ต่อมไทรอยด์ สำคัญมากแค่ไหนกับร่างกาย

“รับบทหนักแต่มักถูกลืม” ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “ต่อมไทรอยด์” ซึ่งอยู่ภายในร่างกายเรานี่เอง ที่ต้องพูดแบบนี้ เพราะต่อมไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ผลิตและหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อกระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายทำงาน แต่กลับมีข้อมูลจาก American Cancer Society พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์รายใหม่ประมาณ 44,280 รายในปี 2021 โดยมะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นมะเร็งต่อมไร้ท่อที่พบบ่อยที่สุด และเพราะแบบนี้แหล่ะ นี่ก็เลยเป็นเวลาที่เราควรจะหันมาใส่ใจต่อมไทรอยด์กันสักที



“ต่อมไทรอยด์” ทำหน้าที่อะไรในร่างกาย
ต่อมไทรอยด์ คือต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่งที่อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีน้ำหนักประมาณ 20 กรัม ลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อส่งต่อไปยังอวัยวะต่างๆ โดยทำงานภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และต่อมไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ให้ระดับของฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา ซึ่งหน้าที่และความสำคัญของไทรอยด์นั้น ประกอบไปด้วย
  • ช่วยกระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมองทำงานได้อย่างเป็นปกติ 
  • ควบคุมระบบการเผาผลาญของเซลล์ต่างๆ รวมถึงระดับไขมันในเลือด และระบบย่อยอาหาร 
  • ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และการทำงานของกล้ามเนื้อ
  • มีผลต่อความแข็งแรงของผิวหนัง ผม และเล็บ 

ไทรอยด์ทำพิษ...ชีวิตพัง
ด้วยบทบาทสำคัญของต่อมไทรอยด์ที่ว่ามานี้ จึงทำให้เมื่อมีความผิดปกติของไทรอยด์เกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยโรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ได้แก่
  • ต่อมไทรอยด์โตแบบเป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism) ทำให้มีอาการเหนื่อย ใจสั่น ขี้ร้อน น้ำหนักลด เหงื่อออกเยอะ ประจำเดือนน้อยลง ผิวหนังเป็นปื้นหน้าขรุขระ บางรายตาโปน บางรายมีอาการแขนขาอ่อนแรง ซึ่งต้องทำการรักษาโดยการกินยาต้านไทรอยด์ กลืนน้ำแร่ไอโอดีน ไปจนถึงการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism) เป็นอาการของการมีภาวะเมตาบอลิซึมในร่างกายที่น้อยเกินไป จนทำให้คิดช้า เฉื่อยชา ง่วงนอน น้ำหนักขึ้น ขี้หนาว ผมร่วง ผิวแห้งหยาบ ตัวบวม หน้าบวม เป็นตะคริวบ่อย ท้องผูก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและระบบไขมันในเลือดได้ โดยการรักษาจะมีเพียงการกินยา และมักจะต้องกินต่อเนื่องตลอดชีวิต
  • ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) สามารถพบได้ทั้งแบบกึ่งเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยสำหรับชนิดกึ่งเฉียบพลัน จะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้มีไข้ ต่อมไทรอยด์โตและเจ็บ ต้องรักษาด้วยการกินยาสเตียรอยด์ ซึ่งจะช่วยให้หายขาดได้ภายใน 3 - 6 เดือน แต่ต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง จะเกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการบวมที่คอ แต่กดไม่เจ็บ หรือยุบได้เอง  สามารถรักษาด้วยการกินยาและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

มะเร็งต่อมไทรอยด์...ปัญหาใหญ่ที่ (อาจ) ไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด
มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ พบได้ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป จนถึง 80 ปี แต่โดยมากมักเกิดในช่วงอายุ 40 - 60 ปี ทั้งหญิงและชาย ซึ่งมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่เกิดในเพศชายหรือผู้ที่อายุน้อยมากและสูงวัยมาก มักจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่า โดยสามารถเป็นได้ตั้งแต่ชนิดที่ร้ายแรงที่สุดจนถึงร้ายแรงน้อย แต่หากเปรียบเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ก็ถือว่าไม่ร้ายแรงเพราะโตช้า และอัตราการเสียชีวิตต่ำ อีกทั้งลักษณะอาการในระยะแรกมักไม่แสดงออก จะมีก็แค่ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ โดยสามารถโตขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะลุกลาม นอกจากนี้ยังอาจพบก้อนบริเวณด้านข้างลำคอ ซึ่งเกิดจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือหากแพร่กระจายไปที่กระดูก ก็จะทำให้กระดูกหัก หรือมีก้อนขึ้นตามกระดูก และอาจมีอาการเสียงแหบ หรือกลืนลำบากร่วมด้วย แต่ถึงอย่างนั้นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ก็ยังนับว่าเป็นมะเร็งที่ได้ผลดีในการรักษา ยิ่งหากว่าเป็นในระยะแรกจะสามารถใช้การผ่าตัดรักษา และตามด้วยการกินยาตลอดชีวิต เพื่อควบคุมการเติบโตของมะเร็ง หรือถ้าเป็นในระยะลุกลาม แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด ร่วมกับการกินสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน 131 และตามด้วยการกินยา เพื่อควบคุมตลอดชีวิตเช่นกัน

แต่ถึงแม้ว่ามะเร็งต่อมไทรอยด์จะไม่ใช่เรื่องที่น่านอยด์...สักเท่าไหร่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลืมไปว่า “ต่อมไทรอยด์” ก็มีหัวใจ เอ้ย! ความสำคัญเหมือนกัน
สนใจ แพกเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->