รู้มั้ย? อายุน้อย ก็เสี่ยง 'กระดูกพรุน' ได้นะแม๊

ยอมรับ (ก็ได้) ว่ากระดูกลั่นแล้วหนึ่ง ถึงจะนั่งนับนิ้วคิดแบบไม่เข้าข้างตัวเองว่ายังไม่ถึงวัย แต่เสียงกร๊อบแกร๊บๆ ที่เล่นดังทุกครั้งที่ขยับ ก็ทำให้ต้องทำใจรับแบบไม่ต้องสงสัย ซึ่งอาการของโรคกระดูกพรุนนี้ อย่าคิดว่ามีแต่ สว. (สูงวัย) เท่านั้นนะที่เป็นได้ เพราะที่จริงแล้วหนุ่มๆ สาวๆ ก็มีความเสี่ยงกับเขาเหมือนกัน ยิ่งได้เห็นรายงานของ International Osteoporosis Foundation ที่บอกว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนราว 200 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าตัวเลขนี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนเรามีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ซ้ำยิ่งไปกว่านั้นภายในปี ค.ศ. 2050 จำนวนผู้เจ็บป่วยจากอาการกระดูกสะโพกร้าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเกือบ 2 เท่า คิดเป็นจำนวนกว่า 6 ล้านคน โดยเฉพาะในเอเชีย ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 45% แบบนี้คงต้องเตรียมตัวรับมือแต่เนิ่นๆ แล้วล่ะ...แม๊!



“กระดูกพรุน” โรคที่คุณ...หรือใครก็เป็นได้
“กระดูกพรุน” เป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของการปรับแต่งกระดูก หรือการผลัดเปลี่ยนของเนื้อกระดูก ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ คือโดยปกติแล้วร่างกายจะมีการซ่อมสร้างสภาพกระดูกเพื่อเสริมความแข็งแรง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการสลายของเนื้อกระดูกมากกว่าการสร้างทดแทน ก็จะทำให้กระดูกผุกร่อนไปเรื่อยๆ จนสูญเสียความแข็งแรง ทำให้ไม่สามารถรองรับแรงกระแทกหรือแรงจากภายนอกได้เหมือนเคย จนเป็นเหตุให้เกิดกระดูกหักทรุดได้ในที่สุด ซึ่งอาการของโรคกระดูกพรุนจะสังเกตได้จากส่วนสูงที่ลดลง มีหลังค่อมมากขึ้น หรือในบางรายอาจร้ายแรงถึงขั้นเกิดการหักที่กระดูกสะโพกหรือกระดูกสันหลัง จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของตัวเองและคนรอบข้างได้เลยเหมือนกัน

กระดูกพรุนรุนแรงได้ ถ้าถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง
โรคกระดูกพรุนที่เกิดขึ้นกับคนสูงวัย มักจะมีกล้ามเนื้อสะโพกอ่อนแรงร่วมด้วย เพราะเป็นผลมาจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ทำให้โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ เกิดกระดูกงอกและพังผืดไปเบียดทับเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อสะโพกและกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง เพิ่มความเสี่ยงเกิดการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม จนเป็นเหตุให้กระดูกหักตามมา ในขณะที่คนหนุ่มสาว ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ถ้ามีพฤติกรรมทำลายกระดูกต่อเนื่อง ดังนี้  
  • ขาดการออกกำลังกาย 
  • น้ำหนักตัวน้อยมาก เนื่องจากขาดอาหาร โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี 
  • ดื่มกาแฟมากกว่า 3 แก้วต่อวัน 
  • สูบบุหรี่ 
  • ไม่โดนแดด ทำให้ขาดวิตามิน D
  • ใช้ยาสเตียรอยด์สม่ำเสมอ 
  • เป็นโรคต่างๆ เช่น โรคตับเรื้อรัง โรคไตวาย โรครูมาตอยด์ หรือโรคมะเร็งกระดูก
  • ใช้ยาละลายลิ่มเลือด 
  • ขาดความระมัดระวัง จนทำให้ลื่นหกล้มอยู่บ่อยๆ

อย่าปล่อยให้กระดูกพรุนทำร้ายคุณ...ก่อนวัย
เพราะความคิดเข้าใจผิดคิด (ไปเอง) ว่าโรคกระดูกพรุนจะเกิดขึ้นเมื่อสูงอายุเท่านั้น จนทำให้ละเลยที่จะดูแล  กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่กระดูกลั่นนั่นล่ะ ดังนั้นวิธีป้องกันไม่ให้โรคกระดูกพรุนถามหา ก็คือการดูแลรักษากระดูกตามช่วงอายุ ได้แก่
  • วัยเด็ก นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม คือตัวช่วยสำคัญที่ขาดไม่ได้ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทก เช่น วิ่ง กระโดดเชือก กระโดดตบ บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ฟุตบอล ซึ่งเด็กผู้หญิงอาจจะเลี่ยงไปเล่นกีฬาที่ไม่มีการปะทะโดยตรงแทนก็ได้
  • วัยผู้ใหญ่ วัยนี้ควรกระตุ้นให้มีการออกกำลังกายแบบมีการกระแทกน้ำหนัก เช่น วิ่ง กระโดดเชือก ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออย่างต่อเนื่อง
  • วัยสูงอายุ การออกกำลังกายยังคงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ควรเปลี่ยนจากการออกกำลังกายแบบมีแรงกระแทก ซึ่งอาจส่งผลต่อข้อเข่า มาเป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกเบาๆ แทน ร่วมด้วยการออกกำลังกายที่เน้นการทรงตัวอย่างมวยจีน เพื่อฝึกกล้ามเนื้อสะโพก แต่ควรต้องมีที่สำหรับยึดเกาะเพื่อป้องกันการล้ม เพราะไม่อย่างนั้นแทนที่จะเสริมสร้างความแข็งแรง กลับทำให้กระดูกยิ่งพัง แล้วจะไปกันใหญ่
อย่างที่บอกว่าโรคกระดูกพรุนไม่ได้เป็นแค่โรคของผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะอายุน้อยๆ ก็เป็นได้ ถ้าดูแลไม่ดี เพราะฉะนั้นใครที่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้กระดูกของเรากำลังสุ่มเสี่ยงที่จะพรุนหรือยังแข็งแรงดี การไปตรวจคัดกรองภาวะกระดูกพรุนก็จะช่วยให้เรารู้เท่าทันความเสี่ยง
สนใจแพกเกจ ตรวจคัดกรองภาวะกระดูกพรุน คลิก!
-->