ชั่วโมงนี้! เดินทางแบบไหน เสี่ยงรับมลพิษทางอากาศมากที่สุด?

แม้ว่าอากาศจะไม่เป็นใจให้ออกไปไหนเพราะถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่น PM 2.5 แต่ก็ยังต้องใช้ชีวิตบนท้องถนนอยู่ดี เอ๊ะ! แล้วแบบนี้ เราควรจะเลือกเดินทางวิธีไหนให้ร่างกายได้รับมลพิษน้อยที่สุดกันนะ มาหาคำตอบจากนักวิจัยแห่งกรุงนิวเดลี เมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีปัญหามลพิษทางอากาศมากอันดับต้นๆ ในโลกกันดีกว่า...
 
มีการศึกษาในกรุงนิวเดลี โดยการวัดระดับฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ในการเดินทางระยะ 1 กม. พบว่าคนเดินถนนจะหายใจเอามลพิษเข้าไปมากที่สุด รองลงมาคือผู้ที่ปั่นจักรยาน ในขณะที่งานวิจัยจากทั่วโลกพบข้อแตกต่างว่า ผู้ที่ปั่นจักรยานจะรับเอามลพิษเข้าร่างกายมากที่สุด รองลงมาคือคนเดินถนน 
 
แต่ไม่ว่าการเดินทางวิธีไหนจะอันตรายมากกว่า การเดินถนนกับปั่นจักรยานก็นับว่าเป็นวิธีการเดินทางที่ส่งผลต่อสุขภาพมากที่สุด เนื่องจากว่า การเดินถนนและปั่นจักรยาน เป็นกิจกรรมที่ส่งผลให้ร่างกายต้องสูดหายใจเอาอากาศเข้าไปลึกและในปริมาณมากกว่าการนั่งเฉยๆ บนรถเมล์ หรือ รถยนต์ส่วนตัวนั่นเอง
 
ซึ่งนอกจากการใส่หน้ากากเพื่อช่วยกรองอนุภาคเล็ก อย่าง PM 2.5 แล้ว อเล็กซ์ บิกาซซี่ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเร็วที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายสูดรับมลพิษน้อยที่สุดว่า...
  • ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ควรปั่นจักรยานด้วยความเร็ว 12.5 กม./ชม. บนพื้นราบ
  • ผู้ชายอายุต่ำกว่า 20 ปี ควรปั่นจักรยานด้วยความเร็ว 13.3 กม./ชม. บนพื้นราบ
  • ผู้หญิงและผู้ชายที่อายุระหว่าง 20-60 ปี ควรปั่นจักรยานด้วยความเร็ว 13-15 กม./ชม. บนพื้นราบ
  • ผู้หญิงและผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ควรเดินด้วยความเร็ว 3 กม./ชม.
  • ผู้หญิงและผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรเดินด้วยความเร็ว 4 กม./ชม. 
 
สำหรับใครที่สังเกตว่าตัวเองมีอาการผิดปกติ เช่น ไอเป็นวันๆ แม้ว่าจะออกห่างจากพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 แล้วก็ตาม มีอาการหอบเหนื่อย โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่การใช้ยาพ่นไม่ได้ผลเหมือนเดิม รวมไปถึงคนไข้โรคหัวใจที่มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ ทานยาโรคประจำตัวแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบไปหาหมอโดยไม่ต้องรอให้ถึง 24 ชั่วโมง

 
-->