ทำไม? ถึงต้องเลือกแผ่นกรองอากาศที่เป็น HEPA

ช่วงนี้ถึงแม้อากาศหนาวจะกลับมาให้แฮปปี้กันอีกครั้ง แต่ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะบางวันก็ยังเห็นฝุ่น PM มากวนใจกันอยู่บ่อยๆ ไหนจะเชื้อโรค เชื้อไวรัส ที่จ้องเล่นงานกันอย่างไม่ปราณี ทำให้ตอนนี้ ‘เครื่องฟอกอากาศ’ กลายเป็น MUST-HAVE ไอเท็ม ที่ต้องมีกันแทบทุกบ้าน ว่าแต่เครื่องที่ใช้อยู่คุณได้เลือกชนิดของแผ่นกรองอากาศดีแล้วหรือยัง
 

หลังๆ เรามักจะได้ยินเพื่อนบ่นกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงที่ฝุ่น PM กลับมาโหมกระหน่ำกันอีกครั้ง ว่าเปิดเครื่องฟอกอากาศก็แล้ว แต่ทำไมเหมือนภูมิแพ้ที่เป็นอยู่ก็ยังขึ้นเอาขึ้นเอา คุยกันไปคุยกันมาปรากฎว่ามีคนพูดถึงเรื่องของแผ่นกรองอากาศชนิด HEPA ที่เขาบอกว่ากรองอนุภาคเล็กๆ ไซส์ 0.3 ไมครอนได้ดี เลยช่วยให้กรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ดีกว่า เราเลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเอามาแชร์ให้กับชาว Health Addict ทุกคน
 
แผ่นกรอง HEPA ทางเลือกที่ใช่ ของคนขี้แพ้
หยุดก่อน! เราไม่ได้จะบูลลี่ใคร ขี้แพ้ในที่นี่หมายถึงคนที่เป็นภูมิแพ้อากาศทั้งหลาย หรือแพ้เกสร ฝุ่นละอองต่างๆ ต่างหาก เพราะคนกลุ่มนี้จะมีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และเชื่อมั้ยว่าแผ่นกรองอากาศที่แพทย์แนะนำกันมากที่สุดสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้นั้น ก็คือ แผ่นกรอง HEPA นั่นเอง ซึ่งแผ่นกรองอากาศ HEPA นั้น ย่อมาจาก ‘High Efficiency Particulate Air’ เป็นชนิดของตัวกรองที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ ได้ ซึ่งโดยมาตรฐานแล้ว HEPA Filter นั้นจะมีประสิทธิภาพสามารถดัดจับฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กขนาด 0.3 ไมครอน ได้อย่างน้อย 99.97% เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แค่ PM 2.5 เท่านั้นที่จะถูกสะกัดกั้น แต่สิ่งสกปรกอื่นๆ เช่น ละอองเกสร ควัน หรือพวกแบคทีเรีย เชื้อราต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศ ก็จะโดนรวบไปด้วยเหมือนกัน 
 
อุต๊ะ! ถึงจะเป็น HEPA แต่ก็มีให้เลือกหลายเกรด
คราวนี้เราจะมาสอนเทคนิคในการดูให้ละเอียดขึ้นไปอีก ก็คือ ไม่ใช่แค่เห็น HEPA แล้วไขว่คว้ามาก็จบ เพราะเขามีหลากหลายเกรดให้เลือกสรร ซึ่งมักจะตามด้วยตัวเลขหลังตัว ‘H’ ซึ่งจำไว้เลยว่ายิ่งเลขตัวนี้สูงเท่าไหร่ แปลว่าคุณสมบัติในการกรองยิ่งสูงตามไปด้วย หรือจำง่ายๆ ว่า ‘ยิ่งสูง ยิ่งดี’
เช่น 
  • HEPA H14 หมายความว่า ในอากาศ 1 ลิตร สิ่งสกปรกขนาด 0.1 ไมครอน มีโอกาสผ่านไปได้ 0.005%
  • HEPA H13 หมายความว่า ในอากาศ 1 ลิตร สิ่งสกปรกขนาด 0.1 ไมครอน มีโอกาสผ่านไปได้ 0.05%
  • HEPA H12 หมายความว่า ในอากาศ 1 ลิตร สิ่งสกปรกขนาด 0.1 ไมครอน มีโอกาสผ่านไปได้ 0.5%
  • HEPA H11 หมายความว่า ในอากาศ 1 ลิตร สิ่งสกปรกขนาด 0.1 ไมครอน มีโอกาสผ่านไปได้ 5%
  • HEPA H10 หมายความว่า ในอากาศ 1 ลิตร สิ่งสกปรกขนาด 0.1 ไมครอน มีโอกาสผ่านไปได้ 15%
 
สรุปแล้ว...สิ่งที่ HEPA ทำงานต่างจากแผ่นกรองอากาศทั่วไปยังไงกันแน่?
เนื่องจากว่าแผ่นกรองอากาศชนิดนี้ ถูกถักทอมาจากเส้นใยไฟเบอร์กลาสที่หนาแน่น ทำให้มันจะเป็นเหมือนกำแพงตาข่ายหลายๆ ชั้น ที่ทับซ้อนกัน เพื่อสกัดกั้นสิ่งปนเปื้อนมากับอากาศไม่ให้เล็ดลอดออกไปได้นั่นเอง เว็บไซด์ aircontrol ได้อธิบายแบบให้เห็นภาพไว้ว่า วิธีการดักจับฝุ่นต่างๆ ของแผ่นกรองอากาศ HEPA นั้นจะมีอยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน คือ
 
Photo Credit: aircontrol

 

1. การชน (Direct Impaction) ซึ่งเขาบอกว่านี่เป็นวิธีที่พวกสิ่งสกปรกไซส์ใหญ่ อย่างฝุ่น เกสรดอกไม้ หรือเชื้อราบางชนิด จะลอยเข้ามาชนและติดอยู่กับเส้นใยของแผ่นกรองเอง

2. การคัดกรอง (Sieving) > ถึงแม้ว่าบางครั้งสิ่งสกปรกหรืออนุภาคเหล่านั้นไม่ได้มาชนกับเส้นใยโดยตรง แต่ด้วยความหนาของเส้นใบในแผ่นกรอง ทำให้มีพื้นที่ช่องว่างระหว่างเส้นต่อเส้นมีน้อย ทำให้ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกไซส์ใหญ่ก็ไม่สามารถลอดผ่านช่องว่างนั้นได้อยู่ดี

3. การสกัดกั้น (Interception) > แล้วถ้าเจอกับฝุ่นละอองไซส์ที่เล็กลงมาล่ะ อนุภาคพวกนี้ก็จะเคลื่อนที่ไปตามการไหลเวียนของอากาศด้วยความเร็ว ซึ่งถึงแม้ว่าในด่านแรกมันอาจจะโชคดีสามารถเคลื่อนตัวอ้อมเส้นใยไปได้ แต่ด้วยความหนาของเส้นใย บวกกับแรงเฉื่อย ทำให้สุดท้ายแล้วอนุภาคนั้นก็จะกระเด็นไปติดด้านขางของเส้นใยอยู่ดี

4. การแพร่ (Diffusion) > ในเคสที่เจอสิ่งสกปรก หรือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กมาก อาจจะเล็กกว่า 2.5 ไมครอน พวกนี้จะมีเส้นทางการเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นทิศเป็นทาง ทำให้มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวไปชนกับเส้นใยได้ง่ายๆ เอง 

 
และก็ถ้าพูดถึงเรื่องของอายุการใช้งานแล้วล่ะก็ ถึงแม้ว่าแผ่นกรองอากาศ HEPA จะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 4-5 ปี แต่ถ้าเราใช้งานเป็นประจำทุกๆ วัน ก็ควรที่จะหมั่นทำความสะอาดอยู่บ่อยๆ โดยใช้แปรงปัดฝุ่นที่อยู่ตามร่องต่างๆ หรือแค่เคาะเบาๆ ให้ฝุ่นหลุดออกมาก็เพียงพอแล้ว อย่าเปรี้ยวด้วยการเอาไปล้างด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดใดๆ เพราะมันจะไปทำลายวัสดุของแผ่นกรองที่ทำจากเส้นใยไฟเบอร์กลาส และเมื่อไหร่ที่เห็นว่าแผ่นกรองเริ่มดำ ก็ควรจะรีบเปลี่ยนทันที อาจจะเปลี่ยนทุกๆ 1-2 ปีก็ได้ คิดซะว่า เปลี่ยนแผ่นกรอง ดีกว่าต้องเปลี่ยนปอดตั้งเยอะ จริงมั้ย?
-->