ชอบกินยาลดไข้เองบ่อยๆ ยิ่งทำให้ป่วยนานขึ้น

สารภาพมาซะดีๆ ว่ามีใครบ้างที่ชอบทำตัวเป็นหมอสั่งจ่ายยาเองตลอดๆ เวลามีไข้หรือตัวร้อน เคยรู้มั๊ยว่าพฤติกรรมเหล่านี้นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ไข้ลดลงได้อย่างที่คิดแล้ว ยังเป็นการยืดระยะเวลาการป่วยให้นานขึ้นกว่าเดิมไปอีกด้วย 


Photo by rawpixel on Unsplash
เรื่องจริงที่ควรรู้! “มีไข้” คือกลไกการกำจัดสารพิษหรือเชื้อโรค
เพราะความเข้าใจที่คิดว่าการมีไข้คือป่วย ทำให้เราเลือกรักษาด้วยการกินยาแบบทันทีโดยไม่รีรออะไร แต่จริงๆ แล้ว ร่างกายของเราจะมีกลไกในการขับพิษผ่านช่องทางการหายใจ เหงื่อ ปัสสาวะ และอุจจาระ ซึ่งในคนที่มีการสะสมของสารพิษมากจนร่างกายไม่สามารถขับพิษออกทางปกติได้ทัน จึงเกิดการขับพิษแบบฉุกเฉิน...ผ่านทางการไอ จาม อาเจียน ท้องเสีย หรือไข้

เหมือนกับงานวิจัยของ Craven, R และ Hirnle, C. ผู้เขียนหนังสือ Fundamentals of Nursing: Human Health and Function ที่อธิบายว่า “ไข้” คือกลไกนึงที่ร่างกายมีการปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและต่อต้านการทำงานของเชื้อโรค พร้อมกันนั้นยังส่งผลกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว เพื่อประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคได้ดี ซึ่งเท่ากับว่า...ไข้ คือหนึ่งในกลไกการบำบัดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนั่นเอง

กินยาเวลามีไข้ รู้มั้ย? ว่ายิ่งทำให้ป่วยนานขึ้น
นักธรรมชาติบำบัด อย่าง คุณหมอ Jacob Vadakkanchery ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธรรมชาติบำบัดกว่า 4 แห่งในประเทศอินเดีย ได้อธิบายไว้ว่า การที่เราไม่สบายเพียงแค่เล็กน้อยหรือมีอาการไข้นั้น...ไม่ควรกินยาลดไข้ เพราะการกินยาลดไข้ก็เท่ากับการหยุดกลไกการขับพิษออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายยังคงกักเก็บสารพิษหรือเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียเอาไว้ 

และยังมีการศึกษาในคนที่เป็นไข้หวัด พบว่า...หากรักษาด้วยยาเคมีแผนปัจจุบัน จะต้องกินยาหลายเม็ดในการเป็นโรคหวัดแต่ละครั้ง และใช้เวลายาวนานนับสัปดาห์กว่าอาการหวัดจะหายดี ต่างกับผู้ที่เลือกรักษาด้วยแนวทางธรรมชาติบำบัด คือปล่อยให้กระบวนการขับพิษยังคงทำงานต่อเนื่องไป พบว่าอาการหวัดจะค่อยๆ ลดลงในระยะเวลาแค่ไม่กี่วัน 

ซึ่งถ้าถามว่า เอ๊ะ! แล้วหากปล่อยไว้ไม่กินยา อุณหภูมิร่างกายจะค่อยๆ สูงขึ้นจนเกินอาการช็อกหรือเปล่า ผศ. ดร.นพ. พัฒนา เต็งอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า “ไข้นั้น..เป็นอาการที่ร่างกายสร้างไว้สู้โรค เวลาเป็นไข้ ควรใช้วิธีเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย และดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ ส่วนการทานยาพาราเซตามอลเพื่อกดไข้ ควรใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุด...เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ทานดักไข้กันทุก 4 ชั่วโมง”

“การกินยาเพื่อลดไข้” ไม่เพียงแค่กดอาการไว้ไม่ให้แสดงออกมา ในขณะที่เชื้อโรคยังคงแพร่กระจายในร่างกาย แต่การกินยาบรรเทา อย่าง พาราเซตามอล ยังอาจส่งผลกระทบต่อตับ ซึ่ง ผศ. ดร.นพ. พัฒนา เต็งอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต โรงพยาบาลพญาไท 2 ยังบอกไว้อีกว่า...ไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่า ปริมาณของยาพาราเซตามอลที่เป็นอันตรายนั้นคือเท่าไร เพราะขึ้นอยู่กับว่าตับสามารถกำจัดพิษของพาราเซตามอลได้ดีหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญ คือ ไม่อยากเห็นคนไทยเข้าใจผิดว่าพาราเซตามอลนั้นปลอดภัย!


 
-->