สงสัยมั้ย? ทำไมคนเราต้องขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน

นอกจากการตรวจสุขภาพแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เราถูกสอนให้ทำกันทุกๆ ปี อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งตั้งแต่เด็กยันโตก็คือการหาหมอฟันเพื่อขูดหินปูน แต่เคยมีใครสงสัยมั้ยว่า ทำไมคนเราต้องขูดหินปูนด้วย มันดียังไง และถ้าไม่ขูดมันจะส่งผลเสียอะไรต่อร่างกายหรือเปล่า ถ้าพร้อมแล้ว...มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน



คราบหินปูน = หินน้ำลาย
ทพญ.นุชนาถ โอปิลันธน์ งานทันตกรรม คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงคราบหินปูนไว้ว่า คราบหินปูนนั้นเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า ‘หินน้ำลาย’ ซึ่งเกิดจากคราบจุลินทรีย์หรือขี้ฟันที่เรากินอาหารสะสมมาและเมื่อจับเข้ากับเชื้อโรคก็จะตกตะกอนกลายเป็นของแข็งเกาะอยู่บนผิวฟัน ซอกเหงือก และขอบฟัน ซึ่งจุลินทรีย์ในระยะเริ่มต้นที่เกาะอยู่บนผิวฟันนั้นจะยังนิ่มและสามารถแปรงออกได้ แต่เมื่อไหร่ที่มีแร่ธาตุจากน้ำลายมาผสมด้วยก็จะกลายเป็นคราบหินปูนที่มีลักษณะเป็นของแข็งที่ไม่สามารถแปรงออกเองได้ จึงจำเป็นต้องให้ทันตแพทย์เป็นคนขูดคราบหินปูนนั้นออกไป

ถ้าปล่อยทิ้งไว้...จะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อคราบหินปูนถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน จุลินทรีย์เหล่านั้นก็อาจปล่อยสารที่เป็นกรดออกมาทำให้เกิดเหงือกอักเสบ และเมื่อปล่อยออกมานานๆ กระดูกที่รองรับรากฟันจะค่อยๆ ละลาย ทำให้ฟันโยกไม่แข็งแรง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้อีก เช่น มีกลิ่นปาก เหงือกร่น ฟันผุ ฟันโยก มีเลือดออกขณะแปรงฟัน หรือฟันเหลืองซึ่งทำให้สูญเสียความมั่นใจในการจะพูดหรือยิ้มไปอีก

การขูดหินปูน...ไม่ใช่การทำลายเนื้อฟัน
อีกเหตุผลหนึ่งที่หลายคนมักจะไม่ยอมขูดหินปูนเพราะคิดไปเองว่า ยิ่งขูดบ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำลายเนื้อฟันเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วเวลาที่ทันตแพทย์ทำการขูดหินปูน จะใช้เครื่องมือแพทย์ในการช่วยกระเทาะเอาตัวหินปูนออกจากผิวฟัน ซึ่งวิธีการนี้จะไม่ได้ขูดลงไปที่ผิวฟันโดยตรงอย่างที่หลายคนเข้าใจ ส่วนเรื่องของความรู้สึกเสียว คุณหมอบอกว่าอาจจะมีบ้างเล็กน้อย หรือในบางเคสที่เสียวมาก คุณหมออาจใช้ยาชาช่วย ส่วนคนที่บอกว่าทำไมรู้สึกว่าการขูดหินปูนทำให้ฟันห่าง ความจริงแล้วคือฟันที่ห่างนั้นเกิดจากการสะสมของหินปูนตามซอกเหงือกทำให้เกิดการอักเสบ เกิดการร่นของเหงือก ทำให้เมื่อขูดหินปูนออก จึงเห็นเป็นฟันห่าง ไม่ได้เกี่ยวกับการขูดหินปูนแต่อย่างใด

ดูแลอย่างไร...ให้ห่างไกลหินปูน
แน่นอนว่าการป้องกันย่อมดีกว่าต้องมานั่งแก้ไขทีหลัง วันนี้เราเลยจะมาแนะนำวิธีที่จะดูแลรักษาฟันให้ห่างไกลจากคราบหินปูนนั่นก็คือ การแปรงฟันให้ถูกวิธี คือแปรงอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน เช้า-เย็น หรือถ้าใครสามารถแปรงฟันได้ทุกครั้งหลังมื้ออาหารก็ยิ่งดี และควรใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ร่วมด้วย เพื่อปกป้องฟัน รวมถึงการหลีกเลี่ยงของหวานระหว่างมื้อ และอย่าลืมหมั่นไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน

ใครบ้างที่ควรระวัง เรื่องการขูดหินปูน เป็นพิเศษ
แม้ว่าการขูดหินปูนเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ทันตแพทย์ไม่แนะนำให้ขูดหินปูนเนื่องจากมีข้อจำกัดบางอย่าง หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง อย่างโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตวาย ลูคิเมีย โรคตับและโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด รวมไปถึงผู้ป่วยที่อาจจะมีอาการเกิดขึ้นระหว่างการขูดหินปูนได้ เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่อาจมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย หอบหืด เนื่องจากคลื่นความถี่ของเครื่องมือแพทย์ อาจไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานผิดปกติได้ หรือใครที่เป็นโรคปริทันต์ก็ควรที่จะทำการรักษาโรคเหงือกและเกลารากฟันก่อน จึงค่อยเข้าสู่กระบวนการขูดหินปูน สำหรับเคสของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องการขูดหินปูนนั้น ก็แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ 

สำหรับใครที่เคยคิดว่าการขูดหินปูนเป็นเรื่องไม่สำคัญ งานนี้คงต้องคิดใหม่แล้วล่ะ เพราะนอกจากเรื่องของความมั่นใจแล้ว เรื่องของสุขภาพอนามัยก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลย อย่าปล่อยให้เรื่องเล็กๆ ต้องกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรง

 
-->