พฤติกรรมใกล้ตัว ที่อาจเป็นสาเหตุของการปวดหัวเรื้อรัง

“ปวดหัวก็แค่เรื่องเล็ก” ไหนใครมีความคิดแบบนี้อยู่บ้างยอมรับมาซะดีๆ จริงอยู่ที่ว่าอาการปวดหัว อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าเทียบกับสารพัดโรคที่กำลังรุมเร้าเราอยู่ทุกวันนี้ แค่กินยาเม็ดเดียวก็หายแล้ว แต่จริงๆ แล้วอาการปวดหัวอาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด เพราะได้มีผลการวิจัยระดับชาติของประเทศเดนมาร์ก ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปี 2561 ได้ระบุว่าผู้ที่มีอาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการปวดหัวเรื้อรังนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดในสมองแตก 94% เสี่ยงเป็นโรคเส้นโลหิตสมองตีบสูงถึง 226% 


 
ฉะนั้นถ้าอาการปวดหัวที่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นแบบนานๆ ที แต่มาทักทายกันวันเว้นวัน เหมือนเป็นเพื่อนสนิทแบบนี้ ก็คงไม่น่าดีแล้วล่ะ อย่างนั้นคงต้องลองมาดูกันว่าพฤติกรรมเหล่านี้ มีข้อไหนที่ตรงกับคุณบ้าง เพราะนั่นอาจเป็นที่มาของการปวดหัวที่ไม่หายสักทีอยู่ก็ได้ 
 
ปวดหัวแบบไหนถึงจะเรียกว่าเรื้อรัง
ก่อนจะไปที่พฤติกรรมต้นเหตุ ต้องทำความเข้าใจอาการก่อนว่าแบบไหนถึงจะเรียกว่า “ปวดหัวเรื้อรัง” ซึ่งอาการปวดหัวเรื้อรังจะเป็นอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นมากกว่า 15 วันต่อเดือน โดยมักมีอาการปวดติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน และถึงจะกินยาจนอาการดีขึ้นแล้ว แต่อีกไม่นานก็กลับมาปวดใหม่
 
พฤติกรรมผิดๆ ที่ทำให้ปวดหัวไม่หายสักที
 
# กินยาแก้ปวดมากเกินไป
การกินยาแก้ปวดประเภท Acetaminophen หรือไทลินอล แอสไพริน และไอบูโพรเฟนเกิน 2 ครั้งต่ออาทิตย์ รวมทั้งยารักษาโรคไมเกรน หรือ Triptans เกิน 10 วันต่อเดือน อาจทำให้มีอาการปวดหัวบริเวณขมับ หรือปวดทั้งศีรษะหลังตื่นนอนได้ เพราะการกินยาแก้ปวดเป็นเวลานาน ร่างกายจะเกิดความเคยชิน ทำให้อาการปวดถูกฤทธิ์ยากดไว้ และเมื่อยาหมดฤทธิ์อาการปวดก็จะกลับมากำเริบอีก
 
# มีความเครียด
เมื่อเกิดความเครียด หรือกังวลกับเรื่องบางเรื่องมากเกินไป ทำให้เกิดการตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและใบหน้า ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุและกลไกของการเกิดที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากมีสิ่งเร้ากระตุ้นที่กล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณรอบกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทขึ้นตรงประสาทส่วนกลาง โดยถ้าเครียดมากๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการปวดหัวไมเกรนตามมา ทำให้รู้สึกปวดหัวข้างเดียว ปวดหนักๆ หรือมีอาหารปวดหัว 2 ข้าง แต่ปวดตุบๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และสำหรับคนที่เป็นมากอาจมีอาการเวียนหัวและอาเจียนร่วมด้วย
 
# อยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม
การนั่งหรือนอนที่ผิดท่า ก็อาจเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อรอบคอเกร็ง จนส่งผลกระทบกับสมองและนำไปสู่อาการปวดหัวได้เช่นกัน คุณอาจรู้สึกปวดหนักๆ ที่ขมับทั้ง 2 เหมือนถูกกดไว้อยู่ตลอดเวลา ระดับความรุนแรงอาจเป็นได้ตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง และมาก หรือบางคนอาจรู้สึกปวดที่ต้นคอ หลัง และไหล่ร่วมด้วย
 
# ติดกาแฟ
สายฮอปปิ้งต้องรีบเช็กตัวเองอย่างด่วยแล้วล่ะว่ามีอาการปวดหัวตื้อๆ เหมือนร่างกายพักผ่อนไม่พอบ้างไหม  หรือเวียนหัว ปวดกระบอกตาตุบๆ ร่วมด้วยหรือเปล่า ซึ่งถ้าใช่แปลว่าคุณโดนฤทธิ์คาเฟอีนเล่นงานเข้าให้แล้ว แต่ส่วนใครที่ยังไม่มีอาการก็ต้องระวังไว้บ้างนะ ขืนยังกินกาแฟวันละ 4 – 5 แก้วแบบนี้ อาการปวดหัวเรื้อรังอาจถามหาในไม่ช้า
 
# ไม่ดูแลสุขภาพในช่องปาก
การดูแลสุขภาพปากและฟันที่ไม่ดีพอนอกจากจะทำให้เกิดฟันผุ โรคเหงือก และโรคในช่องปากแล้ว ยังอาจเกิดความผิดปกติของข้อขมับและขากรรไกรล่างที่ทำให้การสบฟันผิดปกติ จนแทนที่กล้ามเนื้อที่ควรจะได้รับการพักผ่อนต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และเมื่อนานวันก็จะส่งสัญญาณความเมื่อยล้าออกมาในรูปแบบของอาการปวดหัว โดยจะมีอาการปวดหัวทั้ง 2 ข้าง หรือปวดข้างเดียว เหมือนมีอะไรมารัด ปวดรอบลูกตา ปวดร้าวตามแนวกรามและขากรรไกรร่วมด้วย
 
# กินของเย็นจัด
ปกติร่างกายของเราจะมีกลไกป้องกันสิ่งแปลกปลอมโดยอัตโนมัติ ให้ลองสังเกตเวลาที่ดื่มน้ำเย็นจัด หรือกินไอศกรีมในตอนที่ร่างกายมีอุณหภูมิอบอุ่น แล้วอยู่ๆ ก็เกิดอาการปวดจี๊ดที่ขมับขึ้นมา นั่นเพราะเส้นเลือดตรงเพดานปากได้แสดงปฏิกิริยา เพื่อป้องกันไม่ให้ความเย็นจัดนั้นกระทบไปถึงสมอง จึงทำให้เส้นเลือดที่ต่อตรงไปยังสมองมีการสูบฉีดเลือดอย่างเร็วจนเกิดอาการปวดหัวจี๊ดขึ้นมา
 
# ละเลยดวงตา
ดวงตาไม่ได้เป็นแค่หน้าต่างของหัวใจเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของอาการปวดหัวเรื้อรังที่บางคนเป็นอยู่ด้วยก็ได้ ซึ่งอาจเกิดจากการใช้อุปกรณ์ดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์นานเกินไป หรือบางคนอาจมีปัญหาสายตาโดยที่ไม่รู้ตัว จึงไม่ได้ใส่แว่นหรือคอนแทกเลนส์ที่ตรงกับค่าสายตา ทำให้สายตาทำงานหนักจากการต้องเพ่งมอง และส่งผลต่อไปเส้นประสาทที่สมองได้

รู้แบบนี้แล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดอาการปวดหัวเรื้อรัง จะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดหัวเรื้อรังเหมือนที่ผ่านมา หรือถ้าใครอยากจะเช็คให้เป็นเรื่องเป็นราว ไปตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลเลยก็เป็นทางเลือกที่ดี จะได้รู้ถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง
 
-->