ทำความรู้จัก ‘ภาวะสมองขาดออกซิเจน’ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สมองถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายเรา เพราะเป็นเสมือนแม่ทัพที่จะนำพากองกำลังไปสู่ความสำเร็จได้ เมื่อสมองของเรามีความสำคัญมากขนาดนั้น เราจึงต้องใส่ใจสุขภาพของเราให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่ต้องระมัดระวัง เพราะอาจมีความเสี่ยงทำให้เราเกิด ‘ภาวะสมองขาดออกซิเจน’ ได้โดยไม่รู้ตัว



# รู้จักสมองขาดออกซิเจน (Cerebral Hypoxia)
ภาวะสมองขาดออกซิเจน หรือ สมองพร่องออกซิเจน เกิดจากการที่สมองของเราขาดออกซิเจนเป็นเวลานานจนทำให้สมองทำงานผิดปกติและเกิดภาวะสมองตายในที่สุด หากเราขาดออกซิเจนเกิน 4 นาทีอาจส่งผลให้สมองตายและมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

สาเหตุที่พบบ่อยของโรคนี้คือ การขาดอากาศหายใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจาก การจมน้ำ การสำลักอาหาร หรือถูกรัดคอ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคหัวใจ ภาวะหัวใจหยุดเต้น การชักทั้งร่างกาย ความดันโลหิตหรือน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเวลานาน สมองขาดเลือดหรืออาจเกิดจากสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย 

หากร่างกายของเราเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนจะส่งผลโดยตรงกับเซลล์สมองในส่วนต่างๆ ซึ่งสมองของเราถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญและเปรียบเสมือนหัวหน้าที่มีหน้าที่ในการสั่งการและทำให้ทีมงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับสมองของเรา ดังนั้นหากเราเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน สมองส่วนที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดคือ เซลล์สมองส่วนฮิปโปแคมปัส เป็นสมองส่วนที่ไวต่อการขาดออกซิเจน ซึ่งสมองส่วนนี้มีหน้าที่ในการคิดและสั่งการ นอกจากนี้ยังมีเซลล์สมองอีก 2 ส่วนที่สำคัญคือ สมองส่วนท้ายทอยที่ส่งผลโดยตรงต่อการมองเห็น สมองใหญ่และสมองน้อยที่ส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่งผลเรื่องการทรงตัวและกล้ามเนื้อกระตุก

# กลุ่มโรคเหล่านี้ก็มีความเสี่ยง ‘ภาวะสมองขาดออกซิเจน’
จากที่เราได้เห็นสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นของภาวะสมองขาดออกซิเจน ชี้ให้เห็นว่า มีหลากหลายโรคที่อาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดสมองขาดออกซิเจนมากมาย หนึ่งในโรคที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือ โรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและหัวใจ ยกตัวอย่างเช่น
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้น
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นผิดจังหวะ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโรคอื่นๆ ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนได้
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS
  • โรคหอบหืด
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับปอด เช่น ปอดบวม ปอดอุดกั้นเรื้อรัง น้ำท่วมปอด หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น



# แนวทางการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง
เนื่องจากภาวะสมองขาดออกซิเจนสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุและไม่สามารถคาดเดาของการเกิดขึ้นได้ แต่เราก็ยังสามารถลดความเสี่ยงจากตัวเราเองได้เบื้องต้น ดังนั้นเราลองมาดูกันว่าเราจะลดความเสี่ยงได้อย่างไรบ้าง
  • งดไปในสถานที่ที่มีความแออัดสูง หรือสถานที่ที่มีผู้คนเป็นจำนวนมาก เรามักเห็นข่าวในต่างประเทศที่มีการจัดงานเทศกาลต่างๆ และมีผู้คนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก จนเกิดโศกนาฏกรรมที่ทุกคนคาดไม่ถึง ซึ่งสถานที่ที่มีความแอดอัดมักมีอากาศไม่ถ่ายเท ออกซิเจนน้อย เสี่ยงขาดอากาศหายใจและอาจทำให้เราเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนได้
  • ระมัดระวังกิจกรรมทางน้ำ การจมน้ำหรือสำลักน้ำเป็นความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เราเกิดภาวะขาดอากาศหายใจได้ ซึ่งส่งผลต่อสมองของเราโดยตรง ดังนั้นหากเราหลีกเลี่ยงไปอยู่ในสถานที่เหล่านี้ได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้
  • คนที่มีโรคประจำตัวต้องตระหนัก คนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคที่เกี่ยวข้องกับปอด จำเป็นต้องกินยาเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจ หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินการทานยาเพื่อระงับอาการก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ ดังนั้นหากเราต้องออกไปทำธุระข้างนอก ควรพกยากินติดตัวไว้ตลอดเวลา
  • คนข้างกายสำคัญมาก! สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือผู้สูงอายุ การมีผู้ช่วยข้างกายก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้เหมือนกัน เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินก็จะมีคนช่วยเหลือได้ทันเวลา

เวลาและความรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่สำคัญของโรคสมองขาดออกซิเจน หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน สิ่งแรกที่ควรทำคือ การช่วยฟื้นคืนชีพ หรือการทำ CPR และรีบส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็วทันเวลา
-->