จะรู้ได้ยังไง ว่าควรเลือกอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน หรือส่วนล่าง

“เลือกบน หรือ ล่างดี?” ถ้าเจอคำถามแบบนี้ก็อย่างเพิ่งคิดไปถึงแต่เรื่องเสี่ยงโชค เพราะบางทีคำถามนี้อาจจะเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพได้เหมือนกัน อย่างเรื่องของการอัลตร้าซาวด์นี่ไง ที่สามารถทำได้กับช่องท้องทั้งส่วนบนและล่างยิ่งตรงช่องท้องนี้เป็นที่ตั้งของอวัยวะสำคัญหลายส่วนด้วย ก็ต้องใส่ใจกันหน่อย คราวนี้จะเลือกอัลตร้าซาวด์ช่องท้องบนหรือล่าง ต้องดูจากอะไร



บน - ล่าง เลือกให้ดี เพราะมีผลต่างกัน 
การอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound หรือ Ultrasound scanning) คือการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการใช้คลื่นเสียงกำลังสูงสะท้อนให้เกิดภาพ ซึ่งสามารถตรวจดูอวัยวะต่างๆ ทำให้เห็นได้ถึงความผิดปกติ ยิ่งไปกว่านั้นบางชนิดสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้เลย โดยทั่วไปการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ  เพราะเป็นแค่การใช้หัวตรวจเคลื่อนที่ไปบนผิวหน้าท้องภายนอก ซึ่งไม่ต้องมีการใช้ยาชาหรือฉีดยา แล้วตัวคลื่นเสียงที่ใช้เองก็มีความปลอดภัย ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายอะไรเช่นกัน ซึ่งการตรวจสุขภาพส่วนใหญ่จะมีการอัลตร้าซาวด์อยู่ 2 ส่วน คือ การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen และ Upper Adomen Ultrasonography) การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen หรือ Lower Adomen Ultrasonography) ซึ่งเป็นการตรวจที่แตกต่างกัน ดังนี้

การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน
เป็นการตรวจดูอวัยวะช่องท้องส่วนบนเหนือระดับสะดือขึ้นไป คือ ตับ ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดีส่วนต้น ไต และหลอดเลือดแดงใหญ่ ในบางรายอาจมองเห็นตับอ่อนได้บางส่วน ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีก้อนที่ผิดปกติ นิ่วที่ไต นิ่วที่ถุงน้ำดี เป็นต้น ผู้ที่จะตรวจส่วนใหญ่คือผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือมีอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป สามารถตรวจได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง
เป็นการตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนล่างต่ำกว่าระดับสะดือลงไป ได้แก่ มดลูกและรังไข่ในส่วนของผู้หญิง หรือดูขนาดของต่อมลูกหมากสำหรับผู้ชาย รวมไปถึงกระเพาะปัสสาวะ ไส้ติ่ง และบริเวณช่องท้องส่วนล่างอื่นๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ก้อนเนื้อในมดลูก เป็นต้น ซึ่งการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่างนี้ มักจะตรวจกันมากในกลุ่มผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป กลุ่มที่ปวดท้องประจำเดือนเป็นประจำ หรือประจำเดือนมามากมาน้อย ผิดปกติ และจะตรวจโดยใช้หัวตรวจตรวจบริเวณหน้าท้อง การตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องตรวจในขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควร เนื่องจากลมในลำไส้จะบดบังมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงหรือต่อมลูกหมากในผู้ชาย ทำให้มองเห็นภาพอวัยวะได้ไม่ชัดเจน แต่เมื่อมีน้ำในกระเพาะปัสสาวะมากพอก็จะช่วยให้เห็นมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้



เตรียม (ตัว) พร้อมก่อนรับการตรวจ
การตรวจอัลตร้าซาวด์แพทย์จะให้นอนบนเตียง หลังจากนั้นก็จะบีบเจลเย็นทาลงไปบริเวณที่จะตรวจ เพื่อช่วยการส่งผ่านคลื่นเสียงจากหัวตรวจ ผ่านผิวหนังเข้าไปดูอวัยวะต่างๆ ในขณะตรวจแพทย์จะกดหัวเครื่องตรวจบนผิวหนัง/ร่างกายส่วนที่จะตรวจเบาๆ เคลื่อนไปจนทั่วบริเวณ โดยแพทย์และผู้ป่วยจะมองเห็นภาพอวัยวะจากการตรวจบนจอเครื่องตรวจไปพร้อมๆ กัน ใช้เวลาประมาณ 10 - 45 นาที ขึ้นอยู่กับตำแหน่งอวัยวะที่ต้องการตรวจและความผิดปกติ โดยถ้าเป็นการตรวจช่วงท้องส่วนบนในวันตรวจผู้ที่เข้ารับการตรวจควรงดอาหารที่มีไขมันและเครื่องดื่มอย่างน้อย 6 ชั่วโมงขึ้นไป ส่วนใครที่จะตรวจช่องท้องส่วนล่างควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 500ml และกลั้นปัสสาวะไว้จนกว่าจะตรวจเสร็จ

คราวนี้ก็พอจะรู้กันแล้วนะว่าการอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนและล่างต่างกันอย่างไร…เวลากดซื้อแพ็กเกจจะได้กดได้อย่างมั่นใจ ว่าชั้นศึกษาข้อมูลมาแล้ว!

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->