รีบแก้ก่อนพัง! อย่าปล่อยให้ปัญหา ‘ผมมัน’ กลายเป็นปัญหา ‘ผมร่วง’

นอกจากปัญหาผมมันจะบั่นทอนความมั่นใจแล้ว ยิ่ง #เป็นท้อ เข้าไปอีกพอได้ยินว่าคนที่ผมมันมีโอกาสจะมีปัญหาผมร่วงตามมาติดๆ งั้นไปดูกันว่าปัญหาผมมันเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง และจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร เผื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาผมร่วงตามมา



ปัญหาผมมัน เกิดจาก … 
จริงๆ แล้วปัญหาผมมันมีทั้งเกิดจากพันธุกรรมและพฤติกรรม ยีนที่ถูกส่งต่อทางพันธุกรรมอาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมผลิตน้ำมัน ทำให้น้ำมันถูกผลิตออกมามากกว่าปกติ นั่นแปลว่าถ้าในครอบครัวมีปัญหาเรื่องผมมันเราก็มีโอกาสที่จะเจอปัญหานี้ได้เหมือนกัน ส่วนสาเหตุที่เกิดจากพฤติกรรม การสระผมบ่อยเกินไปก็ทำให้ผมมันได้ เพราะบนหนังศีรษะมีต่อมไขมันที่ผลิตน้ำมัน “ซีบัม” โดยซีบัมจะทำหน้าที่เคลือบเส้นผมเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผมและหนังศีรษะ ซึ่งเมื่อไหร่ที่ไขมันถูกผลิตออกมามากเกินไปก็จะส่งผลให้ผมและหนังศีรษะมัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปสระผมเลย เพราะนั่นก็จะทำให้หนังศีรษะและเส้นผมกลายเป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรก มลภาวะต่างๆ ที่เป็นตัวการที่ทำให้เราผมมันได้ง่ายขึ้นไปอีก

ฮอร์โมน vs ปัญหาผมมัน
ฮอร์โมนในร่างกายก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผมของเราเกิดความมัน เมื่อเราเกิดความเครียด ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะถูกหลั่งออกมา ซึ่งเป็นตัวการไปกระตุ้นต่อมไขมันบริเวณหนังศีรษะให้ผลิตน้ำมันออกมา หรือในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เอง ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นตัวกระตุ้นต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกตินั่นเอง

ฝุ่น PM 2.5 vs ปัญหาผมมัน
นอกจากนี้ ยังมี PM 2.5 ที่แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ระบบทางเดินหายใจ แต่ยังส่งผลกับเส้นผมทำให้หนังศีรษะแพ้ง่าย ผมอ่อนแอ ไปจนถึงผมร่วง อีกทั้งสภาพอากาศที่ร้อนชื้นในบ้านเรา ร่างกายจะขับของเสียออกมาเป็นเหงื่อและไขมันผ่านหนังศีรษะ ส่งผลให้ผมมันและลีบแบนได้ง่าย ซึ่งในการนำเสนองานวิจัยที่กรุงมาดริด  EADV Congress ได้มีการทดสอบโดยการนำเซลล์จากรูขุมขนบนหนังศีรษะที่ต้องเจอกับฝุ่นละอองจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมไปวิจัย พบว่าฝุ่นขนาดเล็กมีความเชื่อมโยงกับปัญหาผมร่วง และไปรบกวนการทำงานของโปรตีนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม

ไม่อยาก ‘ผมร่วง’ ต้องเริ่มหยุดที่ ‘ผมมัน’ 
ใครที่กำลังงงว่าแล้วผมมันมันเกี่ยวกับผมร่วงได้ยังไง ทางคลินิกรักษาผมบาง Thai Hair Center ได้อธิบายถึงกลไกความเกี่ยวข้องกันของผมมันและผมร่วงไว้ว่า ‘การที่มีไขมันบริเวณหนังศีรษะมากเกินไป จะทำให้เกิดการสะสมของไขมัน ซึ่งอาจไปอุดตันบริเวณรอบๆ รากผม ทำให้การไหลเวียนเลือด สารอาหารต่างๆ รวมไปถึงออกซิเจนทำได้ไม่ดี นอกจากนี้การที่มีไขมันบริเวณหนังศีรษะมากๆ อาจทำให้เชื้อโรคบนหนังศีรษะได้มากขึ้น (over-developed scalp microbial flora) ทำให้การทำงานของรากผมผิดปกติ เกิดเป็นอาการผมร่วง และผมขึ้นใหม่ได้น้อยลง ทำให้ผมบางลงเรื่อยๆ จนเกิดศีรษะล้านตามมาได้’ รู้แบบนี้แล้วต้องแก้ไขให้ตรงจุด คือหยุดที่ผมมันกันก่อนเลย



แก้ปัญหา ‘ผมมันเยิ้ม’ เติมความมั่น แบบไม่ต้องเกรงใจใคร
งั้นมาดูกันว่า แล้วถ้าไม่อยากต้องเผชิญกับปัญหาผมมันเยิ้ม เราจะเริ่มแก้จากตรงไหนดี วันนี้ Health Addict ได้รวบรวมวิธีง่ายๆ มาให้ลองทำกันดู
 
  • เลิกเกาหนังศีรษะแรงๆ หลายคนมักติดพฤติกรรมการเกาหนังศีรษะเมื่อรู้สึกคันหรือขณะที่สระผม แต่รู้มั้ยว่าการใช้เล็บเกาหนังศีรษะแรงๆ จะไปกระตุ้นต่อมผลิตน้ำมันบนหนังศีรษะ ทำให้ผมมัน เราขอแนะนำว่าให้คุณใช้เพียงปลายนิ้วนวดอย่างเบาๆ นอกจากเป็นวิธีการทำความสะอาดที่ถูกต้องแล้วยังสามารถช่วยให้คุณผ่อนคลายได้ดีอีกด้วย
  • ใส่ใจกับการอ่านส่วนผสมของแชมพู เพราะโดยทั่วไปแล้ว แชมพูสระผมอาจจะมีส่วนผสมต้องห้าม (สำหรับคนมีปัญหาผมมัน) นั่นก็คือ #SLS (Sodium Lauryl Sulfate) หรือสารที่ทำให้เกิดฟอง หากตกค้าง ล้างออกไม่หมด จะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองต่อหนังศีรษะ ตามมาด้วย #Parabens หรือสารกันบูดที่อยู่ในยาสระผม ซึ่งเมื่อร่างกายดูดซึมก็จะไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในเพศชาย “เทสโทสเตอโรน” และฮอร์โมนในเพศหญิง “เอสโตรเจน” ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันออกมา และสารตัวสุดท้ายคือ #Silicone หากเราใช้แชมพูที่มีซิลิโคนเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมบนหนังศีรษะ ทำให้ผมลีบแบน มันเยิ้ม และทำให้ความสามารถในการขับของเสียลดลง 
  • ล้างผมให้ถูกทิศ (ทาง) ไม่ใช่จะชวนไปมูฯ แต่เป็นวิธีการล้างที่ถูกต้อง ซึ่งควรจะเริ่มจากการก้มหัวลงและล้างบริเวณท้ายทอยหรือต้นคอ เนื่องจากเป็นจุดที่มีโอกาสหลงเหลือของแชมพูมากที่สุด จากนั้นล้างศีรษะให้ทั่ว โดยก้มหัวลงและใช้นิ้วถูย้อนกับแนวเส้นผมของเรา และควรใช้น้ำเย็นล้างเนื่องจากน้ำอุ่นอาจทำให้หนังศีรษะแห้ง ทำให้ต่อมไขมันก็จะผลิตน้ำมันเพื่อทดแทนความชุ่มชื้นที่เสียไป 

เห็นมั้ย ? การดูแลสุขภาพผมและหนังศีรษะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่เราทำจนติดเป็นนิสัย เลือกใช้แชมพูที่เหมาะสมกับผมมัน หลีกเลี่ยงแชมพูที่มีส่วนผสมของสารเคมี รวมไปถึงสิ่งสำคัญคือการล้างผมและหนังศีรษะให้สะอาดทุกครั้งหลังจากสระผม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านสารเคมีตกค้าง และต้องไม่ลืมหมั่นทำความสะอาดหวี เปลี่ยนปลอกหมอน เพื่อสุขอนามัยและสุขภาพหนังศีรษะที่ดีของตัวคุณเอง
-->