ทำยังไง เมื่อ 'โรตีสายไหม' ก็มีสารกันบูดเกินมาตรฐาน




เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเราคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการสุ่มตรวจร้านโรตีสายไหมในจังหวัดอยุธยา ของดีของเด็ดที่ใครไปเที่ยวจะต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน แต่รู้หรือเปล่าว่าโรตีสายไหมสีสวยน่าทานพวกนี้ มีทั้งสีผสมอาหารและสารกันบูดอยู่ด้วย ซึ่งหลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างโรตีสายไหมทั้งหมด 13 ร้านในจังหวัดอยุธยาไปตรวจ ผลปรากฎว่ามีร้านที่ใส่สารกันบูดเกินมาตรฐานถึง 6 ร้าน เรียกว่าเกือบครึ่งเลยทีเดียว! 





จุดเริ่มต้นของ "สารกันบูด"
ตามธรรมชาติของอาหารเกือบทุกชนิด เมื่อเก็บไว้นานๆ ก็จะเปลี่ยนสภาพจากของสดใหม่กลายเป็นเน่าเสีย ด้วยเหตุผลนี้มนุษย์เราจึงคิดค้นกระบวนการถนอมอาหารเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความร้อน ความเย็น ความเค็มของเกลือ การฉายรังสี หรือแม้แต่การใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่เรียกกันทั่วไปว่าสารกันบูดนั่นเอง 

ซึ่งความจริงแล้วสารกันบูดมีอยู่หลากหลายชนิด ปริมาณที่ใช้ก็จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนดปริมาณที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารได้ อย่างในเคสโรตีสายไหม เขาใช้วิธีการตรวจสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก ซึ่งสารตัวนี้กระทรวงสาธารณะสุขอนุญาตให้มีได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม แต่ร้านที่ตรวจเจอปริมาณสารกันบูดสูงสุดอันดับหนึ่ง สูงทะลุไปถึง 3,281.56 มก./กก. เลยทีเดียว หลายคนอาจสงสัยว่าการที่เราทานอาหารที่ใส่สารกันบูด จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพยังไงบ้าง เรามีคำตอบมาฝาก

ความน่ากลัวไม่ใช่ชนิด...แต่เป็นที่ปริมาณ!
สารกันบูดแต่ละชนิดที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารถือว่ามีความปลอดภัยระดับหนึ่ง เพราะได้ผ่านการทดสอบด้านพิษวิทยาและการประเมินความปลอดภัยมาแล้ว แต่เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอาหารที่ซื้อมาใส่สารกันบูดในปริมาณที่มากน้อยแค่ไหน เกินกว่ามาตรฐานหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ตรวจในห้องแล็ป แม้ว่าสารกันบูดบางชนิดจะสามารถระเหยเมื่อผ่านความร้อน แต่ถ้าเราบริโภคเป็นประจำ ร่างกายก็อาจขับออกไม่ทันกลายเป็นสารพิษตกค้างสะสมอยู่ในร่างกายนั่นเอง

พิษเฉียบพลัน อาการของคนที่ได้รับสารกันบูดปริมาณมาก
ในกรณีของคนที่ได้รับสารกันบูดปริมาณมาก อาจเกิดพิษเฉียบพลัน เช่น การได้รับกรดเบนโซอิกจากเส้นก๋วยเตี๋ยวในปริมาณสูง จะทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน ปวดหัว หรือในกรณีที่ทานไส้กรอกที่มีปริมาณไนเตรตไนไตรท์สูงมาก อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงช็อกเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก และหมดสติได้ 

ทีละนิดทีละน้อย ก็กลายเป็นพิษเรื้อรัง
การทานอาหารที่มีสารกันบูดปริมาณไม่มากแต่สะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็สามารถเป็นพิษเรื้อรังได้ ซึ่งปกติแล้วหากได้รับสารกันบูดในปริมาณน้อย ร่างกายสามารถขับออกเองได้ แต่การรับทีละน้อยเป็นเวลานาน เช่น การทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์หมัก ไส้กรอก แฮม กุนเชียง หมูยอ ที่มักจะมีสารกันบูดกลุ่มไนเตรตไนไตรต์ สามารถทำปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนและเอไมด์ในเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลา โดยเฉพาะในสภาวะที่มีความเป็นกรดเหมาะสม เช่น กระเพาะอาหารของเรา จะก่อให้เกิดสารประกอบไนโตรโซ ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็ง

อาจเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงสารกันบูดที่อยู่ในอาหารทั่วไป แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพื่อสุขภาพของเราเอง อย่างน้อยเลือกซื้ออาหารที่มีเครื่องหมาย อย. และระบุวันหมดอายุชัดเจน รวมถึงการหลีกเลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารพร้อมทานที่ไม่ได้ขายหมดวันต่อวัน เพราะอาหารเหล่านี้หากไม่บรรจุในภาชนะปิดสนิทหรือเก็บในตู้แช่เย็น ให้สงสัยไว้เลยว่าอาจมีสารกันบูดปริมาณมากและควรหลีกเลี่ยง



 
-->