ถอดรหัสอาการ Lovesick เมื่อความรักทำให้ร่างกายปั่นป่วน



หลังจากที่เกิร์ลกรุ๊ประดับตำนานอย่าง Black Pink ได้ปล่อย MV เพลง ‘Lovesick Girls’ ซึ่งเป็นเพลงไตเติ้ลผลงานอัลบั้มเต็มชุดแรก ‘The Album’ หลังจากที่สาวๆ เดบิวต์มานาน 4 ปี ซึ่งเนื้อหาของเพลงเกี่ยวกับความเจ็บปวดในความรัก และแรงบันดาลใจในการลุกกลับขึ้นมาอยู่เหนือความเจ็บปวดให้ได้ หลายคนคงสงสัยว่าอาการ Lovesick เป็นอาการที่มีอยู่จริงหรือเป็นแค่คำที่พูดกันเล่นๆ วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกันให้กระจ่าง!



Love as Mental Illness ป่วยเป็นไข้ใจ...มีอยู่จริง!
อาการ Lovesick หรือ Lovesickness ถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการป่วยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในปีค.ศ. 1610 แพทย์ชาวฝรั่งเศษนามว่า Jacques Ferrand ได้เขียนอธิบายไว้ใน “A Treatise on Lovesickness” ซึ่งเป็นบทความเกี่ยวกับอาการ Lovesickness ของคนในยุคเรเนซองส์ว่า Lovesickness เป็นอาการทางจิตที่เมื่อต้องการความรักมากแล้วไม่สมปรารถนา จะส่งผลต่อร่างกายทำให้มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ใจเต้น เกร็งในท้อง นอนไม่หลับ และไม่มีสมาธิ ฯลฯ

ต่อมาในปีค.ศ. 1979 นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Dr. Dorothy Tennov ได้อธิบายไว้ว่า Lovesickness เป็นอาการที่อ้างอิงมากจากอาการคลั่งรัก (Limerence) ซึ่งเป็นอาการตกหลุมรักขั้นสูงที่สุด โดยร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนหรือสารเคมีในร่างกายที่แตกต่างจากคนที่กำลังรักใครสักคนในระดับทั่วไป ทำให้เกิดความรู้สึกหมกมุ่นในความรักและต้องการได้ความรักตอบ เมื่อความรักไม่เป็นอย่างที่หวังจึงทำให้รู้สึก “หมดอาลัยตายอยาก” สอดคล้องกับผลวิจัยของ Donatella Marazitti นักจิตแพทย์ชาวอิตาลีที่พบว่าในคนที่กำลังตกหลุมรัก สารเซโรโทนินซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมองจะลดระดับลงมาใกล้เคียงกับคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) และมีระดับเซโรโทนินต่ำกว่าคนปกติอย่างมีนัยสำคัญ 

นี่คืออาการของคนเป็น Lovesick 
ใครที่เคยอกหักอย่างแรงมาก่อนคงจะเข้าใจอาการเหล่านี้เป็นอย่างดี ซึ่ง Frank Tallis นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาชาวอังกฤษได้ลิสต์ออกมาว่า อาการเหล่านี้นี่แหละ! ที่เป็นอาการของ Lovesickness

• ภาวะมาเนีย ซึ่งจะอารมณ์ดีผิดปกติ และมีความมั่นใจในตัวเองสูง
• ภาวะซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวังและไร้ค่า 
• คลื่นไส้ รู้สึกเหมือนจะอาเจียน ผะอืดผะอม ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและรู้สึกอ่อนเพลียได้
• น้ำตาไหล อาการเหมือนวางมือบนบ่าน้ำตาก็ไหล ไม่ว่าจะนั่งอยู่บนรถ นั่งทำงาน หรือนั่งฟังเพลง อยู่ๆ น้ำตาก็ไหลออกมาแบบไม่รู้ตัว
• นอนไม่หลับ หลับลำบาก หลับไม่สนิท ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวันได้
• ไม่มีสมาธิ จิตใจล่องลอย ไม่สามารถโฟกัสกับกิจกรรมทีทำได้เลย มีผลการศึกษาบอกว่าเมื่อเราอกหัก สมองส่วนการคำนวณจะทำงานได้แย่ลง ทำให้สูญเสียความสามารถในการคำนวณไปชั่วขณะ
• พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป ไม่รู้สึกอยากอาหาร หรือบางคนอยากอาหารเป็นพิเศษ 
• ภาวะเครียด ซึ่งมักจะมาพร้อมกับอาการหัวใจเต้นเร็วและความดันสูง เนื่องจากขณะที่เครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอทิซอล (Cortisol) และอะดรินาลีน (Adrenaline)
• ย้ำคิดย้ำทำ หมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องความรักจนหันไปพึ่งโชคลาง ปรึกษาหมอดูเรื่องความรัก
อาการทางร่างกาย ปวดเมื่อยตามร่างกาย วิงเวียนศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน 
• อารมณ์แปรปรวนง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวเศร้า หงุดหงิดง่าย  

HELEN FISHER นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาการทำงานของสมองระหว่างมีความรักและระหว่างอกหัก เคยพูดเอาไว้ใน TED TALK ว่า “สมองที่อกหัก คือสมองที่กำลังลงแดง” เพราะตอนเราถูกทิ้งสมองจะสั่งให้เรารักเขามากกว่าเดิม อ่านเพิ่มเติมได้ที่ HELEN FISHER: สมองที่มีความรัก เหมือนสมองที่กำลังติดยาเสพติด

แม้ว่าอาการ Lovesick จะเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับใครหลายๆ คน แต่ก็มีหลากหลายวิธีที่จะช่วยปรับให้ชาว Lovesick ทั้งหลายรู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้ โดยการเบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น การออกไปพบปะผู้คน คุยกับเพื่อน ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว หรือแม้แต่การออกกำลังกายซึ่งร่างกายจะหลั่งสารเอนโดรฟินทำรู้สึกดีขึ้น ใครที่เคยมีประสบการณ์ Lovesick และผ่านช่วงวิกฤติมาแล้ว ลองมาเเชร์ประสบการณ์ให้เราฟังหน่อย!  


 
-->