำคือ ทรงกรวย(V60) ของ Hario เพราะสามารถหาคลิปแนะนำวิธีการดริปทำตามได้ง่ายใน Youtube 



 
2. โถรองกาแฟ (Server) ทำจากวัสดุแก้วรองรับน้ำกาแฟที่เกิดจากการสกัดและนำไปใช้เสิร์ฟกาแฟ ราคาเริ่มตั้ง 200 ไปจนถึง 1200 หรือใครจะดัดแปลงนำอุปกรณ์ในบ้านมาทดแทนก็ได้



 
3. กาดริป (Drip kettle) กาดริปมีผลต่อปัจจัยการไหลของน้ำ เราควรเลือกกาที่เป็นคอห่าน ยิ่งคดมากน้ำยิ่งไหลช้า ยิ่งคอกว้างมากน้ำยิ่งไหลแรง มีทั้งแบบที่มีไฟฟ้าในตัวราคาจะแพงหน่อย และแบบตั้งบนเตาแก๊ซหรือเตาไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว ราคาเริ่มตั้งแต่ 1,200 ไปจนถึง 8,500 แนะนำตัวไฟฟ้าของยี่ห้อ Timemore ราคาประมาน 2,500 เพราะว่าสะดวกสามารถตั้งอุณหภูมิน้ำได้

 

 
4. เครื่องบดเมล็ดกาแฟ (Coffee grinder) เป็นอุปกรณ์ที่ส่งผลต่อปัจจัยของรสชาติกาแฟมากที่สุด มีทั้งแบบใบมีด เฟืองฟันเหล็ก เฟืองเซรามิค ราคามีตั้งแต่ 1,500-20,000 แนะนำให้ลงทุนกับอุปกรณ์นี้เพราะส่งผลโดยตรงกับรสชาติกาแฟ

 

 
5. เครื่องชั่งกาแฟ (Scale) เป็นอุปกรณ์ที่วัดปริมาณกาแฟก่อนที่จะทำการบด และวัดปริมาณน้ำกาแฟที่ถูกสกัดออกมา ราคาเริ่มตั้งแต่ 200-5,000 อุปกรณ์นี้ไม่ซีเรียสขอแค่วัดน้ำหนักกับจับเวลาได้ก็พอ



 
6. กระดาษกรอง (Paper filter) ขึ้นอยู่กับรูปทรงของดริปเปอร์ที่เราเลือกใช้
 
ขั้นตอนในการดริป
1. จัดวางอุปกรณ์ เรียงตามลำดับ เครื่องชั่ง โถรองกาแฟ ดริปเปอร์ กระดาษกรอง
2. บดกาแฟ 20 กรัม ขนาดเท่าเมล็ดน้ำตาลทรายแดง
3. ต้มน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 91-93 องศาเซลเชียส
4. ล้างกระดาษกรองเพื่อไม่ให้มีกลิ่นกระดาษและเป็นการอุ่นภาชนะทำกาแฟ
5. นำเมล็ดกาแฟที่บดใส่ไปในกระดากรอง
6. กด tare ตาชั่งให้น้ำหนักเป็น 0
7. เทน้ำร้อน 60 ml วนเป็นรูปก้นหอยช้าๆ เพื่อให้กาแฟคลายแก๊ซทิ้งไว้ 40 วินาที
8. เทน้ำร้อนครั้ง 60 ml อีก 4 ครั้งวนแบบเดิมจนปริมาณน้ำครบ 300 ml ให้จบภายใน 3 นาที พยายามอย่าให้น้ำท่วมกาแฟหรือแห้งจนเกินไป
9. ยกดริปเปอร์ออกแล้วแกว่งโถรองกาแฟให้กาแฟที่สกัดมาในแต่ละชั้นเข้ากัน
10. พร้อมเสิร์ฟ

ถ้าใครมีเทคนิคการดริปกาแฟที่อยากแชร์ ก็ส่ง inbox มาหาเราได้เลยนะ
 
-->