สะดุ้งตื่นกลางดึกแขนขาขยับไม่ได้..หรือว่านี่เราถูกผีอำ

หลายๆ คนคงพอจะเคยได้ยินเรื่องราวของการนอนแล้วถูกผีอำ หรือบางคนอาจจะเคยประสบมาด้วยตัวเองแล้วกับสถานการณ์นี้ โดยคร่าวๆ แล้วนั้นการถูกผีอำที่เราเข้าใจกัน คือการที่เราสะดุ้งตื่นขึ้น แต่ระหว่างการตื่นนั้นกลับไม่สามารถควบคุมให้ร่างกายขยับไปมาได้ดั่งใจปรารถนา เลยเป็นที่มาของการเริ่มจินตนาการไปต่างๆ ว่า เรากำลังถูกตรึงด้วยสิ่งเร้นลับหรือไสยเวทย์อยู่


 
วันนี้ Health Addict จะมาพูดถึงเรื่องการถูกผีอำในเชิงวิทยาศาสตร์ให้ได้รู้ว่า นอกเหนือจากความเชื่อในมุมลี้ลับนั้น ในโลกของการแพทย์ เค้าให้คำนิยามและพูดถึงที่ไปที่มาของภาวะนี้ไว้อย่างไรบ้าง
 
ก่อนจะไปรู้เรื่องผีอำ...ต้องเริ่มจากเรื่องการนอนก่อน
ข้อมูลจากนายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ ผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลสมิติเวชธนบุรี อธิบายว่า การนอนของมนุษย์เรามี 3 ระยะ คือระยะหลับตื้น ระยะหลับลึก และระยะหลับฝัน โดยทั้ง 3 ระยะนั้น จะประกอบกันเป็นการนอนหลับ 1 วงจร ซึ่งคนทั่วไปจะมีประมาณ 4-6 วงจรในแต่ละคืน
 
ในขณะที่เรานอนหลับ แน่นอนว่าร่างกายของเราจะเข้าสู่โหมดของการพักผ่อน ทำให้มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทั้งร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อแขนขา แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ระยะหลับฝันจะเป็นระยะที่สมองสั่งการให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อมากที่สุด จนแทบจะเรียกได้ว่าคล้ายการเป็นอัมพาตเลย โดยที่ยังมีทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอยู่เท่านั้น
 
กิจกรรมระหว่างวันที่เราทำ อาหารหรือยาที่รับประทาน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับทั้งนั้น ยกตัวอย่าง เมื่อเราดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนมากเกินไปในวันที่เราทำงาน รับรองได้ว่าคุณภาพการนอนจะลดลงแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการนอนไม่หลับ หรือหัวใจเต้นแรงเกินไป หรือแม้แต่การพะวง ตระหนก หรือหวาดกลัวกับอะไรสักเรื่องก่อนนอน ก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง เลยไม่แปลกเลยที่คนส่วนใหญ่ เมื่ออยู่ในช่วงที่มีปัญหาต่างๆ รุมเร้า มักจะเกิดการนอนฝันร้าย หรือรู้สึกว่านอนหลับไม่ลึก
 
ผีอำนั้น...ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นในช่วงไหนของการนอน
จากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าการนอนของเรามี 3 ระยะ ทุกคนลองเดาสิว่ า ถ้าให้เลือก 1 ช่วง จาก 3 การถูกผีอำน่าจะเกิดขึ้นในช่วงไหน ใครที่ทายว่าการถูกผีอำนั้นน่าจะเกิดขึ้นในช่วงหลับตื้นหรือไม่ก็หลับลึก ขอบอกเลยว่าคำตอบของคุณเป็นคำตอบที่ผิด เพราะที่จริงแล้ว คนส่วนใหญ่ที่บอกว่าตัวเองถูกผีอำ มักจะเกิดขึ้นในช่วงการหลับฝัน 
 
เพราะอะไรเมื่อตื่นขึ้นแล้ว...แต่ร่างกายเราขยับไม่ได้
ถ้าให้พูดถึงการค้นคว้าระดับนานาชาติ อาการผีอำไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนทุกประเทศ จากการศึกษาพบว่า ประชากรประมาณครึ่งหนึ่งทั่วโลก จะเคยประสบกับอาการผีอำสักครั้งหนึ่งในชีวิต ในทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า Sleep Paralysis โดยศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้คำนิยามว่า “ภาวะนี้เป็นภาวะที่ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่น เป็นอาการที่น่าตกใจแต่ไม่อันตราย” ประกอบกับข้อมูลที่เราได้รับจากนายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ ที่ได้อธิบายว่า อาการผีอำ คือ การเหลื่อมกันของระยะตื่นและระยะการนอนหลับฝัน
 
ระหว่างที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อในร่างกายของเราจะอ่อนแรงลงเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อร่างกายเข้าสู่ระยะความฝัน กล้ามเนื้อจะอ่อนแรงและคลายตัวมากที่สุด คล้ายการเป็นอัมพาต เพื่อป้องกันการเตะต่อยหรือออกท่าทางตามความฝัน แต่เมื่อจู่ๆ ร่างกายเรามีสิ่งรบกวนจนทำให้สะดุ้งตื่นในช่วงที่เราหลับฝัน หรือ ระยะหลับฝันที่เกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วทั้งที่ร่างกายกำลังจะเริ่มเคลิ้มหลับ จะทำให้เกิดการเหลื่อมกันของระยะการนอนหลับฝันและระยะตื่นได้ ซึ่งขณะนั้นสมองเราตื่นรู้ตัว แต่ร่างกายส่วนอื่นๆยังคงทำงานเสมือนการนอนหลับฝัน เป็นผลให้เราได้ยินและมองเห็น แต่ไม่สามารถขยับแขนขาได้ โดยอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไป เมื่อกล้ามเนื้อต่างๆ กลับมาทำงานเป็นปกติอีกครั้ง 
 
ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของภาวะนี้ ขึ้นอยู่กับบุคคล ซึ่งบางคนอาจจะมีเพียงแค่อาการแขนขาอ่อนแรง แต่สำหรับบางคนก็จะมีการเห็นภาพหลอน และฝันร้ายร่วมด้วย ในกลุ่มคนที่มีภาพหลอน อาการเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น หรือภาวะที่ร่างกายจะเข้าสู่โหมดฝัน แต่ดันสะดุ้งตื่นขึ้นมาก่อนในช่วงหลับลึกแบบงัวเงีย
 
อาการผีอำเกิดได้จากอะไรได้บ้าง
อาการผีอำ พบได้บ่อยในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การอดนอน การปรับเปลี่ยนเวลานอนบ่อยๆ รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ การรับประทานยานอนหลับ หรือยาคลายกังวลบางชนิด
 
สำหรับใครที่มีภาวะ Sleep Paralysis หรือผีอำบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพราะอาการผีอำอาจเป็นอาการที่พบได้ในโรคอื่นๆ เช่น โรคลมหลับ (Narcolepsy) ข้อมูลจาก Rama Channel อธิบายว่า โรคลมหลับ คือโรคที่แสดงอาการผ่านการหลับแบบเฉียบพลัน โดยคนที่เป็นโรคนี้จะสามารถตกอยู่ในภวังค์การนอนหลับได้ทุกเวลา แม้ว่าจะกำลังยืนหรือลืมตาอยู่ และอาการนี้จะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าใดๆ เลย โดยโรคนี้ มีสาเหตุได้หลายปัจจัยเช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การติดเชื้อบางชนิดในร่างกาย โรคหลอดเลือดในสมอง และการส่งต่อผ่านระบบพันธุกรรม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้น เพื่อการตรวจหาสาเหตุอย่างแม่นยำ ก็ต้องเข้ารับการทดสอบ Sleep test ตามโรงพยาบาลชั้นนำทั่วไป
 
นอนหลับแล้วโดนผีอำ...รักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรม
อาการผีอำเป็นอาการที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป แต่อาจทำให้เกิดความตกใจและตื่นกลัวได้ สามารถรักษาได้เบื้องต้นด้วยตนเอง โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ ได้แก่ การรักษาสุขอนามัยการนอนหลับ การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ หลีกเลี่ยงการอดนอน ไม่รับประทานชา กาแฟ มากจนเกินไป หลีกเลี่ยงการรับประทานยานอนหลับ ยาคลายเครียด หรือยาคลายกังวลหากไม่จำเป็น
 
เป็นยังไงบ้างกับข้อมูลอีกมุมหนึ่ง กับการอธิบายอย่างละเอียดของอาการผีอำ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ใครที่ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็อาจจะไม่เข้าใจ หรือใครบางคนที่มีประสบการณ์เหนือการพิสูจน์ นอกจากจะสวดมนต์แผ่เมตตาก่อนนอน หรือการหาสิ่งศักดิสิทธิ์ต่างๆ มาอยู่ใกล้ตัวเพื่อความอุ่นใจแล้ว ลองเข้าไปตรวจและรับการรักษาเฉพาะทาง ก็อาจจะเป็นการเพิ่มและแก้ไขปัญหาการถูกรบกวนระหว่างการนอนได้แบบดับเบิล เพราะบางครั้งอาการดังกล่าวอาจมีรอยโรคอื่นๆ แอบแฝงอยู่ได้เช่นกัน
-->