ตัวสั่นเป็นเจ้าเข้า... อาการนี้ บอกโรคอะไรบ้าง



ถ้าใครที่ติดตามข่าวต่างประเทศคงรู้จัก อังเกลาร์ แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กจากเยอรมนี ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีเรื่องราวน่าตกใจคือเธอมีอาการสั่นออกสื่อถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาเดือนเดียว
 
ครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. พิธีต้อนรับนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ครั้งที่ 2 เมื่อ 27 มิ.ย. ในงานแถลงที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเบอร์ลิน และครั้งที่ 3 เมื่อ 10 ก.ค. ในพิธีต้อนรับนายอันต์ตี รินเน นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์... หลังจากภาพข่าวปรากฏ กระแสความห่วงใยรวมทั้งคำถามด้านสุขภาพจึงถาโถมไปยังนางแมร์เคิลอย่างเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งตัวแทนของผู้นำอินทรีย์เหล็กก็บอกว่าท่านผู้นำแข็งแรงดี ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง... วันนี้เราเลยไปหาคำตอบมาว่า ถ้าร่างกายเริ่มสั่น จะเข้าข่ายโรคอะไรบ้าง


• ไม่มีอะไรต้องกังวล
ศ.เค.เรย์ เชอดูรี ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจากคิงส์คอลเลจ ลอนดอน บอกว่า อาการสั่นของร่างกายเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การเครียดหนักๆ ความวิตกกังวล หรือแม้แต่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ นอกจากนี้การที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะร้อนจัดหรือเย็นจัด ก็อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดการสั่นได้

แต่จากการทำงานหนักตลอด 14 ปี ทำให้แมร์เคิลเป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกและนักการเมืองคนสำคัญของยุโรป ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเธอทำงานหนักเกินกว่าหญิงวัย 65 ปี ควรจะทำ จนป่วยและไม่ยอมบอกกับสาธารณะชนเพราะกลัวกระทบความเชื่อมั่นหรือเปล่า?

ถ้าพูดถึงอาการสั่น ก็อาจเกี่ยวข้องกับโรคเหล่านี้

• โรคมือสั่น
ปกติเราจะมือสั่นตอนตื่นเต้น มีความเครียด หรือกังวล หากสั่นรุนแรงก็อาจเป็นอาการของโรคมือสั่น (Essential tremor) ซึ่ง นพ.กานต์ ศักดิ์ศรชัย อายุรแพทย์ด้านประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 บอกว่าโรคนี้มีสาเหตุทั้งจากพันธุกรรมและอาหารบางอย่าง

โรคมือสั่นจะมีอาการมือสั่นทั้ง 2 ข้าง โดยอาการจะชัดเจนตอนหยิบจับสิ่งของ ซึ่งคนที่ป่วยโรคนี้มานานอาจมีอาการศีรษะสั่นหรือพูดเสียงสั่นด้วย... คนที่อาการไม่หนักและยังสามารถใช้ชีวิตประจำได้ตามปกติ ก็สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ได้ ส่วนคนที่อาการหนักจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ตักข้าวเข้าปากไม่ได้ หยิบแก้วแล้วทำน้ำหก แพทย์ก็จะรักษาด้วยการใช้ยา ใช้คลื่นเสียงเพื่อลดการสั่น หรือการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้า แล้วแต่กรณี

• โรคพาร์กินสัน
เป็นโรคที่ทุกช่วงวัยมีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่มักพบกับคนที่อายุมากกว่า 50 ปี อาการสั่นที่จะเกิดที่มือข้างใดข้างหนึ่ง พร้อมกับการเคลื่อนไหวที่ไม่คล่องตัวเหมือนก่อน เสียการทรงตัว เดินแล้วรู้สึกเหมือนจะถลาไปข้างหน้า และอาจมีปัญหาอื่นๆ ตามมาเช่นความจำลดลง นอนหลับไม่ดี ระบบขับถ่ายแย่

ซึ่ง นพ.สิทธิ เพชรรัชตะชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 1 บอกว่านอกจากเรื่องของอายุแล้ว ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุหรือได้รับแรงกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะมาก่อน ผู้เคยใช้ยาทางจิตเวชบางประเภท หรือนักกีฬาที่ปะทะร่างกายบ่อยๆ อาจมีความเสี่ยงโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป... ส่วนการรักษา นพ.กานต์ บอกว่า นอกจากรักษาด้วยยา ผู้ป่วยต้องออกกำลังกายให้ถูกวิธีและทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้

• ไทรอยด์เป็นพิษ
อาการตัวสั่นอาจเกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) คือภาวะความผิดปกติของฮอร์โมนที่มีมากเกินไป โดยอาการตัวสั่นจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนับสิบเท่า โดยดร.ซาราห์ บรีวเวอร์ นักโภชนาการชาวอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับ Daily Mail ว่าอาการสั่นอาจเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาไทรอยด์เป็นพิษได้เหมือนกัน

หากคุณพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวเริ่มมีอาการสั่นจนเข้าข่ายผิดปกติ ทางที่ดีอย่าปล่อยไว้เพราะคิดว่าไม่มีอะไร ให้รีบหาหมอเพื่อแก้ไขที่ต้นเหตุจะดีที่สุด



 
-->