รับมืออย่างไร…..เมื่อ ‘ไข้หวัดใหญ่’ กำลังระบาดหนัก

ช่วงนี้นอกจากมรสุมในช่วงหน้าฝนที่เราต้องเช็กดินฟ้าอากาศก่อนออกจากบ้านแล้ว ก็คงมีอีกหนึ่งความน่ากังวลใจอย่าง “ไข้หวัดใหญ่” ถือเป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดหนัก ข้อมูลโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สะสมกว่า 248,322 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 กันยายน 2566) โดยมีอัตราป่วยเฉลี่ย 375.50 ต่อประชากรแสนคน เห็นตัวเลขสูงแบบนี้ต้องหาวิธีการดูแลตัวเองและคนรอบข้างแล้วล่ะ



2023 จับตามอง! ไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
หลัง WHO ได้ออกมาประกาศข้อมูลเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อินฟลูเอนซา (Influenza, Flu) ในโซนประเทศที่มีการระบาดแบบ Southern Hemisphere ซึ่งสามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี พบว่ามี 4 สายพันธุ์ที่เราต้องจับตามอง ได้แก่ สายพันธุ์ AH1N1, AH3N2 และชนิด B คือ สายพันธุ์ Victoria, Yamagata

สถานการณ์ในประเทศไทยในช่วง 4 สัปดาห์ในรอบเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เฉพาะเดือนกันยายน สูงถึง 109,556 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่แล้วจำนวน 8 ราย ซึ่งสาเหตุที่สำคัญในการระบาดในครั้งนี้ก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งหมายความว่าคนไทยไม่ให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพราะวัคซีนถือเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมทั้งความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ก็จะน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยก็มีผลทำให้เราติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วย



ทำไม ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ ต้องฉีดเป็นประจำทุกปี!
สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นอกจากจะช่วยลดการติดเชื้อจากการระบาดได้แล้ว ยังสามารถลดความรุนแรงของอาการได้อีกด้วย โดยปกติไข้หวัดใหญ่มักจะแพร่เชื้อผ่านทาง น้ำมูก ไอ และจาม แค่เราเดินผ่านคนที่จาม เราก็เสี่ยงสูงแล้ว จะเห็นว่าการติดมันง่ายนิดเดียว ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น และยิ่งสภาพอากาศในช่วงหน้าฝน ก็ยิ่งทวีคูณการระบาดขึ้นไปอีก แม้ว่าประเทศไทยจะจัดลำดับอยู่ในแทบประเทศที่ติดเชื้อได้ตลอดทั้งปี การเฝ้าระวังจึงไม่ได้มีขอบเขตเพียงแค่ฤดูฝนเพียงเท่านั้น แต่ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่เราจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าฤดูอื่นๆ อีกหนึ่งข้อสำคัญหนึ่งที่ว่าทำไมเราต้องฉีดเป็นประจำทุกปี นั่นก็เพราะในทุกๆ ปี องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จะต้องเลือกเชื้อไวรัสตัวสำคัญที่คาดว่าจะมีการระบาดมาก มาพัฒนาเป็นวัคซีนใหม่ๆ และประกาศให้ใช้ในแต่ละแถบซีกโลกได้ใช้กัน ซึ่งในแต่ละปี เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ก็จะมีความแตกต่างกันออกไปนั่นเอง

เมื่อ ‘ไข้หวัดใหญ่’ ไม่ใช่แค่ไข้หวัดธรรมดา
หลายคนชอบปล่อยปละละเลย เพราะคิดว่าไข้หวัดใหญ่มันก็แค่ไข้หวัดธรรมดา ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่แล้วล่ะ เพราะมันน่ากลัวกว่านั้นเยอะ ยิ่งกลุ่มคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน มีภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย หรือมีโรคประจำตัว ยิ่งต้องระวัง ดังนั้นเราขอสรุป 5 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ให้มากกว่ากลุ่มคนอื่นๆ เพราะกลุ่มเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วๆ ไป
 
  • กลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-4 ปี จากสถิติการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ปี 2566 ก็จะพบว่า กลุ่มเด็กน้อยมีความเสี่ยงสูง สำหรับกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะมีภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากอาการได้ ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด และควรฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี
  • กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้ก็ถือเป็นอีกกลุ่มเปราะบางที่ต้องระมัดระวังให้มาก เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากแล้ว เสี่ยงติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย แถมยังเสี่ยงที่จะมีอาการที่รุนแรงขึ้นอีกด้วย
  • สตรีมีครรภ์ คุณแม่ที่อุ้มท้องอาจจะมีความเสี่ยงไม่แพ้กับกลุ่มอื่นๆ เพราะอยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ และอาจมีความเสี่ยงกับลูกในครรภ์อีกด้วย
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่เสี่ยงสูงเลยทีเดียว เพราะเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ยิ่งไม่มีเกราะป้องกันเชื้อโรคก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อและทำให้อวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือกลุ่มโรคติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต และโรคเบาหวาน  กลุ่มนี้ถือเป็นหนึ่งกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย

สิ่งสำคัญในการป้องกันและรอดพ้นจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ คือการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี วัคซีนสามารถฉีดได้ทุกช่วงวัย ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
-->