รู้มั้ย? อายุน้อย ก็เสี่ยง Stroke ได้เหมือนกัน

“Stroke โรคที่มักเกิดขึ้นกับคนสูงวัย” ก็ใช่ไม่เถียง แต่เคยรู้ไหมว่าคนอายุน้อย...อย่างเรา (เหรอ) ก็เสี่ยงได้เหมือนกัน ยิ่งเป็นพวกมนุษย์บ้างานทั้งหลาย ยิ่งต้องระวังไว้ให้ดีเลย เพราะได้มีงานวิจัยจากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยอองเชร์ ในประเทศฝรั่งเศสร่วมกับสถาบันวิจัยสุขภาพและการแพทย์แห่งชาติฝรั่งเศสพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การทำงานยาวนานเกิน 10 ชม. อย่างน้อย 50 วันต่อปี อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้ เพราะฉะนั้นหนุ่มสาวทั้งหลายอย่าได้ประมาทเลยเชียว



Stroke โรคร้ายที่อยู่ใกล้ตัว
Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมองนับว่าเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อย และเป็นปัญหาที่สำคัญของทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย โดยมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก แต่ขณะเดียวกันวัยรุ่น หรือวัยทำงานที่ลืมใส่ใจดูแลสุขภาพ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้โรคหลอดเลือดสมองถามหาได้ เพราะถ้าดูจากสถิติจะพบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 5 ของประชากรช่วงอายุ 15 - 59 ปี ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอายุน้อยมากกว่า 2.4 แสนคน และมีผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคประมาณ 10 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน

Stroke โรคที่เกิดได้กับ (ทุก) วัย...รุ่น
แม้ว่า Stroke จะเป็นโรคที่พบได้มากในกลุ่มผู้สูงวัย แต่ก็อย่าได้ประมาทไปนะวัยรุ่น เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคหลอดเลือดสมอง เกิดขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยนั้น อาจไม่ได้มาจากอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือพันธุกรรม แต่กลับเป็นโรคหลอดเลือดสมองแบบที่ไม่รู้สาเหตุ โดยพบได้เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อย ส่วนที่รองลงมาคือ หลอดเลือดสมองตีบ และ ภาวะลิ่มเลือดหัวใจไหลไปอุดตันหลอดเลือดสมองตามลำดับ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดก็คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และภาวะไขมันในเลือดสูง โดยมี 5 สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรปล่อยผ่าน ได้แก่
  • ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน
  • เกิดความรู้สึกชาครึ่งซีก หน้าชา ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง
  • พูดลำบาก ฟังไม่เข้าใจ
  • เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ
  • ปวดศีรษะรุนแรง

โรคหลอดเลือดสมอง...ต้องป้องกัน
ต่อให้การฟื้นฟูร่างกายในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยจะทำได้ดีกว่าผู้สูงวัย แต่ในเรื่องของจิตใจกลับเป็นไปตรงกันข้าม ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นทางที่และง่ายกว่า ด้วยการ...
ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ถ้ามีความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ
  • งดสูบบุหรี่ เพราะมีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงแข็ง และตีบง่ายขึ้น
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน  วันละ 30 นาที
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม อาหารที่มีไขมัน หรือมีคอเลสเตอรอล
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ผ่อนคลายจิตใจ ไม่เครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ควรตรวจสุขภาพร่างกายจากแพทย์เป็นประจำทุกปี ยิ่งหากว่ามีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจ ภาวะไขมันในเลือดสูง ควรทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่จำเป็นต้องกินยาป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งสำคัญที่สุดคือ ​​เราสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิม
-->