ที่เหงื่อออกมากผิดปกติ เพราะโลกร้อน หรือ ร่างกายฟ้องกันแน่นะ

การใช้ชีวิตอยู่เมืองร้อนในหน้าร้อนแบบนี้ แน่ล่ะว่าก็ต้องมีเหงื่อออกเป็นธรรมดา (หรือเปล่า?) แต่บางทีก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าที่เหงื่อออกอย่างกับไปอาบน้ำมานี้เป็นเพราะอากาศร้อนจริงๆ หรือร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนบางอย่างกันแน่ เอาล่ะ! อย่ามัวแต่สงสัย ลองเช็คดูให้แน่ใจดีกว่าว่าอาการเหงื่อออกแบบนี้ปกติหรือเปล่า


 
เหงื่อ...มาจากไหน
เหงื่อเกิดจากการทำงานของกลไกในร่างกาย เป็นการขับความร้อนของร่างกายออกมาทางผิวหนัง ผ่านหยดน้ำเม็ดเล็กๆ ที่ซึมออกมาตามรูขุมขนบนผิวหนัง ทำหน้าที่ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติอย่างรวดเร็ว เหมือนอย่างเวลาเราไม่สบาย เป็นไข้ ถ้าร่างกายมีการระบายความร้อนได้ มีเหงื่อออกมาก ไข้ก็จะลดไว หรือเวลาออกกำลังกายซึ่งร่างกายกำลังเผาผลาญพลังงาน จึงมีความร้อนสูง เหงื่อก็จะออกมาตามอวัยวะส่วนต่างๆ เป็นการปรับลดอุณหภูมิของร่างกายที่ทำงานโดยอัตโนมัติ ไม่ให้มีความร้อนจัดจนเป็นอันตรายได้
 
ทำไมแต่ละคนเหงื่อออกไม่เท่ากัน
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แต่ละคนจะมีเหงื่อออกไม่เท่ากัน เพราะส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของแต่ละคนมากกว่า ให้ลองสังเกตจากเวลาที่ออกกำลังกาย ทั้งๆ ที่ทำกิจกรรมเดียวกัน อยู่ในที่เดียวกัน แต่บางคนกลับเหงื่อออกมาก ในขณะที่บางคนอาจจะแค่มีเม็ดเหงื่อซึมๆ นั่นเพราะคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะเหงื่อออกได้ง่ายกว่า เพราะร่างกายมีการปรับอุณหภูมิอยู่เป็นประจำ ทำให้ออกกำลังกายได้นานกว่า ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ร่างกายจะมีกระบวนการเผาผลาญและปรับอุณหภูมิได้ช้ากว่า จึงทำให้เหงื่อออกยาก และมีโอกาสที่จะหน้ามืด เป็นลมได้ง่ายกว่า
 
เหงื่อออกมากผิดปกติ...เป็นเพราะอะไรกันนะ
หากว่าอยู่ในภาวะปกติ สภาพแวดล้อมปกติ แต่กลับมีเหงื่อออกมากผิดปกติ เช่น เหงื่อออกมือจนหยิบจับสิ่งของไม่ได้ มีเหงื่อออกตามข้อพับจนทำให้เสื้อผ้าเปียกเหมือนโดนน้ำสาด หรือถุงมือถุงเท้าเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาการแบบนี้ถือว่าเป็นความผิดปกติของประสาทอัตโนมัติเกิดอาการลัดวงจร โดยอาจเกิดขึ้นได้ 2 แบบ

1. ไม่มีสาเหตุแน่ชัด (Primary Hyperhydrosis) เกิดได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย มีอาการคือ เหงื่อออกในบริเวณบางส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า ศีรษะ รักแร้ ฝ่ามือ มักพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่อายุยังน้อย ในกลุ่มวัยรุ่น ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 30-40 ของคนที่มีภาวะนี้ พบว่ามีญาติสายตรง หรือพ่อแม่ที่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติเช่นกัน ผู้ป่วยบางรายมีเหงื่อออกมากที่มือจนเขียนหนังสือหรือจับสิ่งของไม่ได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาทั้งในแง่การทำงาน การเข้าสังคมและการดำรงชีวิตประจำวัน

2. เกิดจากความผิดปกติในร่างกาย (Secondary Hyperhydrosis) สำหรับกลุ่มนี้จะมีเหงื่อออกมากทั่วร่างกาย แม้แต่เวลานอน ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของโรคอื่นๆ 

 

  • โรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน และทำให้เหงื่อออกมากกว่าที่ควรจะเป็น แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูด้วยว่ามีอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ กินจุ มืออุ่นและชื้นตลอดเวลา หรือมือสั่น ใจสั่นร่วมด้วยหรือเปล่า

  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิดอาการเหงื่อออกมากผิดปกติได้ โดยยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปกติแล้วอาการเหงื่อออกมากในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนี้ จะมีอาการไข้เรื้อรังร่วมด้วย

  • โรคเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ถ้ามีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือเหงื่อออกทั้งๆ ที่อากาศไม่ได้ร้อน นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลในเลือดกำลังลดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งอาจทำให้เป็นลม หมดสติได้

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่อาจมีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวร่วมกับอาการปวดและแน่นบริเวณหน้าอก หรืออาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นลมด้วยล่ะก็ ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที

  • โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมการทำงานของระบบประสาทได้ ดังนั้นถ้าหากมีเหงื่อออกมากและเกิดอาการมือสั่น ให้หาเวลาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจจะดีกว่า

  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะอ้วนมากๆ ร่างกายจะต้องทำงานหนักขึ้น จึงจำเป็นต้องระบายความร้อนภายในร่างกายออกมาเป็นเหงื่อนั่นเอง

  • หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งนอกจากเหงื่อที่ออกมาในตอนกลางคืนแล้ว ก็ยังอาจมีอาการร้อนวูบวาบ และอารมณ์แปรปรวนร่วมด้วย โดยอาการนี้จะดีขึ้นเมื่อมีการปรับระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ
-->