ทำความเข้าใจ ‘ไส้เลื่อน’ ... ไม่ใช่แค่ผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นได้เหมือนกัน!


หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ไส้เลื่อนนั้นเป็นโรคของคุณผู้ชาย ซึ่งถึงแม้ว่าผู้ชายจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะเป็นไส้เลื่อนไม่ได้นะ ถึงแม้จะมีโอกาสน้อยก็ตาม วันนี้เรามารู้จักกับโรคไส้เลื่อนกันแบบชัดๆ ทำความเข้าใจกับโรคนี้กันให้กระจ่างกันไปเลย ว่ามันยังไงกันแน่!



เคลียร์ชัดๆ จริงๆ แล้ว ไส้เลื่อน คือ ...
ไส้เลื่อน คือการที่ผนังหน้าท้องของเรามันอ่อน จนทำให้อวัยวะภายในเคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งของผนังหน้าท้องตรงนั้น ซึ่งจะแบ่งใหญ่ๆ ได้ 2 แบบ คือผนังหน้าท้องส่วนนั้นอ่อนลงเอง ส่วนใหญ่ผู้ชายจะพบบริเวณขาหนีบข้างลูกอัณฑะ (หลายคนเลยคิดว่าโรคนี้เป็นกันเฉพาะผู้ชาย) ส่วนผู้หญิงจะมีโอกาสพบได้น้อย กับอีกประเภทคือ ผนังหน้าท้องอ่อนแอลงจากแผลผ่าตัด ซึ่งเคสนี้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นไม่น้อยไปกว่าผู้ชายเลย โดยอาจจะเป็นแผลที่เคยผ่าไส้ติ่ง แผลผ่าคลอด หรือการผ่าตัดเปิดช่องท้องต่างๆ ที่จะทำให้ผนังหน้าท้องในตำแหน่งนั้นอ่อนแอลง

มาดูปัจจัยที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนกันหน่อย
โดยทั่วไป สาเหตุหลักๆ ของไส้เลื่อนคือการที่ผนังหน้าท้องอ่อนแอลง ซึ่งเกิดขึ้นจากสามปัจจัยคือ เรื่องของอายุ ถ้ายิ่งอายุมากขึ้น ความแข็งแรงของผนังหน้าท้องก็จะลดลง ปัจจัยที่สองคือ คนที่มีประวัติเคยผ่าตัด หลังจากผ่าตัดแล้ว ความแข็งแรงของผนังหน้าท้องบริเวณนั้นก็จะลดลง ปัจจัยสุดท้าย คือภาวะที่มีความดันภายในช่องท้องมากขึ้น มักจะเกิดในคนที่มีปัญหาไอเรื้อรัง หรือท้องผูกทำให้ต้องเบ่ง ส่วนผู้ชายจะพบมากในคนที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เวลาเบ่งปัสสาวะนานกว่าปกติ

เช็คตัวเองให้ชัวร์ ถ้าเข้าข่ายโรคนี้ ควรรีบพบแพทย์
คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ มากันด้วย 2 อาการใหญ่ๆ คือ คลำเจอก้อนที่ท้อง ซึ่งตัวก้อนนี้จะมีลักษณะสำคัญคือ มักจะสามารถเคลื่อนที่เข้าออกได้ มียุบมีโตได้ ช่วงเช้าและช่วงก่อนนอนมักจะยุบหายไป จะปูดออกมาก็ตอนเกิด Activity หรือเกิดการเบ่ง ส่วนอีกอาการที่พบคือ อาจจะยังคลำไม่เจอก้อนชัดเจน แต่มีอาการปวดท้อง หรือปวดบริเวณขาหนีบ ดังนั้นหากสงสัย จึงควรไปโรงพยาบาลให้คุณหมอตรวจวินิจฉัย และอาจมีการตรวจโดยการทำอัลตร้าซาวน์ หรือการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 90%

การผ่าตัด ยังเป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุด
ถ้าพูดถึงในสมัยก่อน แทบจะทุกเคสที่เป็นไส้เลื่อนจะต้องผ่าตัดเพื่อทำการรักษา โดยเฉพาะลำไส้ที่ถูกรัดโดยผนังหน้าท้องแล้วขาดเลือด เกิดลำไส้อุดตัน อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่ในปัจจุบัน การรักษาจะขึ้นอยู่กับสุขภาพของคนไข้เป็นหลัก คนไข้บางกลุ่ม อย่างผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเยอะๆ หรือเคสที่มีขนาดไส้เลื่อนที่ใหญ่ ก็จะพิจารณารักษาตามอาการก่อน สังเกตอาการและรักษาแบบประคับประคอง แต่ในเคสทั่วๆ ไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง การผ่าตัดยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดอยู่ ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดดีกว่าสมัยก่อน ความเสี่ยงในการผ่าตัดน้อยลง และคนไข้ฟื้นตัวได้เร็ว

เป็นซ้ำได้ แต่โอกาสน้อย ... Possible แต่ไม่ Probable
ต้องบอกว่าโรคไส้เลื่อนเป็นโรคที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ถึงแม้จะเคยผ่าตัดแล้ว แต่ในปัจจุบัน โอกาสเป็นซ้ำอยู่ที่ประมาณ 5% เท่านั้น เพราะตอนผ่าตัดจะมีการใส่ตาข่ายเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้องเข้าไปด้วย ซึ่งดีกว่าสมัยก่อนที่เย็บซ่อมแซมผนังหน้าท้องเพียงอย่างเดียว

ไส้เลื่อนเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย สิ่งที่ทำได้คือลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไส้เลื่อน อย่างการควบคุมน้ำหนัก เพราะหากผนังหน้าท้องขยาย นั่นก็หมายถึงผนังหน้าท้องของเราจะอ่อนแอลงด้วย นอกนั้นก็ลดพวกความเสี่ยงอื่นๆ อย่างการเบ่งปัสสาวะ การไอแรงๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความดันในช่องท้องและเกิดเป็นไส้เลื่อนได้

 
-->